×

การปกป้อง ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ คือการปกป้องผู้คน ไม่ใช่แค่โบราณสถาน

โดย Heritage Matters
16.03.2024
  • LOADING...
เมืองโบราณศรีเทพ

HIGHLIGHTS

  • ทั้งยูเนสโกและนักท่องเที่ยวล้วนสำคัญ แต่การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทยย่อมต้องพึ่งและเกิดจากความพยายามของคนไทย 
  • ดังนั้นแนวทางการพัฒนาควรตั้งอยู่บนพื้นฐานการให้เกียรติชาวศรีเทพ ด้วยการเคารพศักดิ์ศรีและสิทธิในการได้รับการสำรวจที่ดินอย่างเหมาะสม การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอนาคต กฎเกณฑ์ ข้อจำกัดในการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยมากกว่าสถานที่ท่องเที่ยว

เมืองโบราณศรีเทพได้กลายเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 7 ของประเทศไทย ที่ผ่านการรับรองจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) แต่การรับรองโดยยูเนสโกนั้นเป็นการต่อสู้ในการอนุรักษ์โบราณสถานเพียงครึ่งทางเท่านั้น 

 

ตอนนี้รัฐบาลจำเป็นต้องเริ่มพิจารณาจัดทำแผนแม่บทอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์และพื้นที่โดยรอบให้มีความชัดเจน ใช้งานได้อย่างบูรณาการ และที่สำคัญคือใช้งานได้อย่างยั่งยืน ขั้นตอนการเตรียมแผนและพัฒนานั้น โดยสากลนิยมแล้วมักจะต้องปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ให้พร้อมก่อนนำแหล่งมรดกใดๆ เข้าสู่ขั้นตอนการยื่นขอสถานะความเป็นมรดกโลก เพื่อให้การพัฒนาและวางแผนบริหารจัดการจำนวนนักท่องเที่ยวและผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยในพื้นที่มีผลกระทบในเชิงลบน้อยที่สุด

 

การวางแผนแม่บทที่มีส่วนร่วมและให้ความสำคัญกับบทบาทการบริหารของท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะแผนแม่บทการอนุรักษ์ไม่ควรทำเพียงการคำนึงถึงโครงสร้างซากโบราณสถานบนดิน ใต้ดิน หรืออาคารต่างๆ เท่านั้น แต่ต้องรวมผู้คนที่อาศัยอยู่รายล้อมบริเวณพื้นที่ของโบราณสถานด้วย แม้พวกเขาเหล่านี้จะไม่ได้เป็นทั้งนักท่องเที่ยวหรือหน่วยงานของรัฐ แต่ก็ถือเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงที่ถือครองที่ดิน อาศัย และทำกิน อยู่ในพื้นที่ ซึ่งยูเนสโกเองก็สนับสนุนให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมกับแผนการอนุรักษ์อยู่เสมอ แม้ว่าจะไม่สามารถทำอะไรกับแหล่งที่มีแนวทางอนุรักษ์แบบเก่าที่คำนึงถึงแค่เพียงโครงสร้างได้มาก แต่การจัดขึ้นทะเบียนแหล่งใหม่นั้นเป็นโอกาสที่จะส่งเสริมให้เหล่ารัฐภาคีก้าวข้ามทัศนคติการอนุรักษ์แบบเดิม 

 

น่าเสียดายที่แผนการอนุรักษ์เมืองเก่าศรีเทพที่ยื่นเสนอต่อยูเนสโก ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องไปถึงแนวทางแผนการอนุรักษ์พื้นที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับชุมชน แต่กลับตีความขอบเขตและการอนุรักษ์โบราณสถานในเชิงพื้นที่ทิ้งร้างหรือเมืองเก่าไม่มีคนอยู่อาศัย ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า พ.ศ. 2546 ซึ่งไม่ได้จัดทำการศึกษาบริบทของพื้นที่อำเภอศรีเทพและเมืองโบราณโดยละเอียด เนื่องจากอำเภอศรีเทพเป็นพื้นที่ซึ่งมีผู้อาศัยในปัจจุบันไม่หนาแน่น จึงถูกจัดสรรเป็นเมืองเก่าที่ไม่มีผู้คนหรือมีผู้คนอยู่อาศัยน้อยมาก ทำให้การพัฒนานโยบายการอนุรักษ์ขาดการคำนึงถึงความเป็นอยู่และผลกระทบต่อชุมชนซึ่งอยู่อาศัยมาต่อเนื่องกับพื้นที่ ไม่ได้มีการสำรวจการศึกษาอัตลักษณ์และความสำคัญของผู้คน ทำให้หลายชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติกลับไปหลายร้อยปีเป็นเพียงผู้มาอาศัยใหม่มากกว่าพื้นที่ซึ่งมีวิวัฒนาการต่อเนื่อง 

 

เมื่อกรอบชนิดเมืองเก่าที่มีการศึกษาและจัดความสำคัญมีจำกัด เมื่อคนเป็นเพียง ‘ส่วนเสริมที่มาใหม่’ การอนุรักษ์ศรีเทพจึงเดินไปตามแนวทางที่รัฐต้องเลือกระหว่างคนกับสิ่งที่รัฐมองว่าคือโบราณสถานภายใต้องค์ความรู้ของตน สุดท้ายการอนุรักษ์จึงจบลงที่การย้ายชุมชนส่วนใหญ่ออกไปเพื่อขยายพื้นที่ของรัฐ แม้วิธีการอย่างเดิมนี้จะเป็นแผนการอนุรักษ์ที่ง่ายและรวดเร็ว แต่ก็นับเป็นวิธีการจัดการอุทยานประวัติศาสตร์ที่ขาดความยั่งยืนในมิติความมั่นคงของมนุษย์ เพราะภาครัฐมีหน้าที่เพียงขยายแนวเขตอนุรักษ์โดยเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็น ‘อุทยาน’ ไร้ผู้อยู่อาศัย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนเพียงอย่างเดียว การจัดการพื้นที่มรดกทางวัฒนธรรมใหญ่ๆ ของไทยเป็นไปในรูปแบบนี้ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กำแพงเพชร หรือศรีสัชนาลัย ที่ล้วนไร้ผู้คนและการมีส่วนร่วมในการสานต่ออัตลักษณ์ของมรดกทางวัฒนธรรม

 

กรุงโรมมีมรดกทางวัฒนธรรมของยุคสมัยโรมันโดยไม่จำเป็นต้องไร้ผู้คน 

 

วิธีการที่ดีกว่าการกันคนออกจากพื้นที่ให้เหลือเพียงโบราณสถานในกรณีที่พื้นที่หลักของเมืองโบราณนั้นได้รับการกันพื้นที่ให้เป็นอุทยานบางส่วนแล้ว และยังมีโบราณสถานจำนวนมากทับซ้อนอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีผู้คนอยู่อาศัยนั้น คือการให้ชุมชนและโบราณสถานอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนในลักษณะเมืองเก่าที่มีผู้อาศัยอยู่ในปัจจุบันดังเช่นเมืองเก่าอื่นๆ เหตุผลหนึ่งที่ยูเนสโกรับรองเมืองโบราณศรีเทพมาจากการที่คนท้องถิ่นซึ่งอยู่อาศัยมายาวนานหลายร้อยปีดูแลรักษาตัวโบราณสถานด้วยความเคารพมาอย่างยาวนาน มากไปกว่านั้นชุมชนในหมู่บ้านรอบๆ มีความเชื่อว่า บรรพบุรุษของตนอพยพมาจากภายในเมืองโบราณแห่งนี้ และชาวบ้านต่างสักการะ ‘เจ้าพ่อศรีเทพ’ เป็นผู้ปกปักรักษา เมืองโบราณศรีเทพจึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และมีการจัดพิธีบวงสรวงในพื้นที่เมืองโบราณทุกปี

 

เมืองโบราณศรีเทพตั้งอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นหนึ่งในแหล่งโบราณคดีที่มีขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศไทย มีความเก่าแก่กว่าสุโขทัยและพนมรุ้งหลายร้อยปี ตัวอำเภอห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 300 กิโลเมตร โดยส่วนของพื้นที่อนุรักษ์เข้มข้นหรือพื้นที่ซึ่งได้รับการยื่นเสนอให้เป็นพื้นที่ปลอดโครงสร้างและผู้คนร่วมสมัย ครอบคลุมที่ทำการสำนักงานการอนุรักษ์ ตัวเมืองโบราณที่ถูกประกาศให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ บริเวณพื้นที่สี่เหลี่ยมของโบราณสถานเขาคลังนอก และเทือกเขาถมอรัตน์ทั้ง 3 ลูก ส่วนของเมืองนั้นประกอบไปด้วยคูเมือง กำแพง วัดโบราณ สุสาน พระปรางค์ และซากโบราณสถานอื่นๆ อันสะท้อนถึงร่องรอยการอยู่อาศัยในยุคก่อนประวัติศาสตร์และโบราณสถานในกลุ่มศิลปะทวารวดีและขอมอีกนับร้อย กินบริเวณกว้างกว่า 1.4 ตารางกิโลเมตร

 

เมืองศรีเทพเป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ของรัฐในกลุ่มวัฒนธรรมศิลปะแบบทวารวดีที่เจริญรุ่งเรืองระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 7-11 แต่ปรัชญา งานช่าง ศิลปะ และความเชื่อ ยังคงทรงอิทธิพลในประเทศไทยมาจนถึงยุคปัจจุบัน รัฐบาลได้ขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพเป็นพื้นที่อนุรักษ์เมื่อ พ.ศ. 2506 และประกาศเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ พ.ศ. 2526 หากแต่การจัดทำแนวเขตพื้นที่อนุรักษ์นั้นมีปัญหาเรื่องขอบเขตและความชัดเจน เนื่องจากการประกาศและบริหารจัดการขาดการรังวัดพื้นที่อุทยานนอกเหนือจากการรังวัดคูเมืองของกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นไปตามแผนการอนุรักษ์คูน้ำคันดินทั่วประเทศ

 

แผนที่แสดงการกระจายตัวของแหล่งทรงคุณค่าที่เกี่ยวข้องกับเมืองโบราณศรีเทพ

ภาพ: ธันย์ อิทธิสกุลพันธ์

 

เขตพื้นที่อนุรักษ์เข้มข้นหรือเขตพื้นที่ตามราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2506 จึงทับซ้อนกับบ้านเรือนหลายร้อยหลัง มีร้านค้าหลายร้าน พื้นที่ทำกิน และวัด แม้ว่าทางการจะประกาศว่าชุมชนอยู่อาศัยร่วมกันได้ แต่ก็ไม่ได้ให้ความชัดเจนเรื่องแนวเขตและแนวทางการจัดการโบราณสถานจำนวนมากที่อยู่นอกคูเมืองและภายในพื้นที่ชุมชน โดยที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐไม่ได้ดำเนินนโยบายการอนุรักษ์เข้มข้นหรือชี้แจงแนวพื้นที่ซึ่งอยู่ภายใต้นโยบายการอนุรักษ์แบบ ‘ปลอดผู้คน’ ท้ายที่สุดหากยังคงแผนและแนวทางการอนุรักษ์แบบเดิม รัฐจะมีภาระเพียงการขยายพื้นที่ และผู้ที่ถูกมองว่ามีประวัติศาสตร์และสถานะการอยู่อาศัยไม่สำคัญควรค่าพอที่จะได้รับการคุ้มครองให้อยู่อาศัย ก็จำต้อง ‘เสียสละ’ ให้กับนักอนุรักษ์ นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ เจ้าหน้าที่รัฐ และนักท่องเที่ยว ตามแผนการอนุรักษ์อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพฉบับล่าสุด รัฐจะซื้อพื้นที่หรือเวนคืนที่ดินส่วนบุคคลที่มีหรืออยู่ใกล้โบราณสถาน และจะชดเชยตามกฎหมายให้แก่เจ้าของที่ดินผู้ถือครองโฉนดเท่านั้น

 

แต่ประชาชนหลายรายซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่มาหลายชั่วอายุคนกลับไม่มีโฉนดที่ดิน เนื่องจากแนวเขตที่อยู่อาศัยและทำกินทับซ้อนกับแนวโบราณสถาน และเป็นพื้นที่ซึ่งยังไม่ได้มีการรังวัดจัดสรรที่ดินอยู่อาศัยและทำกิน จึงอาจเป็นอุปสรรคต่อการชดเชยอย่างยุติธรรม หากรัฐดำเนินนโยบายการอนุรักษ์โดยขยายพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์และโบราณสถานเพิ่มเติม คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญความยากลำบากจากการขาดแคลนปัจจัยดำรงชีวิตอยู่แล้ว เช่น การเข้าถึงน้ำประปา นอกจากนี้ประชาชนที่ไม่ได้ถือครองที่ดินต้องจ่ายค่าไฟในอัตราที่สูงกว่าปกติ 2 เท่า แม้แต่ผู้ที่ถือครองโฉนดที่ดินที่ออกหลังจากการขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ใน พ.ศ. 2526 ก็อาจประสบปัญหาเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของพื้นที่เช่นเดียวกันหากมีการออกกฎหมายเวนคืน มากไปกว่าการชดเชยทางการเงินคือ ประวัติศาสตร์และมรดกทางวัฒนธรรมที่ยังมีชีวิตที่ไม่ได้รับการคุ้มครองและจะถูกทำลาย หากศรีเทพกลายเป็นพื้นที่มรดกทางวัฒนธรรมที่ไร้ผู้คน 

 

นอกจากนี้แผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ที่ออกโดยผู้มีอำนาจจากส่วนกลาง ยังมีผลกระทบต่อชาวบ้านบริเวณเมืองโบราณศรีเทพในแง่อื่นๆ อาทิ การห้ามชาวไร่ไม่ให้เพาะปลูกมันสำปะหลังและเลี้ยงวัวในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ที่ขาดความชัดเจน เพราะยังขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้บริหาร และขาดความสม่ำเสมอ เพราะขาดการทำความเข้าใจหลักการปฏิบัติและการใช้พื้นที่ รากของมันสำปะหลังและมันชนิดต่างๆ ไม่ได้หยั่งลึกจนทำลายโบราณสถานที่ฝังอยู่ใต้ดิน เช่นเดียวกับการเลี้ยงปศุสัตว์ ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชุมชนที่อยู่คู่จังหวัดเพชรบูรณ์มากว่า 200 ปี ก็กำลังเป็นประเด็นสุ่มเสี่ยงว่าจะถูกห้ามอีกเช่นกัน การเลี้ยงสัตว์นั้นหากบริหารจัดการให้ดีจะสามารถช่วยกำจัดวัชพืชที่รุกล้ำโบราณสถานได้ โดยมีตัวอย่างให้เห็นแล้วในพื้นที่โบราณสถานสำคัญ เช่น ปราสาทพระขรรค์ในประเทศกัมพูชา และกลุ่มโบราณสถานแห่งขชุราโหในสาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งล้วนพิสูจน์ให้เราเห็นว่า อุทยานประวัติศาสตร์สามารถอยู่ร่วมกับเหล่าวัวและสัตว์ที่ชุมชนเลี้ยงได้อย่างปกติสุข

 

แผนอนุรักษ์และจัดการมรดกทางวัฒนธรรมหลายแห่งทั่วโลกได้ทำให้ประจักษ์ว่า ชุมชนและโบราณสถานสามารถเติบโตไปด้วยกันได้ หนึ่งตัวอย่างที่ดีคือ ‘เอฟบรี’ (Avebury) กลุ่มหินก้อนยักษ์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ถูกวางเรียงเป็นวงกลมที่ประเทศอังกฤษ และมีขนาดใหญ่ยิ่งกว่า ‘สโตนเฮนจ์’ (Stonehenge) ที่อยู่ห่างไปไม่ไกล กลุ่มหินและแหล่งชุมชนโบราณที่มีความเก่าแก่มากกว่า 4,000 ปี เคยโดนทิ้งร้างและกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในสมัยจักรวรรดิโรมัน ต่อมาได้กลายเป็นหมู่บ้านและเกิดเป็นพื้นที่เมืองขนาดเล็กขึ้นในระยะเวลา 300 ปีที่ผ่านมา กลุ่มก้อนหินยักษ์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านเอฟบรีที่มีทั้งกระท่อมและพื้นที่เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ มีร้านอาหารเก่าแก่ ร้านค้างานศิลปะและเครื่องราง เนื่องจากพื้นที่มีความสำคัญกับศาสนาวิคคาและเพแกนที่เป็นที่นิยมในคนอังกฤษรุ่นใหม่ โดยมีการใช้งานพื้นที่ทับซ้อนกับโบราณสถานอย่างต่อเนื่อง และสร้างอัตลักษณ์กับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่โดดเด่นไปในตัว แม้จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกแล้ว ก็เป็นตัวอย่างการบริหารจัดการที่ควรนำมาใช้ในการพัฒนาอำเภอศรีเทพ ซึ่งมีลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างโบราณสถานกับประวัติศาสตร์ของประชากรท้องถิ่นไปในแนวทางเดียวกัน แต่การวางแผนนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความชัดเจนและการให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ความเป็น ‘ศรีเทพ’ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเมื่อ 2,000 ปีก่อนจนถึงยุคสมัยประวัติศาสตร์สมัยใหม่ 

