×

ส่องดราม่าหนังสือ ‘ตัวสำรอง’ ของเจ้าชายแฮร์รี แฉเรื่องลับสะเทือนราชวงศ์อังกฤษ ใครได้-ใครเสีย?

10.01.2023
  • LOADING...
Prince Harry

หนังสือบันทึกความทรงจำความยาว 416 หน้า ในชื่อ ‘Spare’ หรือ ‘ตัวสำรอง’ ที่สะท้อนเรื่องราวชีวิตและบทบาทของเจ้าชายแฮร์รีแห่งราชวงศ์อังกฤษ ในฐานะ ‘รัชทายาทสำรอง’ วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในสหราชอาณาจักรและหลายประเทศทั่วโลกแล้วในวันนี้ (10 มกราคม) โดยมีผู้คนจำนวนมากให้ความสนใจสั่งซื้อ แม้ว่าเนื้อหาอัน ‘อื้อฉาว’ ในหนังสือจะรั่วไหลออกมาก่อน และถูก The Guardian และสื่อหลายสำนักตีข่าวกันอย่างครึกโครมตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ในขณะที่เจ้าชายแฮร์รียังเดินสายโปรโมตหนังสือผ่านหลายรายการโทรทัศน์ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

 

หลายเรื่องราวที่เจ้าชายแฮร์รีเปิดเผยในหนังสือเล่มนี้ เป็นเรื่องลับที่น่าตกตะลึงและทำให้พระองค์ถูกมองว่า กำลังสุมไฟเผา ‘ภาพลักษณ์’ อันสวยงามของครอบครัวราชวงศ์อังกฤษ ที่ครั้งหนึ่งพระองค์เคยเป็นสมาชิกชั้นสูง ก่อนจะตัดสินพระทัยสละฐานันดรศักดิ์ ไปพร้อมกับ เมแกน มาร์เคิล พระชายา เพื่อแสวงหาชีวิตที่สงบสุขนอกอังกฤษ

 

แต่การตีแผ่เนื้อหาชีวิตอีกด้านของพระองค์ที่มีทั้งเรื่องราวดำมืดอย่างการใช้ยาเสพติด การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก การสังหารศัตรูในฐานะทหาร และข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงต่อพระเชษฐา คือเจ้าชายวิลเลียม ดูจะตรงกันข้ามกับสิ่งที่พระองค์วาดหวังไว้ 

 

ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พระองค์นำเรื่องราวชีวิตในรั้ววังบางส่วนมาตีแผ่ต่อสาธารณะ หลังจากที่เคยทำไปแล้วในซีรีส์สารคดี Netflix และการให้สัมภาษณ์กับสื่อใหญ่หลายสำนัก

 

และนี่คือประเด็นสำคัญทั้งหมดจากหนังสือ ‘Spare’ ตลอดจนผลกระทบและแง่มุมต่างๆ ที่จะตามมาทั้งต่อเจ้าชายแฮร์รีและราชวงศ์อังกฤษ

เจ้าชายแฮร์รีกล่าวหาว่าเจ้าชายวิลเลียมทำร้ายร่างกาย

 

หนึ่งในคำกล่าวอ้างที่รุนแรงที่สุด คือข้อกล่าวหาของเจ้าชายแฮร์รีที่ระบุว่า เจ้าชายวิลเลียม พระเชษฐา ผลักเขาให้ล้มลงบนพื้นระหว่างการโต้เถียงเรื่องเมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์

 

การวิวาทและทำร้ายร่างกายตามที่กล่าวหา เกิดขึ้นภายในพระตำหนักน็อตติงแฮมในพระราชวังเคนซิงตัน โดยเจ้าชายแฮร์รีเขียนในหนังสือว่า เจ้าชายวิลเลียมทรงเรียกเมแกนว่า ‘ยาก’, ‘หยาบคาย’ และ ‘ไม่สนใจใคร’

 

หลังจากนั้นทั้งสองพระองค์ต่างโต้เถียงและสาดคำสบประมาทใส่กัน ในขณะที่เจ้าชายแฮร์รีระบุว่า ช่วงหนึ่งเจ้าชายวิลเลียมทรงอ้างว่ากำลังพยายามช่วยพระองค์ ทำให้เจ้าชายแฮร์รีย้อนถามกลับไปว่า “พี่จริงจังใช่ไหม? ช่วยผม? ขอโทษนะ นั่นคือสิ่งที่พี่เรียกเหรอ? ช่วยผม?”

