×

อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร แหล่งเรียนรู้ วิจัย พัฒนาดาราศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย เปิดให้บริการ 1 ก.พ. นี้

22.01.2020
  • LOADING...

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เตรียมเปิด ‘อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร’ บนพื้นที่ 54 ไร่ บริเวณอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนับเป็นแหล่งเรียนรู้ทางดาราศาสตร์ครบวงจรแห่งใหม่แห่งที่ 4 และใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอุทยานฯ วันที่ 27 มกราคม 2563 ก่อนเปิดให้บริการประชาชนอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป

 

 

ทางด้าน ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมถึงรายละเอียดของอุทยานแห่งนี้ว่า อุทยานดาราศาสตร์สิรินธรจะมีความพิเศษแตกต่างจาก 3 สถานที่ที่เปิดก่อนหน้านี้ อย่างหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา, นครราชสีมา และสงขลา เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ทำให้อุทยานฯ เป็นสถานที่รองรับการดำเนินงานตามภารกิจหลัก 3 ประการ ได้แก่

 

  • การศึกษาค้นคว้าวิจัยดาราศาสตร์

 

 

  • การพัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์

 

 

  • การบริการวิชาการและสื่อสารดาราศาสตร์

 

 

“อุทยานดาราศาสตร์สิรินธรจะเป็นศูนย์รวมศิลปวิทยาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของดาราศาสตร์ โดยจะเป็นแหล่งค้นคว้า ศึกษา วิจัย บ่มเพาะ และสร้างนักวิจัยดาราศาสตร์ รวมถึงยังทำให้กลายเป็นศูนย์บริการด้านข้อมูล ฝึกอบรม ถ่ายทอดเทคโนโลยีดาราศาสตร์ต่างๆ อีกทั้งยังทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการด้านดาราศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ให้จังหวัดเชียงใหม่กลายเป็นเมืองหลวงด้านดาราศาสตร์ของไทยและศูนย์กลางของอาเซียน”

 

 

นอกจากนี้ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ระบุเพิ่มเติมว่า อาคารที่ตั้งในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธรแห่งนี้ยังมีขึ้นเพื่อการทำงานที่หลากหลายกว่า เป็นแหล่งการเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วย

 

  1. อาคารสำนักงานใหญ่ มีเพื่อวิจัยและพัฒนา ห้องปฏิบัติการทัศนศาสตร์, ศูนย์ดาราศาสตร์วิทยุ, ศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์, ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุดดาราศาสตร์, ศูนย์อบรมดาราศาสตร์นานาชาติ, และส่วนงานสนับสนุนภารกิจหลัก
  2. อาคารปฏิบัติการพัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์ขั้นสูง ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการเมคาทรอนิกส์ ห้องปฏิบัติการการขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง รวมถึงห้องปฏิบัติการเคลือบกระจก
  3. อาคารท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการ ประกอบด้วย ส่วนท้องฟ้าจำลองระบบดิจิทัล 360 องศา ความละเอียดสูงสุด 8k ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 17 เมตร ความจุ 160 ที่นั่ง และส่วนนิทรรศการดาราศาสตร์แบบมีปฏิสัมพันธ์ 19 โซน เช่น การสำรวจระบบสุริยะ, เสียงแห่งเอกภพ, การเกิดเฟสดวงจันทร์ ฯลฯ
  4. อาคารหอดูดาว ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ด้านข้างเป็นระเบียงดาวมีหลังคาแบบเลื่อนเปิดออกได้ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กและขนาดกลางจำนวน 5 ชุด สำหรับให้บริการดูดาวและถ่ายภาพวัตถุบนท้องฟ้า
  5. ลานกิจกรรมอเนกประสงค์กลางแจ้ง สำหรับจัดกิจกรรมเกี่ยวกับดาราศาสตร์เพื่อให้บริการประชาชนอย่างเต็มที่

 

 

“สุดท้ายสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สถานที่แห่งนี้จะไม่เป็นเพียงสถานที่ที่ใช้ในการปฏิบัติงานตามภารกิจหลักของสถาบัน แต่ยังเป็นพื้นที่ช่วยสร้างความตระหนัก และความตื่นตัวสร้าง แรงบันดาลใจ สร้างการรับรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นในสังคม พร้อมพัฒนาคนให้มีกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุและเป็นผล สร้างบุคคลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเป็นรากฐานให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ต่อไป” ดร.ศรันย์กล่าวทิ้งท้าย

 

ภาพจากกล้องดูดาวของอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร

 

ทั้งนี้ กำหนดการเปิดให้ประชาชนทั่วไปเยี่ยมชมอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จะมีขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีกำหนดการให้บริการดังนี้

 

อาคารนิทรรศการดาราศาสตร์

อังคาร – ศุกร์ เปิดให้บริการเวลา 09.00 – 16.00 น.

เสาร์ – อาทิตย์ เปิดให้บริการเวลา 10.00 – 17.00 น.

หยุดทุกวันจันทร์

 

อาคารท้องฟ้าจำลอง: มีกำหนดการเรียนรู้ชมท้องฟ้าและดวงดาว 30 นาที และชมภาพยนตร์เกี่ยวกับดาราศาสตร์อีก 30 นาที มีอัตราการเข้าชมแบ่งเป็น 

นักเรียน-นักศึกษา 30 บาท และ บุคคลทั่วไป 50 บาท โดยมีกำหนดรอบฉาย ดังนี้

อังคาร – ศุกร์ รอบฉาย 11.00 น. และ 14.00 น.

เสาร์ รอบฉาย 11.00 น. / 14.00 น. และ 17.00 น.

อาทิตย์ รอบฉาย 11.00 น. และ 14.00 น.

หยุดทุกวันจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X