 

การกำหนดขอบเขตและแนวกันชนระหว่างพื้นที่โดยรัฐบาลยังมีปัญหาเชิงความชัดเจน การปฏิบัติ และบังคับใช้ ที่ไม่ได้อ้างอิงการรังวัดที่ดิน เพื่อกำหนดแนวเขตและการควบคุมพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ และทำความเข้าใจกับผู้อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ แม้แต่แผนผังซึ่งระบุโบราณสถานในการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานก็สะท้อนให้เห็นปัญหานี้ อาทิ ตำแหน่งของอ่างเก็บน้ำโบราณใหญ่ทั้งสอง ซึ่งอยู่ภายในและภายนอกอุทยานประวัติศาสตร์ ในผังระบุว่า โบราณสถานดังกล่าวอยู่ห่างกันเกิน 1 กิโลเมตร ทั้งที่ระยะห่างจริงเพียงแค่ 600 เมตร

 

แผนที่แนวเขตโบราณสถานฉบับ พ.ศ. 2506 ไม่ได้แบ่งเขตพื้นที่อนุรักษ์เข้มข้นโดยอิงจากคูน้ำรอบอุทยานประวัติศาสตร์ตามที่ได้เสนอให้กับยูเนสโก แต่กลับระบุเขตแดนทางภูมิศาสตร์ด้วยสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ธรรมดา ปราศจากการกำหนดขอบเขตทางกายภาพตามที่วาดไว้ในแผนที่ จากการตรวจสอบโดยองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือไทยพีบีเอส ที่มีการเผยแพร่เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 พบว่า มีการปักหมุดแบ่งเขตระหว่างพื้นที่อนุรักษ์หลักหรือโบราณสถานและแนวเขตพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชน โดยไม่ได้มีการรังวัดและไม่ได้อิงตามขอบเขตที่ระบุไว้ตามกฎหมาย การแบ่งเขตอนุรักษ์เข้มข้นที่คลุมเครือเช่นนี้อาจส่งผลให้เกิดปัญหาการจัดสรรที่ดินทำกินและกรรมสิทธิ์ที่ดิน และทำให้การแบ่งเขตกันชนเพื่ออนุรักษ์โบราณสถานโดยรวมไม่ชัดเจนตามไปด้วย และที่สำคัญคือสร้างความกังวลต่อเนื่องให้กับผู้อยู่อาศัยและทำกินอยู่ในพื้นที่ทับซ้อน 

 

หลุมฝังศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ภายในเมืองโบราณศรีเทพ

ภาพ: ธันย์ อิทธิสกุลพันธ์

 

ข้อมูลจากศูนย์กฎหมายเพื่อประชาชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ความคลุมเครือเช่นนี้อาจทำให้แผนการซื้อคืนหรือ ‘เวนคืนที่ดิน’ ฉบับล่าสุด นำไปสู่การต่อสู้ที่ยืดเยื้อระหว่างรัฐกับประชาชนที่ต้องระหกระเหินจากพื้นที่โดยไม่ได้รับการชดเชยใดๆ หากไม่มีเอกสารสิทธิ์ ชาวบ้านในบริเวณนั้นต่างสู้เพื่อสิทธิที่ชอบด้วยกฎหมายและการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์มาตลอดเวลากว่า 2 ปี จนเหนื่อยล้าและสิ้นหวัง ถ้าการสำรวจที่ดินยังไม่แล้วเสร็จ การต่อสู้ทางกฎหมายอีกหลายนัดจะปะทุขึ้นตามมา และกินเวลาไปอีกเป็นแรมเดือนแรมปี จนเบียดบังการพัฒนาชุมชนและความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ทั้งๆ ที่การสำรวจที่ดินใช้เวลาไม่นานและสามารถประสานงานกับแผนพัฒนาอื่นๆ ที่มีแนวทางในการรังวัดและออกโฉนดที่ดินอยู่แล้ว 

 

แม้ว่าการร้องเรียนเบื้องต้นจะเผยให้เห็นปัญหานี้ และช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่บางรายได้รับโฉนดซึ่งตกค้างมานาน เพราะปัญหาการบริหารแนวเขตโบราณสถานเกิดจากโครงการเดินสำรวจและออกโฉนดที่ดินใน พ.ศ. 2540 แต่ยังมีอีกหลายครัวเรือนที่ยังรอการรังวัดและนำพื้นที่ของตนเข้าสู่แผนการรังวัดที่ดิน ซึ่งหากไม่มีการกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ รายละเอียดการประเมินผลกระทบและการควบคุมการก่อสร้าง แผนการบริหารพื้นที่ ซึ่งสนับสนุนให้เจ้าของที่ดินสามารถมีส่วนร่วมกับการอนุรักษ์โบราณสถาน การพัฒนาพื้นที่มรดกโลกก็จะยังไม่พ้นติดขัดอย่างต่อเนื่องและไม่ได้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ดังเช่นที่ปรากฏปัญหาเรื่องการบริหารจัดการขยะ ระบบสุขา โครงสร้างถนนชำรุดและไม่เพียงพอ ระบบน้ำอุปโภคบริโภคไม่เพียงพอ เมื่อมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันในพื้นที่ โดยไร้แผนรองรับก่อนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 จนส่งผลทำให้แหล่งโบราณสถานเสื่อมความน่าสนใจในแง่การท่องเที่ยวอย่างรวดเร็วหลังกระแสมรดกโลกเริ่มเบาบางลง ประกอบกับความไม่พร้อมทางระบบสาธารณูปโภคของพื้นที่ ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูงขาดแรงจูงใจในการใช้จ่ายและพักอาศัยในพื้นที่  

 

ปัญหาการจัดการนโยบายอนุรักษ์และการจัดการที่ดินเคยเกิดขึ้นแล้วในกรณีของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพราะการขึ้นทะเบียนผืนป่าแห่งนี้เป็นมรดกโลกได้ละเมิดสิทธิของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่โดนไล่ที่ แม้จะอาศัยในบริเวณนี้มากว่าร้อยปีแล้วก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีการประท้วงและความตายของนักรณรงค์ 2 คน แต่ความขัดแย้งเรื่องสิทธิการครอบครองที่ดินและที่อยู่อาศัยในป่าแก่งกระจานยังคงไม่มีข้อยุติ จนส่งผลกระทบต่อการอนุรักษ์และการดำรงชีวิตของผู้คนจนถึงปัจจุบัน

 

รายได้ของชาวบ้านศรีเทพส่วนใหญ่อยู่ที่เดือนละ 8,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของรายได้ประชาชนทั่วประเทศ ผู้คนจำนวนมากเลี้ยงชีพด้วยการทำไร่อ้อยและปลูกพืชอื่นๆ ชาวบ้านทั้งหมด 288 ครัวเรือนในเขตอนุรักษ์เข้มข้นจะได้รับผลกระทบหากเกิดการบังคับใช้นโยบายอนุรักษ์เข้มข้นโดยพื้นที่ไม่ชัดเจน หากรัฐบาลยังดึงดันที่จะบังคับใช้แนวทางการอนุรักษ์เช่นปัจจุบัน

 

ความโดดเด่นของชาวบ้านที่ศรีเทพคือความรักที่มีต่อโบราณสถาน แต่พวกเขาก็จำเป็นต้องพัฒนาวิถีการดำรงชีวิตแบบใหม่ ซึ่งมาจากการพัฒนาทักษะใหม่ ลงทุน และฟูมฟักสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การฟื้นฟู ให้เมืองมรดกโลกกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง หากการจัดการเป็นไปอย่างเหมาะสม อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโบราณสถานต่างๆ จะสามารถเพิ่มพูนทั้งรายได้และคุณค่าทางวัฒนธรรมให้แก่ผู้คนและสถานที่นั้น ที่ผ่านมากรมศิลปากรได้มีการจัดอบรมการฝึกทักษะช่างโดยสำนักช่างสิบหมู่ให้มีการพัฒนาของชำร่วย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในแง่วิสัยทัศน์ของการริเริ่มที่จะออกจากแนวทางการอนุรักษ์แบบเก่า 

