×

‘เศรษฐกิจไทยปี 67 ศักยภาพด้อยลง’ กกร. หวังแบงก์ชาติปรับลดดอกเบี้ยตามทิศทาง Fed ลุ้น Easy e-Receipt และท่องเที่ยว ดัน GDP โต 2.8-3.3%

10.01.2024
  • LOADING...

การประชุม กกร. นัดแรกปี 2567 รับปีนี้เศรษฐกิจไทยโตตามศักยภาพแบบด้อยลง ประเมิน GDP ไทยปี 2567 เติบโต 2.8-3.3% ส่วนเงินเฟ้อเริ่มลดเหลือ 0.7-1.2% มองปมร้อนดอกเบี้ยธนาคาร ธปท. ควรปรับลดลงตามทิศทางธนาคารกลางสหรัฐฯ พร้อมแนะรัฐบาลสางหนี้ทั้งในและนอกระบบ ตั้งกองทุนสนับสนุนสินเชื่อ พยุงภาค SMEs  

 

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวได้ในกรอบประมาณการเดิมที่ 2.8-3.3% (ประมาณการ GDP ปี 2567 ยังไม่รวมผลของมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต) ผ่านแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 

 

เช่น โครงการ Easy e-Receipt และภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 33-34 ล้านคน ส่วนภาคการส่งออกยังคงอยู่ในกรอบ 2-3% 

 

ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่องจากนโยบายลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ส่งผลให้ประมาณการเงินเฟ้อปรับลดลงอยู่ในกรอบ 0.7-1.2% จากก่อนนี้ประมาณการไว้ที่ 1.7-2.2%

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

หวั่นเหตุโจมตีทะเลแดงซ้ำเติมต้นทุน

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนมากขึ้นจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ได้นำไปสู่การโจมตีเรือสินค้าในบริเวณคลองสุเอซและทะเลแดง ทำให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้นกดดันต้นทุนการผลิต จึงต้องเฝ้าติดตามผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยที่พึ่งพาตลาดยุโรป ได้แก่ สินค้าเกษตรและอาหาร สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่สงครามรัสเซียและยูเครนยังไม่มีข้อยุติเช่นกัน 

 

รวมถึงความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในหลายประเทศปีนี้ เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน รัสเซีย และสหรัฐฯ ยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัว  

 

“ปีนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามศักยภาพ แต่มีแนวโน้มด้อยลงและยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงในรูปแบบ K-Shape ยังมีบางกลุ่มที่รายได้ไม่ฟื้นตัวและมีกำลังซื้ออ่อนแอ จึงจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในระดับกลางและระดับล่าง” สนั่นกล่าว

 

จี้รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 อุ้มภาค SMEs 

 

สนั่นกล่าวอีกว่า รัฐบาลควรเร่งเบิกจ่ายงบประมาณโดยในระหว่างรองบประมาณปี 2567 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และควรหารือกับรัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการนำงบประมาณลงทุนที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่แล้วเร่งใช้งานไปพลางก่อน เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อเนื่อง  

 

ที่สำคัญควรมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนสินเชื่อในการทำธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง โดยรัฐบาลควรจัดตั้งกองทุนในระยะแรกก่อน แล้วนำดอกเบี้ยหรือได้เงินมาบริหารหมุนเวียนในกองทุนให้ตรงตามวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ SMEs โดยมีความยืดหยุ่นในการขอหลักประกันได้ 

 

สำหรับหนี้นอกระบบที่เป็นปัญหาของการเข้าถึงสินเชื่อและนำเอาหนี้นอกระบบทางการค้าเข้ามาอยู่ในระบบอย่างถูกต้อง จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยที่เป็นต้นทุนสูงได้  

   

“ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเป็นระดับสูงสุดแล้ว ในระยะข้างหน้าควรปรับทิศทางให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศและการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่มีแนวโน้มลดลงในปีนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่มีมากขึ้นจากทั้งในและนอกประเทศ ขณะที่เงินเฟ้อมีความผันผวน โดยมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องในกรอบ 0.7-1.2%” สนั่นย้ำ 

 

Price-To-Book (P/B) Ratio ธุรกิจใน SET100 ปรับลดลง

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า  รัฐบาลต้องเร่งขับเคลื่อนและสานต่อการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง 6 ด้านที่ กกร. เคยเสนอ ได้แก่ 

 

  1. Competitiveness 
  2. Ease of Doing Business 
  3. Digital Transformation 
  4. Human Development 
  5. SMEs 
  6. Sustainability 

 

เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพมาหลายปีและลดลง สะท้อนจากมุมมองนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่อศักยภาพและความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจไทย จาก Price-To-Book (P/B) Ratio ของธุรกิจใน SET100 ปรับลดลงในปี 2566 ขณะที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์มี  Price-To-Book (P/B) Ratio อยู่ในระดับต่ำ 

    

ดังนั้นปัญหาเชิงโครงสร้างจำเป็นต้องเร่งแก้ไข เช่น ด้าน Competitiveness ควรเร่งเจรจาข้อตกลงทางการค้า FTA ที่ดำเนินการอยู่ให้แล้วเสร็จ รวมถึงแก้ปัญหาน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ด้าน Ease of Doing Business ควรปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

 

และจำเป็นต้องผันเศรษฐกิจนอกระบบมาอยู่ในระบบ เศรษฐกิจนอกระบบของไทยมีขนาดใหญ่เกินไป เป็นต้นตอของหลายปัญหา โดยมีขนาดใหญ่ถึง 47.6% ต่อ GDP สูงกว่าประเทศคู่เทียบและมีแรงงานนอกระบบมากถึง 51% ของแรงงานทั้งหมด ขณะที่ยังขาดข้อมูลที่เชื่อถือได้ 

 

หนี้นอกระบบท่วมกว่าแสนล้านบาท

 

โดยขนาดของหนี้นอกระบบที่ข้อมูลทางการระบุว่ามีราว 1 แสนล้านบาท แต่หากประเมินด้วยวิธีอื่นอาจสูงถึงราว 3-4 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ IMF พบว่า การมีเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพ เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ และมีความเหลื่อมล้ำสูง  

 

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลดภาระต้นทุนทางการเงินให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ณ ปัจจุบันยังมียอดภาระหนี้ที่สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลืออีกกว่า 3.4 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า 6.1 ล้านบัญชี และตั้งแต่สถานการณ์โควิด มีต้นทุนทางเครดิตที่เกิดขึ้นในระบบธนาคารพาณิชย์มูลค่ารวมกว่า 6 แสนล้านบาท หรือราว 6% ของสินเชื่อ อีกทั้งสถาบันการเงินจะยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลช่วยเหลือลูกค้าตรงกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising