×

เอกชนห่วงดิจิทัลวอลเล็ตสะดุด ปัญหา Geopolitics และการเมืองโลก ฉุดภาคอุตสาหกรรมไทย

17.01.2024
  • LOADING...

ประธานสภาอุตสาหกรรมห่วงความไม่ชัดเจนและยังไม่มีข้อสรุปของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตและงบประมาณที่ล่าช้าของรัฐบาลกระทบการลงทุนเอกชน หวังมาตรการ Easy e-Receipt กระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศควบคู่ ชี้ปี 2567 ภาคอุตสาหกรรมเผชิญความท้าทายทั้งต้นทุนผลิต ภาวะเศรษฐกิจไทย ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และวิกฤตทะเลแดงที่กระทบภาคการส่งออก  

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ความไม่ชัดเจนและยังไม่มีข้อสรุปของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลที่คาดการณ์ว่าอาจจะสะดุดหรือล่าช้าออกไปนั้น เอกชนมองว่า ภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นควบคู่เพื่อกระตุ้นให้เร็วขึ้น เนื่องจากงบประมาณปี 2567 ก็ล่าช้าออกไปกว่า 8 เดือนแล้ว 

 

“โครงการที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณรัฐชะลอออกไปหมด ปัญหาการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง ภาคการก่อสร้างชะลอตัวลง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างของภาครัฐ ส่งผลให้ความต้องการใช้สินค้าวัสดุก่อสร้างลดลง มีผลต่ออุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องได้รับผลกระทบ สะท้อนไปถึงบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง และหนี้ครัวเรือนที่ยังทรงตัวในระดับสูง” 

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการ Easy e-Receipt ซึ่งเป็นมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับปี 2567 จะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567

 

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง เนื่องจากภาคการผลิตชะลอลงและกำลังซื้อของผู้บริโภคยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ดังนั้นดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้ายังคงอยู่ที่ระดับ 96.2 ปรับตัวลดลงจาก 97.3 ในเดือนพฤศจิกายน

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

จับตาปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองโลก

 

นอกจากนี้ภาคเอกชนยังคงจับตาการส่งออกจากกรณีกลุ่มฮูตีในเยเมนโจมตีเรือขนส่งสินค้าพาณิชย์ที่แล่นผ่านทะเลแดง ส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าของไทย โดยเฉพาะสินค้าระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป 

  

เนื่องจากอัตราค่าระวางเรือและค่าเบี้ยประกันความเสี่ยงปรับตัวเพิ่มขึ้น 3,000-5,000 ดอลลาร์ รวมถึงระยะเวลาในการเดินทางที่ล่าช้าออกไปอย่างน้อย 14 วัน 

 

โดยสินค้าไทยที่ส่งออกไปยุโรป ได้แก่ กลุ่มคอมพิวเตอร์ รถยนต์ อัญมณี จักรยานยนต์ ไก่แปรรูป และเครื่องจักรกลเกษตร ส่วนสินค้านำเข้าจากยุโรป ได้แก่ ยาและเวชภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ แผงวงจร รวมทั้งเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ล้วนได้รับผลกระทบจากค่าโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้น  

 

“ภาคอุตสาหกรรมปี 2567 ยังคงเผชิญความท้าทายทุกด้าน ทั้งภาวะเศรษฐกิจไทยและโลกที่ยังมีความผันผวนจากทั้งปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และสงคราม, สถานการณ์การเมืองโลก โดยเฉพาะการเลือกตั้งในประเทศสำคัญที่จะจัดขึ้นในปีนี้, สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่จะยังยืดเยื้อและอาจรุนแรงขึ้น และผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change)” 

 

ลุ้นปัจจัยที่มีผลต่อภาคอุตสาหกรรม ปี 2567

 

  • อานิสงส์จากความต้องการสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว 
  • เป้าหมายการบรรลุความตกลงการค้าเสรี (FTA) 
  • ความผันผวนของค่าเงินบาทที่อยู่ในระดับต่ำและมีอัตราเหมาะสมทั้งผู้ส่งออก / ผู้นำเข้า 
  • แนวโน้มคำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป จีน และ GCC 
  • ผู้ประกอบการได้มีการลงทุนใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเนื่องจากมีราคาที่ถูกลง โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ เพื่อลดต้นทุนด้านค่าไฟฟ้า
  • ทิศทางราคาวัตถุดิบปรับตัวลดลงจากปัญหาขาดแคลนที่คลี่คลาย และมีการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ ทดแทน

 

6 ข้อกังวลและข้อเสนอรัฐบาล

 

  1. ขอให้กรมสรรพากรเร่งประชาสัมพันธ์และอำนวยความสะดวกร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็ก ในการยื่นคำขอออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax) เพื่อให้สามารถเข้าร่วมโครงการ Easy e-Receipt ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสในการขายสินค้าและบริการ

 

  1. ทิศทางค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูง และปัญหาหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) 

 

  1. การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราที่สูงเกินไป ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต

 

  1. ดูแลต้นทุนทางการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูงจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ

 

  1. ผลกระทบจากสินค้าที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาตีตลาดลูกค้าในกลุ่มอาเซียน กระทบต่อการค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

 

  1. จับตาปัญหามาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTM / NTB) เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM)
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X