 

พื้นที่จัดแสดงโบราณวัตถุชั่วคราว

ภาพ: ธันย์ อิทธิสกุลพันธ์

 

กลยุทธ์การอนุรักษ์อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จะนำพาการบริหารจัดการโบราณสถานของไทยไปสู่ยุคใหม่ แทนที่จะให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวเป็นอันดับแรก เราควรใส่ใจผู้อยู่อาศัยโดยรอบ และพิจารณาว่าโบราณสถานนั้นจะทำให้ชาวบ้านมีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร เน้นไปที่การฟื้นฟูศิลปหัตถกรรมและโบราณสถานในพื้นที่เอกชนและชุมชน เพื่อให้โบราณสถานไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่ให้ผู้คนภายนอกมาเยือน แต่เป็นสินทรัพย์ของพื้นที่ ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าชีวิตที่ดีให้กับผู้คนในท้องที่

 

คนท้องถิ่นต้องการคำแนะนำที่เป็นระบบ พร้อมแรงสนับสนุนการจัดการแหล่งโบราณคดีที่อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง โบราณสถานก่อให้เกิดอาชีพทักษะสูงและธุรกิจมากมาย โอกาสเหล่านี้จะช่วยให้ความผูกพันของชาวบ้านที่มีต่อโบราณสถานและชุมชนของตัวเองฝังรากลึกลงกว่าเดิม

 

พื้นที่อนุรักษ์เข้มข้นเองก็ไม่ควรมีการกำหนดไว้แค่เขตเดียว แต่ควรแบ่งออกเป็นเขตอนุรักษ์ย่อยๆ ทั่วอุทยานประวัติศาสตร์ โดยมีเขตกันชนคั่นเอาไว้ หากทำเช่นนั้นพื้นที่เพาะปลูกและบ้านเรือนจะยังคงอยู่ที่เดิมต่อไปได้ และเราก็สามารถเพิ่มมูลค่าเชิงเกษตรกรรมในพื้นที่นั้นได้อีกด้วย

 

ทั้งยูเนสโกและนักท่องเที่ยวล้วนสำคัญ แต่การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทยย่อมต้องพึ่งและเกิดจากความพยายามของคนไทย ดังนั้นแนวทางการพัฒนาควรตั้งอยู่บนพื้นฐานการให้เกียรติชาวศรีเทพ ด้วยการเคารพศักดิ์ศรีและสิทธิในการได้รับการสำรวจที่ดินอย่างเหมาะสม การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอนาคต กฎเกณฑ์ และข้อจำกัดในการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยมากกว่าสถานที่ท่องเที่ยว ครั้งนี้เรามาจัดการโบราณสถานให้ถูกต้องกันเถิด

 


 

คำอธิบายภาพเปิด: โบราณสถานเขาคลังนอก อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ, ภาพ: ธันย์ อิทธิสกุลพันธ์

 

พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา เป็นทั้งนักวิชาการด้านการพัฒนามรดกทางวัฒนธรรม อาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาสภาวัฒนธรรมของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพที่ได้นำโครงการสำรวจพื้นที่ด้วยไลดาร์ (LiDAR) มาแล้ว

 

บทความนี้ปรับปรุงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่ปรากฏในคอลัมน์ ‘Heritage Matters’ ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566

 

บรรณาธิการ Heritage Matters: ไบรอัน เมอร์เทนส์
ปรับปรุงต้นฉบับ: พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา

 

Heritage Matters โดยสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นคอลัมน์สำหรับเผยแพร่บทสนทนาและแนวคิด เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการส่งเสริมความรู้และความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับการจัดการมรดกวัฒนธรรมของไทยและประเทศใกล้เคียง ทัศนะและความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความเป็นของผู้เขียนบทความนั้น

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X