 

เนื้อความในหนังสือระบุว่า การโต้เถียงที่เกิดขึ้นทำให้เจ้าชายวิลเลียมเดือดดาล ซึ่งเจ้าชายแฮร์รีพยายามบรรเทาความตึงเครียดด้วยการยื่นแก้วน้ำให้พระเชษฐา และตรัสว่า “วิลลี่ ผมพูดกับพี่ไม่ได้ ถ้าหากพี่เป็นแบบนี้”

 

“เขาวางแก้วน้ำลง เรียกชื่อผมอีกครั้ง แล้วเดินมาหาผม ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก เร็วมาก” เจ้าชายแฮร์รีระบุ “เขาจับคอเสื้อผม กระชากสร้อยผมจนขาด และผลักผมล้มลงกับพื้น ผมล้มลงบนชามอาหารของสุนัข ซึ่งแตกอยู่ใต้หลังผม เศษชิ้นส่วนบาดตัวผม ผมนอนนิ่งงุนงงอยู่ครู่หนึ่ง จากนั้นจึงลุกขึ้นยืนและบอกให้เขาออกไป”

 

ขณะที่เจ้าชายวิลเลียมพยายามบอกให้เจ้าชายแฮร์รีตอบโต้ โดยอ้างว่าพวกเขาเคยทะเลาะกันตอนเด็กๆ แต่เจ้าชายแฮร์รีปฏิเสธ ก่อนที่เจ้าชายวิลเลียมจะเสด็จออกจากพระตำหนักไป แล้วกลับมาด้วยท่าทีเสียใจและแสดงความขอโทษ 

 

ซึ่งเจ้าชายแฮร์รียังระบุว่า พระเชษฐาได้ตรัสต่อพระองค์ว่า “นายไม่จำเป็นต้องบอกเมก (เมแกน) เกี่ยวกับเรื่องนี้” ก่อนที่พระองค์จะถามกลับไปว่า “หมายถึงที่พี่ทำร้ายผมเหรอ?” แต่เจ้าชายวิลเลียมทรงตอบกลับว่า “พี่ไม่ได้ทำร้ายนาย” 

คำขอร้องของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

 

ในช่วงต้นของหนังสือ เจ้าชายแฮร์รีระบุถึงช่วงที่เสด็จกลับสหราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก ภายหลังสละการเป็นสมาชิกชั้นสูงของราชวงศ์ในช่วงเดือนเมษายนปี 2021 เพื่อร่วมพิธีพระศพของเจ้าชายฟิลิป พระสวามีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

 

โดยนั่นเป็นครั้งแรกที่เจ้าชายแฮร์รี ได้กลับมาพบกับพระบิดา ซึ่งในตอนนี้คือสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พร้อมกับเจ้าชายวิลเลียม หลังจากที่พระองค์และเมแกนได้ให้สัมภาษณ์อันอื้อฉาวกับพิธีกรชื่อดังอย่าง โอปราห์ วินฟรีย์

 

“ดังนั้น แม้ว่าผมจะบินกลับบ้านไปโดยเฉพาะ เพื่อร่วมงานศพของพระอัยกา แต่ในระหว่างที่อยู่ที่นั่น ผมได้ขอประชุมลับกับวิลลี พระเชษฐา และพระบิดา เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ในหลายสิ่ง และเพื่อหาทางออก” เจ้าชายแฮร์รีระบุในหนังสือ

 

“ผมพยายามอธิบายด้านของผม ผมไม่ได้ดีที่สุด สำหรับคนที่เริ่มพูดก่อน ผมยังคงประหม่า พยายามต่อสู้เพื่อควบคุมอารมณ์ ในขณะเดียวกันก็พยายามพูดให้กระชับและแม่นยำ”

 

อย่างไรก็ตาม เจ้าชายแฮร์รีระบุต่อว่า พระองค์ทรงพบว่าพระเชษฐาและพระบิดา ‘เตรียมพร้อมสำหรับการทะเลาะ’ ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงบรรยากาศตึงเครียดกับพระเชษฐาที่ยังอยู่ในระดับสูง และคำพูดของพระบิดาที่ตรัสขอร้องต่อพระโอรสทั้งสองว่า “อย่าทำให้ปีสุดท้ายของพ่อต้องพบกับความทุกข์ยาก”

 

ขณะที่เนื้อความที่ปรากฏนั้นยังเผยว่า เจ้าชายแฮร์รีและเจ้าชายวิลเลียมทรงเรียกกันและกันว่า ‘วิลลี’ และ ‘แฮร์โรลด์’

เจ้าชายแฮร์รี-วิลเลียม ขอร้องพระบิดาไม่ให้อภิเษกสมรสกับคามิลลา

 

อีกหนึ่งประเด็นคือการที่เจ้าชายแฮร์รีและเจ้าชายวิลเลียมบอกกับพระบิดาว่า อย่าอภิเษกสมรสกับคามิลลา ซึ่งปัจจุบันคือสมเด็จพระราชินีคามิลลา เนื่องจากกลัวว่าจะเป็น ‘แม่เลี้ยงที่เลวร้าย’

 

“ผมจำได้ว่าก่อนดื่มชา ผมสงสัยว่าเธอจะใจร้ายกับผมไหม ถ้าเธอเป็นเหมือนแม่เลี้ยงใจร้ายในหนังสือนิทาน แต่เธอไม่ได้เป็น เช่นเดียวกับวิลลี ผมรู้สึกขอบคุณจริงๆ” เจ้าชายแฮร์รีเขียนในหนังสือ และระบุว่าทั้งพระองค์และพระเชษฐาเรียกคามิลลาว่า ‘ผู้หญิงอีกคน’

 

“แม้ผมกับวิลลีจะขอร้องไม่ให้พระบิดาอภิเษกสมรส พระบิดายังทรงเดินหน้าต่อไป เราจับมือพระองค์และอวยพรให้พระองค์โชคดี ไม่มีความรู้สึกหนักใจใดๆ เราตระหนักได้ว่า ในที่สุด พระองค์กำลังจะได้อยู่กับผู้หญิงที่พระองค์รัก ผู้หญิงที่พระองค์รักมาตลอด โชคชะตาอาจกำหนดไว้ให้พระองค์ตั้งแต่แรก ไม่ว่าความขมขื่นหรือความเศร้าโศกอะไรก็ตามที่เรารู้สึก กับการปิดฉากวงจรในเรื่องราวของพระมารดา (เจ้าหญิงไดอานา) เราเข้าใจว่ามันอยู่นอกประเด็น”

สังหาร 25 ศพในอัฟกานิสถาน แค่ ‘หมากรุก’

 

เจ้าชายแฮร์รีอ้างว่าทรงสังหารประชาชนในอัฟกานิสถาน 25 คน ขณะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนักบินเฮลิคอปเตอร์อาปาเชแห่งกองทัพอังกฤษ โดยทรงตรัสว่า “ท่ามกลางการสู้รบที่ร้อนระอุ พระองค์มองเป้าหมายเป็น ‘หมากรุก’ มากกว่าผู้คน”

 

เจ้าชายแฮร์รีได้เสด็จไปประจำการในอัฟกานิสถาน 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2007-2008 และอีกครั้งระหว่างปี 2012-2013 

 

ขณะที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเฮลิคอปเตอร์และคอมพิวเตอร์ ทำให้เจ้าชายแฮร์รีตรัสได้อย่างมั่นใจว่า ‘จะสังหารศัตรูกี่คน’ ได้อย่างแม่นยำ และชี้ว่า ‘จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไม่ละอายต่อจำนวนศัตรูที่สังหารไป’

 

“ดังนั้น หมายเลขของผม 25 ไม่ใช่ตัวเลขที่ทำให้ผมพึงพอใจแต่อย่างใด แต่ก็ไม่ได้เป็นตัวเลขที่ทำให้ผมรู้สึกละอายใจ”

 

เจ้าชายแฮร์รียังระบุว่า พระองค์ไม่คิดว่าศัตรูทั้ง 25 คนที่สังหารไปนั้นเป็นคน “คุณไม่สามารถฆ่าคนได้ หากคุณคิดว่าพวกเขาเป็นคน คุณไม่สามารถทำร้ายคนอื่นได้ หากคุณคิดว่าพวกเขาเป็นคน พวกเขาคือตัวหมากรุกที่ถูกดึงออกจากกระดาน คนเลวทั้งหลายถูกสังหารไปก่อนที่พวกเขาจะฆ่าคนดี ผมได้รับการฝึกฝนอย่างดีให้มองพวกเขา ‘เป็นอย่างอื่น’ ในระดับหนึ่ง ผมตระหนักดีว่า การเรียนรู้เรื่องการแยกแยะในเรื่องนี้เป็นปัญหา แต่ผมก็เห็นว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการทหารที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”

 

คำพูดดังกล่าวยังจุดชนวนการวิพากษ์วิจารณ์จากหน่วยงานความมั่นคงและกองทัพของอังกฤษ รวมถึงเสียงประณามด้วยความโกรธแค้นจากกลุ่มตาลีบัน

การใช้ยาเสพติดและการสูญเสียพรหมจรรย์ช่วงวัยรุ่น

 

เจ้าชายแฮร์รีซึ่งตอนนี้อาศัยอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียกับเมแกนและลูกทั้งสองคน ยอมรับในหนังสือว่า เคยเสพโคเคนตั้งแต่อายุ 17 ปี ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ของฤดูร้อนในปี 2002 

 

“แน่นอน ผมเคยเสพโคเคนในช่วงเวลานี้ ที่บ้านในชนบทของใครสักคน ในช่วงสุดสัปดาห์ มีคนเสนอให้ และผมก็เสพอีก 2-3 ครั้งหลังจากนั้น” เจ้าชายแฮร์รีระบุ แต่ชี้ว่า “มันไม่สนุกเลย แต่มันทำให้ผมรู้สึกแตกต่าง

 

“นั่นคือเป้าหมายหลัก รู้สึกแตกต่าง ผมเป็นเด็กชายวัย 17 ที่ไม่มีความสุขอย่างสุดซึ้ง เต็มใจที่จะลองทำทุกอย่างที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอยู่”

 

ก่อนหน้านี้ เจ้าชายแฮร์รีเคยยอมรับว่าเสพยาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ในปี 2002 เมื่อพระองค์ยังเป็นเด็กนักเรียนอายุ 16 ปี พระองค์ถูกกล่าวหาว่าดื่มสุราและเสพกัญชาทั้งที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ขณะที่คำสารภาพของพระองค์ทำให้พระบิดาส่งพระองค์ไปยังศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติดเป็นเวลาหนึ่งวัน

 

นอกจากนี้ เจ้าชายแฮร์รียังเปิดเผยเรื่องราวลับส่วนพระองค์ เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก โดยระบุว่า พระองค์สูญเสียพรหมจรรย์ให้กับหญิงสาวที่อายุมากกว่าคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนที่รักม้ามาก และปฏิบัติต่อพระองค์ไม่ต่างจากม้าหนุ่ม

 

“ท่ามกลางหลายสิ่งหลายอย่างที่ผิดพลาด มันเกิดขึ้นในทุ่งหญ้าหลังผับที่มีผู้คนพลุกพล่าน แน่นอนว่ามีบางคนเห็นเรา” เจ้าชายแฮร์รีระบุ 

ความขุ่นเคืองระหว่าง ดัชเชสเมแกน-เจ้าหญิงแคเธอรีน

 

ในส่วนหนึ่งของหนังสือบันทึกความทรงจำ เปิดเผยว่า เมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์ ทำให้เจ้าหญิงแคเธอรีน พระชายาในเจ้าชายวิลเลียม ไม่พอพระทัย เนื่องจากระบุว่า พระองค์ต้องมีภาวะ ‘สมองเด็ก’ (Baby Brain) อันเป็นภาวะของสมาธิหรือความจำบกพร่องที่อาจเกิดกับผู้หญิงในระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังคลอดบุตร ซึ่งเมแกนระบุว่าเกิดขึ้นจากฮอร์โมน ภายหลังเจ้าหญิงเคททรงมีพระประสูติกาล

 

เจ้าชายแฮร์รีระบุในหนังสือ โดยอธิบายการพบปะระหว่างพระองค์กับเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงเคท ณ พระตำหนักของพวกเขาในปี 2018 ซึ่งมีความพยายามเพื่อจะฟื้นฟูบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักของทั้งสองฝ่าย

 

ขณะที่เจ้าชายแฮร์รีอ้างว่า เจ้าหญิงเคททรงเรียกร้องคำขอโทษจากเมแกนที่ทำให้พระองค์ไม่พอพระทัย โดยบอกต่อเมแกนว่า “เราไม่ได้สนิทกันมากพอที่คุณจะพูดถึงฮอร์โมนของฉัน!”

 

นอกจากนี้ เจ้าชายแฮร์รีระบุว่า พระเชษฐาทรงตรัสเรียกเมแกนว่า ‘หยาบคาย’ และชี้นิ้วของพระองค์ไปที่เธอ โดยบอกว่า “นี่ไม่ใช่สิ่งที่ทำในอังกฤษ” ก่อนที่เมแกนจะตอบกลับไปว่า “กรุณาเอานิ้วออกไปจากหน้าฉันด้วย”

 

“เมกบอกว่าเธอไม่มีทางมีเจตนาทำอะไรเพื่อทำร้ายเคท และถ้าเธอได้เคยทำ เธอขอให้เคทช่วยบอกให้เธอรู้ เพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก” เจ้าชายแฮร์รีระบุ และชี้ว่า ‘พวกเขาทั้งหมดกอดกัน’ หลังจากนั้น

เจ้าชายวิลเลียม-เจ้าหญิงเคท เบื้องหลังปมเครื่องแบบนาซี

 

เนื้อหาในหนังสือยังกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เป็นข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการสวมชุดนาซีของเจ้าชายแฮร์รีเพื่อไปงานปาร์ตี้ในปี 2005 โดยเจ้าชายแฮร์รีอ้างว่า การตัดสินใจสวมชุดดังกล่าวได้รับอิทธิพลมาจากเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงเคทที่สนับสนุนให้เขาทำเช่นนั้น 

 

เจ้าชายแฮร์รีเปิดเผยรายละเอียดของเรื่องราวว่า ในตอนนั้น พระองค์กำลังชั่งใจว่าจะสวมเครื่องแต่งกายแบบใดเพื่อไปงานเลี้ยง และได้เรียกเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงเคทมาถามความคิดเห็น ซึ่งพวกเขาบอกให้สวมเครื่องแบบนาซีทับชุดนักบิน

 

ประเด็นดังกล่าว กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก หลังหนังสือพิมพ์ The Sun แท็บลอยด์ชื่อดังของสหราชอาณาจักร ตีพิมพ์ภาพหน้าหนึ่ง เป็นภาพของเจ้าชายแฮร์รีขณะสวมปลอกแขนเครื่องหมายสวัสดิกะ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์นาซีบนเสื้อแจ็กเก็ตทหารเยอรมนีในงานเลี้ยงแฟนซี โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น 2 สัปดาห์ก่อนวันครบรอบ 60 ปี การปลดปล่อยค่ายกักกันเอาชวิทซ์

 

ในเวลานั้น เจ้าชายแฮร์รีรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และออกมาขอโทษผ่านทางสำนักงานสื่อของพระตำหนักแคลเรนซ์ (Clarence House Press Office) โดยระบุว่า “พระองค์เสียใจมากหากเป็นต้นเหตุให้เกิดการล่วงละเมิดหรือความอึดอัดใจต่อใครก็ตาม”

 

ขณะที่คำกล่าวอ้างใหม่ของแฮร์รีที่ระบุว่า พระเชษฐาและพระเชษฐนีของพระองค์มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น ตรงกันข้ามกับคำขอโทษต่อสาธารณะก่อนหน้านี้ ซึ่งพระองค์ยอมรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่เพียงผู้เดียว

 

พระบิดายินดี ได้ ‘รัชทายาทสำรอง’

 

ความไม่พอใจของเจ้าชายแฮร์รีในการเป็น ‘ตัวสำรอง’ เป็นแก่นเรื่องในหนังสือของพระองค์ผ่านเนื้อหาในหลายบท เกี่ยวกับช่วงชีวิตวัยเด็ก การเรียน อาชีพในฐานะราชวงศ์และในกองทัพอังกฤษ ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับพระบิดา พระมารดา และพระเชษฐา และชีวิตรักของพระองค์กับเมแกน 

 

ข้อความหนึ่งที่เจ้าชายแฮร์รีระบุถึงปมการเป็นตัวสำรอง คือการที่พระบิดาตรัสต่อเจ้าหญิงไดอานาในวันที่มีพระประสูติกาลเจ้าชายแฮร์รี โดยตรัสว่า “วิเศษมาก ตอนนี้คุณได้ให้ทายาทและตัวสำรองแก่ผมแล้ว งานของผมลุล่วงแล้ว”

 

ขณะที่สำนักพระราชวังอังกฤษทั้งเคนซิงตันและบักกิงแฮม ไม่มีการให้ความเห็นใดๆ ต่อเรื่องนี้

จำลองการเดินทางของพระมารดาผู้ล่วงลับ

 

เจ้าชายแฮร์รียังได้เล่าถึงเรื่องราวการจำลองการเดินทางของพระมารดา เจ้าหญิงไดอานา ที่สิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ระหว่างเดินทางผ่านอุโมงค์ในกรุงปารีสเมื่อปี 1997 ซึ่งขณะนั้นเจ้าชายแฮร์รีมีพระชนมายุเพียง 12 พรรษา

 

โดยพระองค์ระบุว่า ทรงได้รับเชิญไปยังปารีสเพื่อเข้าร่วมงานแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลก รอบรองชนะเลิศ ในปี 2007 ซึ่งในคืนแรกที่ไปถึง พระองค์ได้ถามคนขับรถว่ารู้จักอุโมงค์ Pont de l’Alma ที่รถของเจ้าหญิงไดอานาประสบอุบัติเหตุหรือไม่ ก่อนจะขอให้คนขับรถขับด้วยความเร็ว 65 ไมล์ต่อชั่วโมง (104.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ซึ่งเป็นความเร็วของรถพระมารดา ตามที่ตำรวจระบุในขณะเกิดอุบัติเหตุ 

 

ซึ่งพระองค์ขอให้คนขับรถจำลองการขับผ่านอุโมงค์ดังกล่าวถึง 2 ครั้ง และเปิดเผยว่า พระองค์คิดว่า “การขับรถเข้าไปในอุโมงค์จะทำให้ความเจ็บปวดสิ้นสุดลงหรือหยุดลงชั่วขณะ” แต่ตรงกันข้าม “มันกลับเป็นจุดเริ่มต้นของความเจ็บปวด”

คำอำลาแด่ควีนเอลิซาเบธที่ 2

 

สำหรับเรื่องราวการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เจ้าชายแฮร์รีเปิดเผยว่า เขาทราบข่าวอาการประชวรของพระอัยยิกาจากพระบิดาที่โทรหาเขาเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว

 

ในบันทึกความทรงจำ เจ้าชายแฮร์รีเล่าว่า พระองค์ได้ส่งข้อความไปหาพระเชษฐาเพื่อถามว่า เขากับเจ้าหญิงเคทจะเสด็จไปยังปราสาทบัลมอรัล ที่ประทับสุดท้ายของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 หรือไม่ และเสด็จไปเมื่อไร แต่เจ้าชายวิลเลียมไม่ได้ตอบกลับ

 

เจ้าชายแฮร์รีเล่าว่า หลังจากนั้นพระองค์ได้รับโทรศัพท์จากพระบิดาอีกครั้ง โดยบอกว่าพระองค์จะได้รับการต้อนรับในการเสด็จไปยังปราสาทบัลมอรัล แต่เมแกนนั้นจะไม่ได้รับการต้อนรับ

 

ขณะที่เจ้าชายแฮร์รียังเขียนว่าพระองค์ใช้เวลาส่วนใหญ่ในเที่ยวบินไปสกอตแลนด์จ้องมองไปที่ก้อนเมฆ โดยรำลึกถึงครั้งสุดท้ายที่ได้คุยกับพระอัยยิกา

 

“สี่วันก่อนหน้า คุยโทรศัพท์กันนาน เราได้คุยกันในหลายหัวข้อ แน่นอนเรื่องสุขภาพของพระองค์ ตลอดจนความวุ่นวายที่บ้านเลขที่ 10 (ทำเนียบนายกฯ อังกฤษ)” 

 

และเมื่อเครื่องบินเริ่มร่อนลง เจ้าชายแฮร์รีบอกว่า พระองค์ได้รับข้อความจากเมแกนที่ขอให้โทรหาเธอ จากนั้นจึงตรวจสอบกับเว็บไซต์ของ BBC

 

“พระอัยยิกาจากไปแล้ว พระบิดาขึ้นเป็นกษัตริย์” พระองค์เขียน 

 

ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น เจ้าชายแฮร์รีได้เข้าถวายอาลัยพระบรมศพของพระอัยยิกาภายในปราสาทบัลมอรัล โดยพระองค์เปิดเผยว่าได้เข้าไปทรงกระซิบบอกต่อพระอัยยิกา โดยหวังว่าพระอัยยิกาจะทรงมีความสุขที่ได้อยู่กับเจ้าชายฟิลิป พระสวามี

ไม่มีวันให้อภัย

 

แม้จะไม่มีการเปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าสำนักพิมพ์ Penguin Random House ผู้ตีพิมพ์หนังสือ Spare ได้จ่ายค่าจ้างล่วงหน้าแก่เจ้าชายแฮร์รีเป็นเงิน 20 ล้านดอลลาร์ ขณะที่เว็บไซต์ข่าวบันเทิง ET Canada รายงานว่า สัญญาเขียนหนังสืออัตชีวประวัติของเจ้าชายแฮร์รีนั้นจะมีถึง 4 ฉบับ ในค่าจ้างรวมสูงถึงราว 35-40 ล้านดอลลาร์

 

โดยเจ้าชายแฮร์รีนั้นเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่ช่วงที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ยังทรงมีพระชนม์ชีพ ซึ่งเป็นไปได้ว่าเนื้อหาในฉบับอื่นๆ อาจรวมถึงเรื่องราวในช่วงพระราชพิธีศพด้วย

 

ภายหลังจากมีการเผยแพร่เนื้อหาอื้อฉาวต่างๆ ในหนังสือบันทึกความทรงจำฉบับนี้ ทางสำนักพระราชวังอังกฤษหรือสมาชิกราชวงศ์ยังไม่มีการแสดงท่าทีหรือการออกแถลงการณ์ตอบโต้ใดๆ อย่างเป็นทางการ

 

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ว่า เจ้าชายแฮร์รีนำเรื่องราวส่วนพระองค์ในครอบครัวมาเปิดเผยให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้นั้น แน่นอนว่าจะสร้างความไม่พอใจและความกังวลแก่ราชวงศ์อังกฤษ โดยเฉพาะสมาชิกราชวงศ์ชั้นสูง 

 

เว็บไซต์ Vanity Fair รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับเจ้าชายวิลเลียม ระบุว่าพระองค์ทรงโกรธและจะไม่ยกโทษให้เจ้าชายแฮร์รี ที่นำบทสนทนาส่วนพระองค์และเรื่องราวเหตุวิวาทที่เกิดขึ้นระหว่างกันไปเผยแพร่และก่อความเสียหายแก่ราชวงศ์อังกฤษ 

 

ซึ่งเรื่องนี้ยังก่อให้เกิดปัญหา ‘ความไว้วางใจระหว่างพี่น้อง’ เนื่องจากเจ้าชายวิลเลียมทรงกังวลว่าการติดต่อสื่อสารใดๆ กับเจ้าชายแฮร์รีจะถูกนำมาเปิดเผยสู่สาธารณะ

แฉครอบครัว อาจเป็น ‘ผลร้าย’ มากกว่า ‘ผลดี’

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์ชี้ว่า การออกมาบอกเล่าถึงเรื่องราวด้านลบและปัญหาชีวิตในครอบครัวราชวงศ์ของเจ้าชายแฮร์รีและเมแกน ผ่านสื่อทั้งสารคดี หนังสือและการให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ต่างๆ ทำให้ประชาชนจำนวนมากเริ่มเฉยชาและไม่สนใจ เนื่องจากผู้คนทั่วไปต่างก็มีปัญหาครอบครัวของตนเองที่ต้องจัดการ ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยมีความเห็นอกเห็นใจต่อมหาเศรษฐีที่พร่ำบ่นว่าชีวิตของพวกเขานั้นลำบากแค่ไหน

 

คีแรน เอลส์บี ผู้อำนวยการ Media Global PR ในสหราชอาณาจักร มองว่าทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเจ้าชายแฮร์รีและเมแกนในการรักษาชื่อเสียงอันมัวหมองของพวกเขา คือการเก็บเรื่องราวปัญหาในครอบครัวไว้เป็นความลับ และควรหลีกหนีจากข้อกล่าวหาเชิงลบ คำสบประมาท และการโจมตีครอบครัวของพวกเขาเอง

 

พริสซิลา มาร์ติเนซ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง The Brand Agency มองว่า แม้การเป็นข่าวอย่างต่อเนื่องของเจ้าชายแฮร์รีและเมแกนอาจจะเป็น ‘กลยุทธ์’ แต่ในอีกทางหนึ่งก็อาจส่งผลลบย้อนกลับได้เช่นกัน โดยทำให้ชีวิตคู่ของทั้งสองนั้น ‘เหน็ดเหนื่อย’ และนำไปสู่วงล้อของหนูถีบจักร ‘ที่ไม่มีวันจบสิ้น’

 

สิ่งที่น่ากังวลจากการเอาเรื่องราวด้านลบของตนเองและครอบครัวออกมาตีแผ่สู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ยังทำลายภาพลักษณ์ส่วนตัวของพวกเขาและอาจกระทบต่อรายได้ในอนาคต และเมื่อหมดเรื่องราวที่จะแฉแล้ว ยังมีอะไรให้เป็นข่าวอีก

 

นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเรื่องเวลา โดยหนังสือของเจ้าชายแฮร์รีได้รับการตีพิมพ์หลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เพียงไม่นาน ซึ่งไม่ว่าประชาชนจะคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ พระราชพิธีศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็ทำให้สมาชิกราชวงศ์มีโอกาสแสดงคุณสมบัติต่างๆ เช่น ความรอบคอบ ความอดทน การยึดมั่นในหน้าที่และประเพณี

 

แต่สิ่งที่เจ้าชายแฮร์รีทำนั้นกลับตรงกันข้าม ด้วยการเปิดเผยทั้งบทสนทนาส่วนตัวในครอบครัว เรื่องราวความปวดร้าว ความรู้สึกเป็นตัวสำรองและไม่มีความสุขกับพฤติกรรมของพระบิดาและพระเชษฐา

 

ภาพ: Photo by James Manning/PA Images via Getty Images

อ้างอิง:

https://www.bbc.com/news/uk-64213852

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X