×

ปตท. พุ่งเป้า 3 เทคโนโลยีสำคัญ ‘Biotech – AI – Semiconductor’ สร้างฐานให้ธุรกิจแห่งอนาคต

01.04.2024
  • LOADING...
ปตท. พุ่งเป้า ไบโอเทค AI และ เซมิคอนดักเตอร์

ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ปตท. (PTT) ได้นำคณะผู้สื่อข่าวร่วมเดินทางไปศึกษาธุรกิจใหม่ที่สำคัญ 2 ส่วนที่บริษัทกำลังมุ่งพัฒนา คือ ไบโอเทคโนโลยี และไฮโดรเจน ซึ่ง THE STANDARD WEALTH ได้มีโอกาสร่วมทริปไปด้วย

 

ระหว่างการเดินทางผ่านไฮเวย์ที่ชาวเยอรมันเรียกว่า Autobahn ถนนที่ได้ชื่อว่าแข็งแรงขนาดที่เครื่องบินสามารถใช้ลงจอดเป็นรันเวย์ฉุกเฉินได้ ผมมีโอกาสได้ซักถาม ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานของ ปตท. เกี่ยวกับความคืบหน้าของธุรกิจใหม่และการมุ่งสร้าง New S-Curve ทั้งของบริษัทและของประเทศไทย

 

การจะสร้างธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้นได้ ดร.บุรณิน มองว่า “เราต้องการสร้าง Ecosystem ถ้าจะสร้าง New S-Curve ให้เกิดขึ้นจริงได้ เราต้องยกระดับทั้งอุตสาหกรรม” 

 

ความเร็วในการพัฒนา Ecosystem ของอุตสาหกรรมใหม่ๆ ของไทยควรจะทำให้เร็วกว่า 20 ปี จริงๆ ควรจะทำให้สำเร็จภายใน 10 ปี เพราะเราสามารถเรียนรู้จากคนอื่นได้ 

 

อย่างไรก็ตาม กุญแจสำคัญที่จะช่วยประเทศไทยหรือแม้แต่ ปตท. เอง ให้สามารถปลดล็อก New S-Curve ใหม่ได้คือ เทคโนโลยี

 

“สำหรับประเทศไทย ถ้าเราจะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง โดยเฉลี่ยแล้ว GDP ของเราควรจะโตปีละ 5-6% ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการพัฒนาเทคโนโลยี แต่ที่ผ่านมาทำได้เพียงประมาณ 3%” 

 

ดร.บุรณิน กล่าวต่อว่า ธุรกิจใหม่ในอนาคต โดยพื้นฐานจะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่สำคัญ 3 อย่าง ได้แก่ 

 

  1. ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยยกระดับกระบวนการในการเรียนรู้
  2. เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) แม้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่จะพัฒนาไปอีกขั้น จะเป็นการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาผสมผสาน ช่วยให้การวิจัยและพัฒนาทำได้ละเอียดมากขึ้น
  3. เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) นำไปสู่การพัฒนา Smart Electronic หลายด้าน เช่น ไมโครชิป ดาต้าเซ็นเตอร์ หรือพลังงานใหม่

 

“ทั้ง 3 เทคโนโลยีจะเป็นสิ่งที่นำไปสู่การพัฒนาธุรกิจในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจพลังงาน ธุรกิจที่เข้ามาแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือธุรกิจด้านสุขภาพ”

 

ปัจจุบัน ปตท. ได้มุ่งสร้างธุรกิจและศึกษาเทคโนโลยีเหล่านี้ อย่างบริษัท เมฆา วี จำกัด ที่ทำเรื่อง AI, บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ที่เน้นเรื่อง Life Science หรือแม้แต่เซมิคอนดักเตอร์บริษัทก็มีทีมศึกษาเพื่อพัฒนาชิปที่ใช้ในการจัดการอุตสาหกรรมพลังงาน

 

Life Science เรือธงธุรกิจใหม่ของ ปตท.

 

แม้ธุรกิจใหม่ของ ปตท. จะแยกย่อยออกมานับสิบธุรกิจ แต่ดูเหมือนว่าธุรกิจที่เป็น ‘เรือธง’ และกำลังเติบโตได้ดีที่สุดจะเป็น อินโนบิก (Innobic) ซึ่ง ปตท. วางไว้ว่าเป็นกลุ่มของ Life Science 

 

“เราโชคดีที่มีพันธมิตรทั้งหน่วยงานราชการในประเทศ มหาวิทยาลัยที่ทำวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการไปลงทุนใน Lotus บริษัทผู้ผลิตยาของไต้หวัน ช่วยให้เรามีโรงงานผลิตยาที่ต่างประเทศทั้งในไต้หวันและเกาหลีใต้ ทำให้ธุรกิจ Life Science สามารถเดินหน้าไปได้ดีพอสมควร”​ ดร.บุรณิน กล่าว 

 

เป้าหมายของ ปตท. ในธุรกิจนี้คือการสร้างความมั่นใจด้านสุขภาพให้กับคนไทย และต้องการเป็นผู้นำในธุรกิจ Life Science ของอาเซียน

 

“การจะเป็นผู้นำได้ต้องมีผลิตภัณฑ์ที่เป็น Product Champion หรือมีธุรกิจที่ทำมากกว่าแค่ในไทย ไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องของตัวเลขยอดขายที่สูงที่สุด”​

 

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หลังจากการก่อตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. และเป็นบริษัทเรือธงในด้าน Life Science บริษัทสามารถทำกำไรได้แล้ว และยังมีการเติบโตที่ค่อนข้างดี 

 

หนึ่งในการลงทุนที่ประสบความสำเร็จของ ปตท. ในธุรกิจใหม่นี้คือ การเข้าลงทุนใน Lotus โดยเริ่มลงทุน 6.6% เมื่อปี 2021 และลงทุนเพิ่มอีก 30.6% ในปี 2022 ซึ่ง 6 ปีที่ผ่านมา Lotus เป็นหนึ่งในบริษัทที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากกำไร 124 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน เพิ่มขึ้นมาเป็น 4,106 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 101% 

 

อย่างไรก็ตาม ดร.บุรณิน ยอมรับว่า การจะพัฒนายาที่เป็นต้นตำรับของ ปตท. ขึ้นมาให้ได้ ไม่ใช่สิ่งที่ง่าย และไม่ใช่สิ่งที่ทำได้เร็ว 

 

“ต้องยอมรับว่าเราใหม่มากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมที่พัฒนามาเป็นร้อยปี หรือแม้แต่ Lotus ที่อาจจะไม่ได้เก่าแก่มาก แต่ก็พัฒนามากว่า 10 ปี นอกจากเรื่องของยา การวินิจฉัยโรคที่ตรงจุดมากขึ้น และการป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วย จะเป็นอีกธุรกิจที่น่าสนใจ”

 

นอกจากการมุ่งพัฒนาธุรกิจใหม่ของตัวเอง ดร.บุรณิน ย้ำว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้าง New S-Curve ให้เกิดขึ้นได้จริงคือ แต่ละบริษัทต้องช่วยกันเปิดพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่ๆ ได้ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ แทนที่จะออกไปทดลองที่ประเทศอื่น 

 

เพราะฉะนั้น การพัฒนา New S-Curve ของ ปตท. จึงเป็นการผสมผสานระหว่างการพัฒนาธุรกิจ การวิจัยและพัฒนา และการสร้าง Academy เพื่อพัฒนาคนรุ่นใหม่ รวมทั้งการเข้าไปร่วมถือหุ้นเพื่อช่วยพัฒนาธุรกิจที่น่าสนใจ อย่างการถือหุ้นของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา จำกัด (มหาชน) (IP) 20% และบริษัท นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (NAM) 15%

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising