เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ให้ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เข้าสู่การชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และห้ามนายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
ด้วยนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 และเป็นการรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยและการดำรงชีวิตโดยปกติของประชาชน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 25 และมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจึงออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 2 ให้นายจ้างกับลูกจ้างปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยเคร่งครัด ถ้าเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ อันเกิดขึ้นในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรหรือกิจการประเภทใดประเภทหนึ่ง ให้ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้นั้นได้รับการชี้ขาดจากคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์
ข้อ 3 ห้ามมิให้นายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงาน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
ข้อ 4 ในกรณีที่มีการปิดงานหรือการนัดหยุดงานอยู่ก่อนวันที่มีประกาศนี้ใช้บังคับ ให้นายจ้างซึ่งปิดงานรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน และให้ลูกจ้างที่นัดหยุดงานกลับเข้าทำงานตามปกติ
สำหรับประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคมทันที โดยมีสาระสำคัญ คือ ข้อ 3 ‘ห้ามมิให้นายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงาน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร’ เฉพาะในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งปัจจุบันได้มีการขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563
กล่าวคือ เป็นการอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ที่ให้อำนาจว่าการกระทรวงแรงงานสามารถออกประกาศฉบับนี้ได้ โดยอาศัยฐานของอำนาจจาก พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว
ฉะนั้นเมื่อนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการซึ่งมี ‘สหภาพแรงงาน’ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย เพื่อดูแลพิทักษ์ผลประโยชน์ของลูกจ้าง หากมีข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งหมายถึงข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเกี่ยวกับสภาพการจ้างงาน ในสถานการณ์ปกติ นายจ้างอาจสั่งให้มีการ ‘ปิดงาน’ เนื่องจากนายจ้างปฏิเสธไม่ยอมให้ลูกจ้างทำงานชั่วคราว ซึ่งมีเหตุมาจากข้อพิพาทแรงงาน
ขณะเดียวกันลูกจ้างก็อาจใช้มาตรการ ‘นัดหยุดงาน’ ซึ่งหมายความว่า การที่ลูกจ้างร่วมกันไม่ทำงานชั่วคราวเนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน
ทั้งสองมาตรการของนายจ้าง ลูกจ้าง อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการและปากท้องของลูกจ้าง ขณะที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นด้วยเหตุผลด้านสุขภาพจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ทำให้มีข้อกำหนดห้ามชุมนุมรวมกลุ่มที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรค ขณะที่การจ้างงานเวลานี้อาจมีปัญหาเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เช่น นายจ้างลดค่าแรง หรือตัดเงินเดือน ซึ่งอาจสร้างความไม่พอใจให้ลูกจ้าง รวมถึงอาจมีกรณีที่พิพาทแล้วนายจ้างสั่งปิดงาน ส่งผลต่อการเจรจาข้อพิพาท ประกาศฉบับนี้จึงให้อำนาจของคณะบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายเป็นผู้ชี้ขาดข้อพิพาท และให้ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามเพื่อยุติปัญหา
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า