โรงเรียนอนุบาลเอกชนในจีนเริ่มทยอยปิดตัว โอดเจอปัญหาขาดทุนสะสม เผยเด็กสมัครเรียนลดลงต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี สอดรับกับจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แม้รัฐบาลกระตุ้นนโยบายมีลูกก็ไม่ช่วยอะไร เพราะการแต่งงานไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับวัยหนุ่มสาวอีกต่อไป
South China Morning Post รายงานว่า ปัจจุบันโรงเรียนอนุบาลเอกชนในประเทศจีนซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งถ้าเทียบกับตลาดโรงเรียนเอกชนในจีน เริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาเด็กเข้ามาลงทะเบียนลดลงต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี โดยสาเหตุหลักๆ มาจากอัตราการเกิดของเด็กในประเทศน้อยลง ประกอบกับการสมัครเข้าเรียนมีราคาค่อนข้างสูงถ้าเทียบกับโรงเรียนรัฐบาล ทำให้หลายแห่งมีรายได้ลดลง โดยบางรายเริ่มถึงขั้นขาดทุนต่อเนื่อง
Liu Dewei เจ้าของโรงเรียนอนุบาล Beilei กล่าวว่า โรงเรียนอนุบาล Beilei ในหรงเซียนทางตอนใต้ของจีน ซึ่งเป็นเขตที่มีประชากร 656,000 คน แต่มีเด็กเข้ามาลงทะเบียนเรียนเพียง 140 คน และในปี 2020 เริ่มลดลงเหลือ 30 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ประชากรจีนหดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 60 ปี หลังปีที่ผ่านมาอัตราการเกิดต่ำกว่าการตาย
- เศรษฐีจีนมุ่งสู่สิงคโปร์ หนีนโยบาย ‘Common Prosperity’ ขนเงินลงทุน 62.5 ล้านบาท แลกสัญชาติถาวร
- เมื่อการมีครอบครัวไม่ใช่ตัววัดความสำเร็จ ‘ชาว Gen Z’ โดยเฉพาะ ‘ผู้หญิง’ ในแดนมังกร จึงไม่อยาก ‘แต่งงานและมีลูก’ มากขึ้น
โดยช่วงแรกคาดว่าเป็นผลมาจากวิกฤตโควิด แต่หลังจากปักกิ่งยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด สถานการณ์ก็ยังไม่ปรับตัวดีขึ้นและเริ่มส่งผลกระทบต่อสถานภาพทางการเงิน จึงต้องพิจารณาปิดโรงเรียนอนุบาล
ด้าน Liu เจ้าของโรงเรียนอนุบาลจากกว่างซีจ้วง กล่าวว่า ภายในโรงเรียนเริ่มควบคุมค่าใช้จ่ายและไม่ลงทุนกับอุปกรณ์การเรียนการสอน ซึ่งหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นอาจต้องปิดตัวลงภายในปี 2023
จากข้อมูลของภาครัฐระบุว่า จำนวนเด็กแรกเกิดในจีนลดลงอย่างมากถ้าเทียบจากปี 2016 ที่มีเด็กแรกเกิด 18.8 ล้านคน ขณะที่ปี 2022 มีเด็กแรกเกิดเพียง 9.5 ล้านคน ถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์
ด้านคุณแม่ลูกสองที่อาศัยอยู่ในเซี่ยงไฮ้ฉายภาพว่า ในช่วงที่พาลูกๆ ทั้งสองคนในช่วงอายุที่ห่างกันไปสมัครเรียน ในแต่ละปีเริ่มเห็นจำนวนการลงทะเบียนเรียนในโรงเรียนอนุบาลลดลง ยิ่งไปกว่านั้น โรงเรียนได้ลดพื้นที่จัดการเรียนการสอนลงด้วยเช่นกัน
ศาสตราจารย์ Yuan Xin ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์จาก School of Economics มหาวิทยาลัยหนานไค กล่าวว่า แม้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจะเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีลูกได้ 3 คนต่อ 1 ครอบครัว ผ่านแรงจูงใจทั้งการให้เงินสด สวัสดิการลาคลอดและการลาเลี้ยงดูบุตรได้นานขึ้น
“แต่นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้วัยหนุ่มสาวตัดสินใจมีลูก เพราะการเลี้ยงดูเด็กหนึ่งคนต้องแบกรับต้นทุนอย่างมาก”
แน่นอนว่าจีนเดินทางมาถึงขั้นวิกฤตจากจำนวนประชากรลดลง เพราะเด็กมีอัตราการเกิดลดลงต่ำกว่า 10 ล้านคน ซึ่งถือว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากปัจจุบันการแต่งงานไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นสำหรับวัยหนุ่มสาวอีกต่อไป
สอดคล้องกับรายงานสถิติของจีนประจำปี 2022 จำนวนคนที่แต่งงานครั้งแรกลดลงเหลือ 11.6 ล้านคน ซึ่งถือว่าลดลงจากสถิติสูงสุดที่ 23.9 ล้านคน ในปี 2013
ขณะที่ Xiong Bingqi ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการศึกษา เตือนว่า จากปัญหาโครงสร้างประชากรที่ลดลงอาจเป็นตัวแปรให้โรงเรียนอนุบาลขนาดใหญ่ในหลายพื้นที่ของจีนต้องปิดตัวลง หากรัฐบาลไม่เข้ามาช่วยสนับสนุนให้กับโรงเรียนอนุบาลทุกแห่งทั่วประเทศ
ทั้งนี้ อาจเป็นไปได้ว่าโรงเรียนอนุบาลเอกชนประมาณ 30-50% จะมีการปิดตัวลงภายในปี 2030 จากปัญหาจำนวนนักเรียนที่ลดลงและขาดสภาพคล่องทางการเงิน
ภาพ: Chen Yusheng / VCG via Getty Images
อ้างอิง: