×

กูรูชงรัฐตั้งกองทุนประกันความเสียหายจากการให้สินเชื่อในช่วงโควิด ช่วยคนระดับล่าง-ธุรกิจกระทบหนักเข้าถึงสภาพคล่อง

13.09.2021
  • LOADING...

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเวลานี้อาจกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า กับดักสภาพคล่อง หรือ Liquidity Trap ซึ่งเป็นภาวะที่แม้ว่าดอกเบี้ยในระบบจะถูกปรับลดให้ต่ำลง แต่สภาพคล่องในระบบก็ยังอยู่ในระดับสูง เพราะนักลงทุนและธนาคารกังวลต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทำให้ดอกเบี้ยที่ต่ำไม่สามารถจูงใจให้คนกู้เงินไปลงทุน ขยายกิจการหรือจ้างงานตามที่ควรจะเป็น

 

“ถ้าเราดูปริมาณเงินฝากในระบบขณะนี้จะเห็นว่าเงินฝากอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 16 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกัน ดอกเบี้ยนโยบายของไทยก็อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกันที่ 0.50% ซึ่งสะท้อนว่า สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง ทำให้คนเลือกที่จะเก็บออมเงินไว้ก่อน โดยเราพบว่า การออมในช่วงโควิดเติบโตมากกว่าเทรนด์ในระยะยาวถึง 9 แสนล้านบาท” สมประวิณกล่าว

 

สมประวิณระบุว่า สิ่งที่น่ากังวลในเวลานี้คือไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถออมเงินเอาไว้เพื่อรอเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ เงินฝากที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนระดับกลางถึงบน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในลักษณะ K-shaped กลุ่มขีดบนของตัว K อาจไม่ได้รับผลกระทบมาก ซึ่งตรงข้ามกับกลุ่มขีดล่างของตัว K ที่ได้รับผลกระทบหนักและกำลังต้องการการอัดฉีดสภาพคล่องอย่างเร่งด่วน

 

“เราไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องในระบบ แต่โจทย์สำคัญของเราจะสร้างกลไกอย่างไรที่จะเชื่อมต่อสภาพคล่องระหว่างกลุ่มขีดบนและขีดล่างของตัว K ส่งส่วนเกินไปยังส่วนที่ขาด เพราะกลไกในปัจจุบันอย่างธนาคารพาณิชย์เป็นธุรกิจที่ต้องบริหารความเสี่ยง ถ้าธนาคารมองว่ามีความเสี่ยงที่จะเสียหายสูงก็จะไม่ปล่อยหรือปล่อยได้ไม่เต็มที่ ทำให้การเชื่อมโยงสภาพคล่องยังทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร” สมประวิณกล่าว

 

สมประวิณกล่าวอีกว่า ในภาวะที่กลไกปกติไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาครัฐควรยื่นมือเข้ามาดูแล ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าหนึ่งในวิธีการที่สามารถทำได้คือ การจัดตั้งกองทุนประกันความเสียหายจากการให้สินเชื่อในช่วงโควิด ซึ่งเป็นการดึงความเสี่ยงในตลาดที่เกิดจาก Covid Shock มาอยู่ที่รัฐ เพื่อให้สภาพคล่องสามารถไหลไปตามท่อต่างๆ ได้สะดวกขึ้น

 

“วิธีการนี้ถูกใช้ในหลายประเทศ ผลที่ออกมาก็น่าพอใจ เศรษฐกิจเขากลับมาฟื้นตัวได้เร็วจากวิกฤตโควิด บางประเทศรัฐช่วยประกันความเสียหายจากสินเชื่อ 50% แต่ประเทศที่ประกันความเสียหายสูงถึง 80-90% ก็มีเช่นกัน หากไทยจะนำมาใช้อาจต้องพิจารณาให้เหมาะกับบริบทของเรา ต้องดูว่าสถาบันการเงินของเรารับความเสี่ยงได้อยู่ที่ระดับใด” สมประวิณกล่าว

 

อย่างไรก็ดี สมประวิณยอมรับว่า นโยบายนี้มีต้นทุนที่ภาครัฐต้องแบกรับและอาจสร้างความกังวลเกี่ยวกับ Moral Hazard แต่โดยส่วนตัวมองว่าในวิกฤตที่รุนแรงเช่นนี้รัฐอาจต้องยอมเสี่ยง ขณะเดียวกันยังเชื่อว่า ด้วยฐานะการเงินการคลังของไทยที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพจะทำให้ไทยสามารถดำเนินนโยบายในรูปแบบนี้ได้ 

 

“ข้อมูลจากผลสำรวจระบุว่า 94% หรือ 750,000 จาก 800,000 บริษัทในไทยได้รับผลกระทบจากโควิดไม่โดยตรงก็โดยอ้อม เราต้องเร่งให้ความช่วยเหลือไปถึงกลุ่มที่เดือดร้อนหนักโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นจะเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ ที่แม้ว่าโควิดจะผ่านไปแล้ว แต่เราจะไม่สามารถเติบโตได้เท่าเดิม” สมประวิณกล่าว

 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของเงินฝาก แม้ว่าดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำ เป็นผลมาจากสถานการณ์โควิดที่จำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้คนใช้จ่ายไม่ได้ ประกอบกับคนส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจในเศรษฐกิจว่าจะฟื้นตัวเมื่อไร หากลงทุนไปแล้วจะได้รับผลตอบแทนที่ดีในอนาคตหรือไม่ ทำให้คนเลือกที่จะไม่กู้ยืม หากเป็นคนระดับบนถึงกลางบนที่ยังพอมีเงินก็จะเลือกออมเงินไว้ก่อนมากกว่านำไปใช้จ่ายหรือลงทุน 

 

“ในทางกลับกัน ภายใต้สภาวะเช่นนี้ คนระดับล่างกลับมีหนี้สูงขึ้นและต้องการการอัดฉีดสภาพคล่อง ปัญหาของคนกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ที่เขาไม่อยากกู้ แต่อยู่ที่แบงก์ซึ่งกังวลเรื่องหนี้เสียจากความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น จึงเพิ่มความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ ทำให้การส่งผ่านสภาพคล่องไปถึงคนที่จำเป็นยังมีปัญหา” อมรเทพกล่าว

 

อมรเทพกล่าวว่า วิธีจะออกจากกับดักนี้คือ ภาครัฐต้องเข้ามามีส่วนสร้างความเชื่อมั่นทำให้เกิดการลงทุนและธนาคารกล้าปล่อยกู้ ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยก็มองเห็นปัญหานี้ เพราะ Soft Loan ก็ยังปล่อยได้ไม่ถึงเป้าที่ 2.5 แสนล้านบาท 

 

“การนำกลไกค้ำประดันของ บสย. เข้ามาถือว่าช่วยได้บางส่วน แต่ไทยอาจจำเป็นต้องใช้นโยบายการคลังเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมจัดตั้งกองทุนรับความเสี่ยงหนี้เสียเหมือนกับที่ต่างประเทศทำ โดยให้ภาครัฐช่วยรับความเสี่ยง เพื่อให้แบงก์กล้าปล่อยสินเชื่อมากขึ้น” อมรเทพกล่าว

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising