“ถ้าเลือกได้ จะฉีดวัคซีน Sinovac หรือวัคซีน AstraZeneca”
เป็นคำถามในวันที่ประเทศไทยได้รับวัคซีนจากทั้ง 2 บริษัทพร้อมกัน ถึงแม้ว่าในระยะแรกประชาชนกลุ่มเป้าหมายของการฉีดวัคซีนอาจไม่สามารถเลือกได้ แต่ก็มีความสงสัยว่าวัคซีนของแต่ละบริษัทมีข้อดี-ข้อเสียต่างกันอย่างไร
ถ้าเปรียบเทียบกันในด้าน ‘ความปลอดภัย’ วัคซีน Sinovac เป็นวัคซีนเชื้อตาย คือผลิตจากไวรัสที่ไม่มีชีวิตแล้ว จึงถือว่ามีความปลอดภัยสูง ซึ่งผลการทดลองก็พบว่าวัคซีน Sinovac มีผลข้างเคียงน้อยกว่า และไม่มีอาการรุนแรง ในขณะที่วัคซีน AstraZeneca เป็นการใช้ไวรัสอะดิโนที่ก่อโรคในลิงชิมแปนซีเป็นตัวพา (Adenoviral Vector) ทำให้เกิดผลข้างเคียงมากกว่า แต่ไม่รุนแรง เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แต่ผู้สูงอายุจะพบน้อยกว่าวัยผู้ใหญ่
ในแง่ของ ‘ประสิทธิภาพ’ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการทดลองวัคซีนสามารถวัดผลการป้องกันโรคได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่การป้องกันการติดเชื้อ การป้องกันโรคแบบมีอาการ จนถึงการป้องกันอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต ตัวเลข 50.4% ของวัคซีน Sinovac ที่บราซิล เป็นการวิเคราะห์ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อที่แสดงอาการตั้งแต่น้อยมาก ในขณะที่ตัวเลข 70.4% (62.1-90.0%) ของวัคซีน AstraZeneca เป็นประสิทธิภาพในการป้องกันโรคแบบมีอาการ จึงไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้โดยตรง
แต่ตัวเลขที่น่าจะเปรียบเทียบกันได้มากที่สุดคือการป้องกันการติดเชื้อทุกรูปแบบ เท่ากับ 54.1% ซึ่งใกล้เคียงกันมาก และอีกตัวเลขหนึ่งคือประสิทธิภาพในการป้องกันอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต ซึ่งทั้งคู่ทำได้ 100% เหมือนกัน
ส่วน ‘ผู้ที่สามารถฉีดวัคซีนได้’ ขณะนี้วัคซีน Sinovac ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาประสิทธิภาพในผู้สูงอายุ (กลุ่มตัวอย่างน้อย อย. จึงไม่อนุมัติ) ทำให้สามารถฉีดได้เฉพาะในกลุ่มอายุ 18-59 ปี ดังนั้นผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จึงต้องฉีดวัคซีน AstraZeneca สำหรับผู้มีโรคประจำตัวสามารถฉีดได้ทั้งคู่ ส่วนข้อห้ามคือผู้ที่แพ้รุนแรงจากการฉีดครั้งก่อน หรือแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อาการยังไม่คงที่ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจที่เพิ่งรักษาหาย ยังไม่แนะนำให้ฉีด
โดยสรุป วัคซีนของทั้ง 2 บริษัทมีความปลอดภัยและประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน ข้อดีของวัคซีน Sinovac คือมีผลข้างเคียงน้อยกว่า ส่วนข้อดีของวัคซีน AstraZeneca คือความน่าเชื่อถือของผลการศึกษา และมีข้อมูลในผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนเหล่านี้จะยังมีการอัปเดตอีกในอนาคต
อ้างอิง: การอภิปรายเรื่องโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วัคซีนโควิด-19 และอาการภายหลังการได้รับวัคซีน โดย ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (24 ก.พ. 2564) และ The New York Times
ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต