นอกจากฮ่องกงที่มีการประท้วงยืดเยื้อมานานกว่า 4 เดือนจนกระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงแล้ว หลายประเทศก็มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่รุนแรงไม่แพ้กัน ไปดูกันว่าแต่ละที่มีชนวนมาจากอะไร และสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง
ฮ่องกง: มีชนวนจากร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่เปิดทางให้จีนเข้ามามีอิทธิพล ต่อมาผู้ประท้วงยกระดับการประท้วงรุนแรง โดยเพิ่มข้อเรียกร้องเรื่องสิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภานิติบัญญัติ วิกฤตการเมืองเป็นปัจจัยลบสำคัญที่ฉุดเศรษฐกิจฮ่องกงเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค โดยไตรมาส 3 GDP หดตัว 3.2%
อิรัก: มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 300 ราย นับตั้งแต่เหตุประท้วงปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม โดยประชาชนต้องการให้ปฏิรูปการเมือง หลังรัฐบาลประสบความล้มเหลวในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน อัตราว่างงานสูง และระบบบริการสาธารณะที่ย่ำแย่
เลบานอน: ผู้ประท้วงชุมนุมปิดถนนในกรุงเบรุตจากชนวนความไม่พอใจในนโยบายขึ้นภาษีของรัฐและปัญหาเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศเผชิญภาวะสุญญากาศทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง หลังประธานาธิบดีมิเชล อูน เผยว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่อาจล่าช้า ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย
ชิลี: ประชาชนหลายแสนคนลุกฮือต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดีเซบาสเตียน พิเนรา จากความไม่พอใจในนโยบายรัดเข็มขัด ปัญหาค่าครองชีพสูง และความเหลื่อมล้ำ โดยเหตุการณ์ความไม่สงบกดดันค่าเงินเปโซร่วงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
สเปน: ชาวคาตาลันลุกฮือประท้วง หลังศาลสูงสเปนตัดสินจำคุก 9 แกนนำแบ่งแยกดินแดนกาตาลุญญา สืบเนื่องจากความพยายามผลักดันประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชจากสเปนเมื่อปี 2017 การชุมนุมประท้วงยังลุกลามไปยังพรมแดนติดกับฝรั่งเศส ส่งผลให้ตำรวจฝรั่งเศสต้องใช้สเปรย์พริกไทยสลายกลุ่มผู้ชุมนุม
โบลิเวีย: เกิดการเผชิญหน้าระหว่างประชาชนกับตำรวจและทหาร หลังผู้นำฝ่ายค้านในวุฒิสภาประกาศตั้งตนเป็นประธานาธิบดีชั่วคราว ภายหลังจากที่ เอโบ โมราเลส ลาออกจากตำแหน่งและลี้ภัยในเม็กซิโก เนื่องจากเกิดความวิตกว่าจะถูกรัฐประหาร
ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร