×

“คำว่า Print journalist จะหายไป” มองสื่อวันนี้ผ่านสายตา สุทธิชัย หยุ่น เมื่อ พ.ศ. 2537

03.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • สุทธิชัย หยุ่น เขียนเชิงพยากรณ์เกี่ยวกับสถานการณ์สื่อในบทความ วันนั้น คนอ่านจะคุมข่าวสารเอง เมื่อ พ.ศ. 2537 ว่า สื่อทุกสื่อมาอยู่ที่ปลายนิ้วของผู้บริโภค, คำว่า Print journalist จะหายไป และโลกในอนาคตคือโลกแห่งระบบ Digital ที่ ‘สาร’ ทุกอย่างสามารถแปรเป็น ‘ภาษาคณิตศาสตร์’ และจะมาในรูปของข้อความภาพและเสียงได้ทั้งสิ้น

ปี 2018 เปิดศักราชด้วยข่าวร้ายของสำนักข่าวเนชั่น หลังสงครามหุ้น NMG หรือ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จบลงด้วยชัยชนะของกลุ่ม NEWS เจ้าของทีวีดิจิทัล สปริงนิวส์ และหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

 

เท่ากับว่าอำนาจบริหารอย่างเบ็ดเสร็จที่เคยอยู่ในมือ สุทธิชัย หยุ่น ถูกโยกไปในมือผู้บริหารค่ายอื่น

 

ส่วนสถานการณ์สื่อไทยยังคงไม่นิ่งและน่าเป็นห่วง การจากไปของนิตยสาร ‘คู่สร้างคู่สม’ เมื่อ พ.ศ. 2560 คือหมุดหมายการสิ้นยุคของสื่อสิ่งพิมพ์

 

การปรับตัวสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ของสื่อต่างๆ ทั้งทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ คือประเด็นใหญ่ตลอดปีที่ผ่านมา และน่าจะต่อเนื่องตลอดปี 2561 เพราะทุกสื่อเชื่อว่าการปรับตัวสู่ ‘ออนไลน์’ จะนำมาซึ่งความหวังใหม่และทางออกจากวิกฤต

 

วิกฤตที่ครั้งหนึ่ง สุทธิชัย หยุ่น ปรมาจารย์ด้านสื่อมวลชนของประเทศไทย (ที่เพิ่งสูญเสียอำนาจการบริหารในบริษัทที่ตัวเองเป็นผู้ก่อตั้ง) เขียนเชิงพยากรณ์และสะกิดเตือนไว้ในบทความ วันนั้น คนอ่านจะคุมข่าวสารเอง เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 หรือ 23 ปีที่แล้ว ก่อนการมาถึงของสึนามิในโลกสื่อมวลชนไทยว่าให้ระวัง ‘Future Shock’

 

แม้อนาคตเป็นเรื่องยากจะคาดเดา แต่เรื่องที่เขียนในบทความชิ้นดังกล่าวกลับให้ภาพตรงกับความเป็นจริงวันนี้จนน่าขนลุก!

 

…ผมแอบโบยบินไปในอนาคตเมื่อเสาร์-อาทิตย์ก่อน และไปเห็นสื่อสารมวลชนอนาคตแล้ว บอกได้เพียงคำเดียวว่า “ทุกคนต้องเซ่อหมด…”

 

การเรียกร้องให้มีสื่อทุกสื่อมาอยู่ที่ปลายนิ้วของผู้บริโภค เลือกจะอ่าน ดู หรือฟังข่าวและข้อมูล รวมไปถึงความบันเทิงเริงรมย์โดยที่ไม่ต้องให้ใครมากำหนดหรือสั่งการและยัดเยียดหรือเบียดบังนั้นไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันกันอีกต่อไปแล้ว

 

ที่ ‘ห้องทดลองสื่ออนาคต’ ของมหาวิทยาลัยเอ็มไอที (MIT) อันเลื่องลือนั้น เขากำลังทำให้เรื่องอย่างนี้เป็นจริงขึ้นมาได้อย่างน่ามหัศจรรย์ 

 

ตอนหนึ่งเขาพูดถึงคำว่า ‘Digital’ ก่อนที่หลายคนจะรู้จักและสนใจในอีกหลายปีต่อมา

 

โลกนี้คือโลกแห่งระบบ Digital ที่กำลังจะเปลี่ยนโลกแห่งข่าวสารจากหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่ว่า ‘สาร’ นั้นจะเป็นอย่างไร ทุกอย่างสามารถแปรเป็น ‘ภาษาคณิตศาสตร์เหมือนกันหมด’ และจะมาในรูปของข้อความภาพและเสียงได้ทั้งสิ้น

 

นั่นย่อมหมายความว่าเมื่อภาพ ข้อความ และเสียง นำมาแปรเป็นภาษาเดียวกันและส่งผ่านสื่อเดียวได้ทั้งหมด

 

ก่อนจะกล่าวเตือน ‘เพื่อนร่วมอาชีพ’ ให้เตรียมรับมือกับบทบาทที่จะเปลี่ยนไปในอนาคตอันใกล้

 

นักหนังสือพิมพ์เย่อหยิ่งอหังการจะต้องเรียนรู้ว่า ต่อไปนี้จะต้องมีความถ่อมตนเป็นอย่างยิ่ง เพราะบทบาทของคนเขียนข่าว คนจัดหน้า คนพาดหัว คนเขียนคอลัมน์ ก็จะลดน้อยถอยลงไปถนัดตา

 

คนทำวิทยุและนักทีวีก็จะต้องเรียนรู้คนดู คนชม คนฟัง ไม่จำเป็นต้องมานั่งทนดูท่านอยู่หน้าจอ ไม่ต้องทำอะไรตามที่ท่านต้องการให้เขาทำให้เขาฟังหรือเขาดูอีกต่อไป เพราะผู้บริโภคภายใต้สังคมแห่งเทคโนโลยีใหม่นั้นจะตัดสินใจเองด้วยเครื่องเล็กๆ ที่นิ้วมือว่าจะฟัง หรือจะอ่าน หรือจะดูอะไร และดูเมื่อไรได้อย่างที่ไม่มีใครไปกำหนดได้อย่างปัจจุบันอีกต่อไป

 

คำว่า Print journalist จะหายไป คำว่า Radio หรือ TV journalist ก็จะหมดความหมายไปเช่นกัน จะมีก็แต่ Multimedia หรือ Digital journalist ซึ่งจะต้องสำนึกว่าข่าวและข้อมูลทุกชิ้นนั้นเขามีหน้าที่ทำให้ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด และกว้างไกลที่สุดเท่านั้น แต่ไม่มีสิทธิหรือหน้าที่ที่จะบอกผู้บริโภคว่าข่าวนี้ต้องใหญ่ ข่าวนั้นต้องเล็ก ข่าวนี้คุณอ่านทีหลัง อ่านข่าวนี้ก่อน

 

คนทำหนังสือพิมพ์ ทำข่าววิทยุ และทำข่าวทีวีวันนี้ต้องเริ่มทำความเข้าใจกับตัวเองและเตรียมรับกับสภาพ ‘Future Shock’ หรือ ‘ช็อกแห่งอนาคต’ ได้ในไม่ช้าไม่นานนี้ เพราะการค้นคว้าด้านนี้ได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่เคยคาดคิด

 

ในช่วงท้ายบทความ สุทธิชัย หยุ่น ได้เขียนถึงหนังสือ ‘สื่อมวลชนในอนาคต’ (Understanding Hypermedia) ที่เพิ่งวางตลาดและกำลังโด่งดังไปทั่วอเมริกาในเวลานั้น โดยตั้งข้อสังเกตว่าจะไม่ให้คนทำหนังสือพิมพ์วันนี้ (พ.ศ. 2537) แตกตื่นได้อย่างไร เพราะเมื่อเปิดไปที่ดัชนีท้ายเล่ม คำว่า Journalism หรือ ‘วิชาชีพหนังสือพิมพ์’ ไม่ปรากฏร่องรอยให้เห็นอีกเลย

 

บรรทัดสุดท้ายเขาได้เขียนท้าทายคนอ่าน ซึ่งอาจหมายรวมถึงเพื่อนร่วมอาชีพในเวลานั้น โดยกลัดวงเล็บไว้ที่ข้อความสุดท้ายว่า

 

(ตัดบทความนี้ไว้ อีกห้าปีอ่านใหม่จะได้ไม่อุทานว่า “เอ็งอย่าเพ้อเจ้อ…”)

 

นับจากบทความตีพิมพ์หลังจากนั้น 5 ปี (พ.ศ. 2542) คนจะกล่าวหาว่าสุทธิชัย หยุ่น เพ้อเจ้อหรือไม่ ไม่รู้

 

แต่ที่แน่ๆ วินาทีนี้ของ พ.ศ. 2561 ใครหาว่าเขาเพ้อเจ้ออาจจะต้องจับไปวัดไข้เช็กความดันกันสักหน่อย

 

ส่วนอนาคตในปี 2561 จะเป็นอย่างไรก็คงเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดาเหมือนเคย แต่สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนคือ ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ซึ่งสุทธิชัย หยุ่น เขียนถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าคิด…

 

ไม่มีใครตอบว่ามันเป็นสิ่งที่ดีกว่า และไม่มีใครยืนยันได้ว่ามันจะเลวกว่า แต่ที่แน่นอนก็คือมันเป็นสิ่งที่เราท่านหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

อ้างอิง:

  • บทความ ‘วันนั้น คนอ่านจะคุมข่าวสารเอง’ จากหนังสือ ‘หมาเฝ้าบ้าน’ โดย สุทธิชัย หยุ่น, สำนักพิมพ์ เดอะเนชั่น (พิมพ์ครั้งที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2537)
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X