×

สภาล่มระหว่างลงมติร่างข้อบังคับ #สภาก้าวหน้า มี สส. ร่วมลงคะแนนเพียง 228 คน หลังที่ประชุมมีมติไม่ส่ง กมธ.กิจการสภาฯ พิจารณาก่อน 60 วัน

โดย THE STANDARD TEAM
13.12.2023
  • LOADING...
สภาก้าวหน้า

วันที่ (13 ธันวาคม) ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร หรือ ‘ร่างข้อบังคับสภาก้าวหน้า’ โดยระบุว่าสภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรที่มีความพิเศษ เพราะน่าจะเป็นองค์กรเดียวในระดับประเทศที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่จากผลสำรวจที่ผ่านมากลับพบว่าสภาเป็นองค์กรที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่นน้อย

 

ดังนั้นจุดมุ่งหมายในการเสนอร่างฯ ดังกล่าวคือการปรับปรุงกลไกการทำงานของสภา เพื่อสนับสนุนให้ผู้แทนราษฎรทุกคน ทุกพรรค ทุกชุดความคิด ทำงานได้ดียิ่งขึ้นในการแข่งขันกันรับใช้ประชาชน และทำให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นพื้นที่ที่ประชาชนฝากความหวังไว้ได้ โดยมีข้อเสนอหลัก 9 ข้อ ใน 4 หมวด

 

ซึ่งสรุปเป็น 9 ข้อเสนอหลักในร่างข้อบังคับ ‘สภาก้าวหน้า’ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพ เพิ่มความโปร่งใส รับประกันความเป็นธรรม และเชื่อมโยงประชาชน ดังนี้

 

  1. สภาฉับไว: ตัดกลไกที่ทำให้การพิจารณากฎหมายล่าช้าโดยไม่จำเป็น
  2. สภามีความหมาย: เพิ่มกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรี โดยผู้นำฝ่ายค้านและสมาชิก
  3. สภาเข้มแข็ง: ให้คณะกรรมาธิการที่สำคัญต่อการตรวจสอบมีประธานมาจากพรรคฝ่ายค้าน
  4. สภาเปิดเผย: ถ่ายทอดสดการประชุมกรรมาธิการ เปิดเผยข้อมูลแบบวิเคราะห์ต่อได้
  5. สภาดิจิทัล: จัดทำระบบติดตามสถานะร่างกฎหมายและข้อปรึกษาหารือ
  6. สภายุติธรรม: ลดดุลพินิจประธานสภาในการวินิจฉัยญัตติด่วน
  7. สภาเสมอภาค: กำหนดไม่ให้มีการอภิปรายที่ยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ
  8. สภาประชาชน: Fast Track กฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชน และเพิ่มสิทธิการเสนอญัตติ
  9. สภาสากล: แปลกฎหมายทุกฉบับเป็นภาษาอังกฤษเพื่อเชื่อมโยงกับประชาคมโลก

 

โดยสมาชิกสภาที่อภิปรายสนับสนุนการแก้ไขข้อบังคับการประชุมฯ ให้เหตุผลว่าเป็นการยกระดับการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ รับประกันความเป็นธรรม และเชื่อมโยงกับประชาชน เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรคือที่ทำงานของตัวแทนประชาชน และเป็นที่พึ่งของประชาชน เมื่อศึกษาเปรียบเทียบกับสภาในหลายประเทศ สภาของประเทศไทยยังมีกลไกหลายประการที่ยังไม่ทันสมัย

 

ส่วนสมาชิกสภาที่อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขข้อบังคับการประชุมฯ เนื่องจากยังไม่เห็นด้วยกับหลายประเด็น เพราะยังไม่มีความเหมาะสม ไม่สมเหตุสมผล เช่น การลงมติในทางลับเป็นไปตามความจำเป็น หากแก้ไขให้เป็นการลงคะแนนแบบเปิดเผยจะเป็นการกดดันผู้ลงคะแนน และควรใช้เสียงกึ่งหนึ่งในการวินิจฉัยว่าจะเป็นการลงคะแนนแบบลับหรือแบบเปิดเผย

 

ส่วนการจำกัดการเป็นประธานคณะกรรมาธิการบางคณะตามที่ผู้เสนอญัตติเสนอมานั้น เป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของสมาชิก

ต่อมา ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปราย ระบุว่า เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันได้ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล จึงต้องการให้มีการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมฯ นี้ร่วมกัน โดยขอให้สภาส่งให้คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาในระยะเวลา 60 วัน ก่อนจะส่งกลับมายังสภาอีกครั้ง

 

ขณะที่ ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สส. เลย พรรคเพื่อไทย เสนอว่า ที่ประชุมควรลงมติโดยไม่ต้องส่งไปที่คณะกรรมาธิการฯ

 

ซึ่งที่ประชุมมีมติไม่เห็นชอบญัตติของณัฐพงษ์ ที่ขอให้ส่งร่างข้อบังคับการประชุมฯ ให้คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาด้วยคะแนน 223 เสียง

 

จากนั้นเป็นการลงมติเพื่อรับหลักการร่างข้อบังคับการประชุมฯ ที่พริษฐ์เป็นผู้เสนอ โดยมีผู้แสดงตน 332 คน แต่ปรากฏว่าช่วงการลงมติมีจำนวนผู้ลงมติจำนวน 228 เสียง มีมติเห็นชอบ 1 เสียง ไม่เห็นชอบ 223 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง และไม่ลงคะแนน 4 เสียง

 

ที่ประชุมมีการถกเถียงระยะหนึ่ง ก่อนที่ประธานในที่ประชุม ปดิพัทธ์ สันติภาดา จะวินิจฉัยว่า เพื่อให้เป็นไปตามบรรทัดฐานในอดีตที่ ชวน หลีกภัย อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เคยปฏิบัติในการวินิจฉัยองค์ประชุม โดยวินิจฉัยว่าองค์ประชุมในการลงมติครบองค์ประชุม แต่การลงมติเพื่อรับหลักการร่างพระราชบัญญัติต้องอาศัยเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ไม่สามารถใช้เสียงข้างมากได้ ปดิพัทธ์จึงสั่งปิดการประชุมทันที

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising