×

อั้นต้นทุนไม่ไหว สินค้าพาเหรดขึ้นราคา! ‘มาม่า’ อาจขึ้นเป็นซองละ 7-8 บาท ด้าน ‘สปอนเซอร์’ ปรับเป็น 12 บาท มีผลเดือน พ.ค. นี้

28.04.2022
  • LOADING...
ขึ้นราคา

ผลพวงที่มาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ และน้ำมัน ทำให้สินค้าอั้นต้นทุนไม่ไหวต้องพาเหรดขึ้นราคาในเดือนพฤษภาคม ไม่ว่าจะเป็น ‘มาม่า’ อาจขึ้นเป็นซองละ 7-8 บาท ด้าน ‘สปอนเซอร์’ ที่เล็งปรับราคาขึ้นเป็น 12 บาท ยังมี ‘เนสกาแฟ’ ที่จะปรับขึ้นอีกกระป๋องละ 2 บาท

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ขึ้นแน่ ‘มาม่า’

แหล่งข่าวดีลเลอร์รายหนึ่งให้ข้อมูลกับ THE STANDARD WEALTH ได้รับแจ้งจากตัวแทนจำหน่ายถึงนโยบาย ‘มาม่า’ ที่อาจปรับราคาขายปลีกขึ้นเป็นซองละ 7-8 บาท จากเดิมปรับขึ้น 1 บาทมาขาย 6 บาทต่อซองเมื่อ 15 ปีที่แล้ว

 

“ราคาดังกล่าวยังเป็นแค่เพียงการคาดเดา ซึ่งราคาอย่างเป็นทางการยังไม่ได้รับแจ้ง แต่ตอนนี้ราคาส่งได้เพิ่มจาก 855-860 บาทต่อลัง มาเป็น 890 บาท โดยราคาปลีกยังเท่าเดิม” ดีลเลอร์กล่าว

 

​​

ขึ้นราคา

 

ก่อนหน้านี้ เวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) หรือ SPC กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH “ผมคิดว่ามาม่าน่าจะต้องปรับขึ้นราคาหากภาครัฐอนุญาต เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงที่ปรับขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 40% ทั้งน้ำมันปาล์ม แป้งสาลี”

 

แต่ถึงจะขึ้นราคาเวทิตก็เชื่อว่า “กำลังซื้ออาจจะไม่หายไป เพราะยุคนี้การจะทำให้อิ่มท้องและอร่อยต้องใช้เงินกว่า 30 บาท เพราะฉะนั้นมาม่าจึงเป็นสิ่งที่คุ้มค่าคุ้มราคาสำหรับ 1 มื้อ” 

 

อย่างไรก็ตามด้วยความเสี่ยงจาก 1. การเปลี่ยนแปลงราคาต้นทุนวัตถุดิบ 2. ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวแรงผิดคาด 3. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค และ 4. การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

 

ทำให้ บล.หยวนต้า ได้ปรับประมาณการกำไรปี 2565 ของบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA ซึ่งเป็นผู้ผลิตมาม่าลง 7-8% เป็น เป็น 3.5 พันล้านบาท (-0.2%YoY) และ 3.8 พันล้านบาท (+8.8%YoY) ในปี 2566

 

นอกจากมาม่าแล้ว หนึ่งในคู่แข่งของสังเวียนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่าง ‘ไวไว’ ก็เตรียมปรับขึ้นราคาเช่นเดียวกัน โดยดีลเลอร์กล่าวว่า ราคาจะขึ้นจากลังละ 700 กว่าบาทเป็น 800 กว่าบาท ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาปลีกขึ้นเช่นเดียวกัน

 

‘สปอนเซอร์’ เตรียมปรับเป็น 12 บาท

ดีลเลอร์กล่าวต่อว่า สินค้าอื่นๆ ก็เตรียมปรับขึ้นเช่นกัน อย่าง ‘สปอนเซอร์’ รูปแบบขวดแก้วขนาด 250 มิลลิลิตร ราคา 10 บาท จะปรับขึ้นเป็น 12 บาท ซึ่งราคาขายส่งจะปรับเพิ่มจาก 210 บาทต่อลังเป็น 240 บาท

 

สำหรับสปอนเซอร์เป็นสินค้าที่อยู่ภายใต้กลุ่มธุรกิจ TCP ซึ่งอ้างว่า เป็นแบรนด์เครื่องดื่มสปอร์ตดริงก์อันดับ 1 ของประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 90% ซึ่งมีมูลค่าตลาดอยู่ราว 5 พันล้านบาท

 

สปอนเซอร์

 

กลางปี 2564 ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจ TCP เพิ่งเปิดตัวสินค้าใหม่ ‘สปอนเซอร์ โก’ (Sponsor GO) โดยเป็นบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ ขวดใหญ่ขึ้นในขนาด 420 มิลลิลิตร ราคา 15 บาท

 

การออกสินค้าใหม่ในครั้งนั้นกลุ่มธุรกิจ TCP หวังว่าจะเป็นปัจจัยที่เข้ามาผลักดันให้ยอดขายรวมภายใต้แบรนด์สปอนเซอร์โต 7% ในปี 2564

 

‘คาราบาวแดง’ ก็ขึ้นราคาขายส่งด้วย

ด้าน ‘คาราบาวแดง’ จะปรับขึ้นเล็กน้อยจาก 415-420 บาทต่อลัง เป็น 430-435 บาทต่อลัง ในขณะที่ราคาขายปลีกนั้นยังตรึงที่ 10 บาทเท่าเดิม

 

แม้คาราบาวแดงซึ่งเป็นเบอร์ 2 ในตลาดจะขอตรึงราคาขายปลีกอยู่ แต่ผู้นำตลาดอย่าง ‘M-150’ ได้ชิงขึ้นราคาขายปลีกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จาก 10 บาทเป็น 12 บาท โดยอ้างว่ามีการปรับแพ็กเกจจิ้งและสูตรใหม่เพิ่มปริมาณวิตามินบี 12 สองเท่า 

 

คาราบาวแดง

 

สินค้าใหม่นี้ได้วางเกมการตลาดที่เน้นสร้างการรับรู้แบรนด์ผ่านมิวสิกมาร์เก็ตติ้ง และสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง พร้อมดึง ‘เจ ชนาธิป และ อุ้ม ธีราทร’ ร่วมเป็นพรีเซ็นเตอร์กับ ‘ตูน บอดี้สแลม’ ที่เป็นมาก่อนแล้ว 

 

บล.หยวนต้า ประเมินว่า กำไรสุทธิของ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP ในไตรมาส 2/65 จะกลับมาฟื้นตัวที่ระดับ 900 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากการเริ่มทยอย Migrate สินค้าจากขวดละ 10 บาทเป็น 12 บาทมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน อาจจะมีผลกระทบเรื่องการลองเปลี่ยนไปดื่มแบรนด์อื่นที่ราคา 10 บาทบ้าง แต่มีทั้งที่เปลี่ยนไปใช้แบรนต์ของคู่แข่งและแบรนด์ของ OSP

 

อย่างไรก็ตามหยวนต้ามองว่าการปรับขึ้นราคาเป็นกลยุทธ์ที่ดีในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะสามารถทำให้ใช้เครื่องมือส่งเสริมการขายได้หลากหลาย เพื่อกระตุ้นลูกค้าให้บริโภคสินค้าในกลุ่ม 12 บาทมากขึ้นได้ เช่นที่เคยเกิดขึ้นกับ C-vitt แม้ว่าจะขึ้นราคาสูงกว่าคู่แข่งซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนไปลองแบรนด์อื่นในช่วงแรก แต่สุดท้ายด้วยรสชาติที่คุ้นเคยทำให้ C-vitt กลับมาเติบโตได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising