×

การแพ้คดีอีกครั้งของ เจ้าชายแฮร์รี กับชีวิตใหม่ที่ต้องยอมรับ

06.05.2025
  • LOADING...

แม้เจ้าชายแฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซ็กซ์ พระโอรสองค์เล็กของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งอังกฤษจะทรงประกาศลดบทบาทในฐานะพระราชวงศ์ที่ทรงงานตั้งแต่ปี 2020 ด้วยทรงประสงค์จะใช้ชีวิตอย่างสงบเงียบกับครอบครัว เพื่อจะได้ไม่ตกอยู่ในความสนใจของสังคมและสื่อมวลชนที่ทรงมองว่าล้วนแล้วแต่ไม่เป็นมิตรกับพระองค์และครอบครัว แต่ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา กลับยังคงปรากฏข่าวของเจ้าชายในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือและสารคดีที่ทรงถ่ายทอดเรื่องราว หรือข่าวคดีความต่างๆ รวมถึงข่าวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยราบรื่นกับราชวงศ์อังกฤษอยู่เสมอ

 

ในปี 2025 นี้ เรื่องราวของเจ้าชายแฮร์รีก็กลับมาเป็นข่าวดังอีกครั้ง เมื่อศาลอุทธรณ์ของอังกฤษได้มีคำพิพากษาในคดีที่เจ้าชายแฮร์รียื่นฟ้องว่า การดำเนินการของรัฐบาลโดยคณะกรรมการด้านการรักษาความปลอดภัยราชวงศ์และบุคคลสำคัญ (the Executive Committee for the Protection of Royalty and Public Figures : RAVEC) ซึ่งเห็นชอบให้ลดระดับการรักษาความปลอดภัยของเจ้าชายแฮร์รีลงนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลได้ตัดสินยืนตามศาลชั้นต้นว่า เมื่อเจ้าชายได้ลาออกจากการเป็นพระราชวงศ์ที่ทรงงานแล้ว สถานะของพระองค์ย่อมเปลี่ยนแปลงไป การดำเนินการของรัฐบาลจึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ทำให้ข้อเรียกร้องของเจ้าชายฟังไม่ขึ้น 

 

คำตัดสินดังกล่าวทำให้เรื่องราวเจ้าชายแฮร์รีกลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมโลกอีกครั้ง และไม่เพียงเท่านั้น เจ้าชายยังได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC สืบเนื่องจากคำตัดสินดังกล่าว โดยมีเนื้อหาสำคัญระบุถึงความรู้สึกของพระองค์และความสัมพันธ์ของพระองค์กับราชสำนักอังกฤษด้วย 

 

ความเป็นมาของคดี 

 

ก่อนการประกาศลดบทบาทในปี 2020 เจ้าชายแฮร์รีและครอบครัวซัสเซ็กซ์ได้รับความคุ้มครองด้านความปลอดภัยขั้นสูงสุด ซึ่งรวมถึงการมีตำรวจอารักขาและการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการป้องกันภยันตราย แต่เมื่อพวกเขาเลือกที่จะไม่ทรงงานเพื่อราชวงศ์ และประกาศว่าย้ายไปประทับที่ต่างประเทศ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเห็นชอบให้ลดระดับการคุ้มครองความปลอดภัยของเจ้าชายแฮร์รีลง โดยกำหนดว่า การรักษาความปลอดภัยให้แก่เจ้าชายในขณะที่กลับมายังประเทศอังกฤษนั้น จะต้องมีการแจ้งขอรับการคุ้มครองล่วงหน้า และจะได้รับการพิจารณาให้ใช้มาตรการต่างๆ ตามความเสี่ยงที่จะเกิดภยันตรายเป็นคราวๆ ไป โดยไม่ได้รับความคุ้มครองขั้นสูงสุดดังเดิม

 

เจ้าชายแฮร์รีทรงรู้สึกว่า การลดระดับการรักษาความปลอดภัยดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อพระองค์ จึงทรงฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลอังกฤษ ซึ่งศาลชั้นต้นได้ยกคำร้องดังกล่าวด้วยเหตุว่า การดำเนินการของรัฐบาลเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เจ้าชายจึงได้อุทธรณ์เรื่องดังกล่าว ซึ่งศาลอุทธรณ์ของอังกฤษ ได้มีคำพิพากษากรณีดังกล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา

 

เปิดคำพิพากษา เหตุใดเจ้าชายจึงแพ้คดี?

 

ศาลสูงอังกฤษมีความเห็นโดยสรุปได้ว่า เมื่อการดำเนินนโยบายหรือการใดๆ เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยให้แก่สมาชิกราชวงศ์และบุคคลสำคัญ เป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบร่วมกันของหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย, RAVEC และราชสำนัก และเรื่องดังกล่าวนั้นถือว่ามีความละเอียดอ่อนทางการเมืองอย่างยิ่ง ศาลจึงเคารพการตัดสินใจและจะไม่ก้าวล่วงการวินิจฉัยขององค์กรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะนั้นๆ 

 

เมื่อการตัดสินใจดำเนินการรักษาความปลอดภัยของ RAVEC เป็นผลที่สามารถทำความเข้าใจและคาดหมายได้จากการที่สถานะของเจ้าชายเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากไม่ได้ทรงงานเพื่อราชวงศ์แล้ว และทรงตัดสินพระทัยเดินทางออกไปประทับยังต่างประเทศ ทำให้อำนาจในการดูแลรักษาความปลอดภัยของเจ้าชายนั้นมีทั้งที่อยู่ในอำนาจและนอกเหนืออำนาจของ RAVEC โดยหากทรงอยู่ที่ต่างประเทศ ย่อมอยู่นอกเหนืออำนาจการรักษาความปลอดภัยของ RAVEC แต่หากทรงอยู่ในอังกฤษแล้ว RAVEC ย่อมมีอำนาจพิจารณาการรักษาความปลอดภัยของพระองค์ได้ตามความเหมาะสม 

 

ดังนั้น เมื่อ RAVEC ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการรักษาความปลอดภัย ได้พิจารณาแล้วว่า สถานะของเจ้าชายแฮร์รีได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้เขาย่อมไม่อาจได้รับความคุ้มครองดังที่เคยได้รับ การตัดสินใจเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยให้แก่เจ้าชายเเฮร์รีในขณะที่เดินทางกลับมาอังกฤษของ RAVEC นั้น จึงเป็นไปโดยชอบแล้ว

 

นอกจากนั้นแล้ว เซอร์จอฟฟรีย์ วอส ผู้พิพากษาในคดีนี้ยังได้กล่าวด้วยว่า แม้คำร้องของฝ่ายเจ้าชายจะแสดงถึงความรู้สึกคับข้องใจต่อความไม่เป็นธรรมที่ทรงได้รับ แต่ประเด็นดังกล่าวก็ไม่อาจใช้เป็นฐานทางกฎหมายที่จะคัดค้านหรือโต้แย้งการตัดสินใจของ RAVEC ได้ เนื่องจากสถานะของพระองค์ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วจากการประกาศไม่ทรงปฏิบัติงานเพื่อราชวงศ์และจะไม่ทรงพำนักในอังกฤษอีกต่อไป

 

ผลสำคัญจากคำพิพากษา

 

คำพิพากษาในคดีนี้จึงเท่ากับเป็นการยืนยันว่า การรักษาความปลอดภัยให้แก่เจ้าชายแฮร์รีนั้นจะไม่ได้เป็นไปในระดับสูงสุดดังเช่นที่พระราชวงศ์องค์อื่นๆ ได้รับตามปกติ โดยในกรณีของเจ้าชายนั้น จะต้องมีการประสานแจ้งล่วงหน้า และจะมีการพิจารณาระดับการรักษาความปลอดภัยให้ตามความเหมาะสม ซึ่งคาดกันว่า จะทรงได้รับการดูแลในระดับสูงเฉพาะเมื่อทรงกลับมาอังกฤษเพื่อปฏิบัติภารกิจอย่างเป็นทางการของราชวงศ์หรือประทับในเขตพระราชฐานเท่านั้น โดยไม่รวมถึงการเดินทางกลับมาเพื่อภารกิจส่วนพระองค์

 

หลายฝ่ายมองว่า ผลคำตัดสินดังกล่าวมีความเหมาะสมแล้ว เนื่องจากการดำเนินการรักษาความปลอดภัยของ RAVEC นั้น ได้รับการสนับสนุนจากเงินงบประมาณของรัฐบาลซึ่งมีที่มาจากภาษีของประชาชน ดังนั้น การปฏิบัติหน้าที่ของ RAVEC จึงควรเป็นไปเพื่อภารกิจของประเทศชาติและประชาชนเท่านั้น เมื่อเจ้าชายแฮร์รีทรงเลือกที่จะไม่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อราชสำนักหรืออีกนัยหนึ่งคือการไม่ปฏิบัติหน้าที่ในนามของประเทศแล้ว เขาจึงไม่สมควรได้รับการดูแลและคุ้มครองความปลอดภัยดังเช่นที่เคยได้รับอีก 

 

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้วยว่า การตัดสินใจฟ้องคดีดังกล่าวของเจ้าชายแฮร์รีอาจเป็นเรื่องที่ผิดพลาด เพราะนอกจากจะทำให้เกิดข้อขัดแย้งกับรัฐบาลแล้ว ยังทำให้รัฐบาลต้องเสียเวลาและเสียงบประมาณในการต่อสู้คดีกับพระองค์ ซึ่งสุดท้ายแล้ว ยังมีรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า การแพ้คดีในทั้งสองชั้นศาลของเจ้าชายแฮร์รี ยังส่งผลให้พระองค์อาจต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีทั้งของพระองค์เองและของรัฐบาลเป็นจำนวนเงินกว่า 1,500,000 ปอนด์ จึงเรียกได้ว่า ทรงมีแต่เสียกับเสียในเรื่องดังกล่าว

 

การให้สัมภาษณ์ BBC : ความพยายามในการต่อสู้หรือการขอคืนดีกับราชสำนัก?

 

หลังจากที่ศาลมีคำตัดสินดังกล่าว เจ้าชายแฮร์รีได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ด้วยท่าทีที่ดูไม่ปกตินัก โดยทรงกล่าวว่า การลดระดับการรักษาความปลอดภัยให้แก่พระองค์ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกดดันและกลั่นแกล้งจากการที่ทรงประกาศลดบทบาท ซึ่งทรงเชื่อว่าราชสำนักมีอิทธิพลสำคัญต่อการตัดสินใจเรื่องดังกล่าว และแม้ว่าจะไม่ได้ทรงปฏิบัติภารกิจเพื่อราชสำนักแล้ว แต่พระองค์ก็ยังคงมีสถานะเป็นสมาชิกราชวงศ์อยู่ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่พระองค์ไม่อาจสละหรือเปลี่ยนแปลงไปได้ (My status hasn’t changed. It can’t change. I am who I am.)

 

เจ้าชายทรงยืนยันว่า การที่พระองค์และครอบครัวไม่ได้รับการดูแลด้านปลอดภัยอย่างเต็มรูปแบบในขณะที่พำนักอยู่ในอังกฤษนั้น ย่อมส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุร้ายขึ้น ด้วยเหตุว่า พระองค์ได้ปฏิบัติภารกิจทางทหารเพื่อประเทศมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการไปร่วมรบในอัฟกานิสถาน ทำให้อาจถูกปองร้ายจากผู้ที่ไม่ประสงค์ดีได้ ก่อนที่จะทรงกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า พระองค์ทรงคิดถึงอังกฤษ และทรงไม่คิดว่าจะมีหนทางใดแล้วที่พระองค์และครอบครัวจะสามารถเดินทางกลับมาที่อังกฤษได้ (“I can’t see the world in which I would be bringing my wife and children back to the UK in this point.”)

 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังทรงแสดงท่าทีที่ประนีประนอมและอยากจะขอคืนดีกับราชสำนักอังกฤษ โดยทรงยอมรับว่า มีความไม่ลงรอยและความแตกต่างอย่างยิ่งระหว่างพระองค์กับสมาชิกคนอื่นในราชวงศ์ และทรงรู้ดีว่าสมาชิกบางคนไม่อาจให้อภัยแก่พระองค์ได้จากหลายๆ เรื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการที่พระองค์ทรงเขียนอัตชีวประวัติเรื่อง ‘ตัวสำรอง’ (“Spare”) แต่พระองค์ยังทรงหวังว่าจะทรงสามารถประนีประนอมและคืนดีกับพวกเขาได้ เพราะไม่มีประโยชน์อะไรแล้วที่จะต้องต่อสู้กันอีกต่อไป

 

นอกจากนั้น เจ้าชายยังทรงเปิดเผยเรื่องสำคัญว่าด้วยความสัมพันธ์ของพระองค์กับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระราชบิดาว่า ทรงไม่ได้พูดคุยกับพระเจ้าชาร์ลส์เลยนับแต่เกิดปัญหาการรักษาความปลอดภัยดังกล่าว แม้กระนั้นก็ตาม เจ้าชายยังทรงเชื่อว่า พระเจ้าชาร์ลส์ทรงมีอำนาจและสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้ผ่านพ้นไปได้ พร้อมกับทรงมีท่าทีรู้สึกสำนึกผิดต่อเรื่องที่เกิดขึ้น และกล่าวแสดงความรู้สึกเป็นห่วงพระราชบิดาว่า ไม่รู้ว่าจะทรงมีพระชนมายุยืนยาวไปอีกเท่าใด 

 

การออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยอารมณ์และท่าทีที่หลากหลายดังกล่าวจึงทำให้ชวนสงสัยถึงท่าทีของพระองค์ว่า พระองค์ยังทรงต้องการต่อสู้กับราชสำนักต่อไป หรือทรงต้องการแสดงออกถึงท่าทียอมรับผิดและต้องการ ‘ขอคืนดี’ กับราชสำนักอังกฤษ

 

ท่าทีที่เรียบเฉยของราชสำนักอังกฤษ

 

หลังการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวของเจ้าชายแฮร์รี สำนักพระราชวังอังกฤษได้ออกแถลงการณ์ถึงผลคำตัดสินของศาลในคดีดังกล่าวอย่างเรียบเฉยเพียงว่า เรื่องทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยนี้ได้รับการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนหลายครั้งแล้วโดยศาล ซึ่งต่างมีผลการตัดสินยืนยันเหมือนกันโดยตลอด 

 

ไม่กี่วันต่อมาจากนั้น สำนักพระราชวังอังกฤษได้แถลงอีกว่า ราชสำนักหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไม่มีเรื่องใดที่หันเหหรือทำลายความสนใจของสังคมจากงานเฉลิมฉลองเพื่อรำลึกถึงชัยชนะ ความเสียสละ และความสูญเสียที่เกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งปี 2025 นี้เป็นโอกาสพิเศษที่ครบรอบ 80 ปีของสงครามดังกล่าว อันแสดงให้เห็นเป็นนัยว่า เรื่องของเจ้าชายแฮร์รีไม่ควรเป็นประเด็นสำคัญที่สังคมต้องให้ความสนใจ

 

การมีท่าทีที่เรียบเฉยดังกล่าวย่อมไม่เป็นที่แปลกใจนัก เนื่องจากปัญหาที่วุ่นวายไม่จบสิ้นของเจ้าชายตลอด 5 ปีที่ผ่านมาย่อมต้องมีส่วนทำให้สมาชิกราชวงศ์ส่วนใหญ่รู้สึกเหนื่อยหน่ายและเจ็บปวด ซึ่งหากย้อนกลับไปในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งขณะเกิดปัญหาของเจ้าชายนั้น สมเด็จพระราชินีนาถทรงมีพระชนมายุกว่า 90 พรรษาแล้ว และเชื่อกันว่า พระองค์ต้องทรงพยายามทุกวิถีทางเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยความกังวลพระทัยยิ่ง การเปิดเผยเรื่องราวในหนังสือ “Spare” ที่เป็นการโจมตีสมเด็จพระราชินีคามิลลาและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ย่อมนำความไม่สบายพระทัยมาสู่พระเจ้าชาร์ลส์และเจ้าชายแห่งเวลส์ อันเป็นเหมือนการทำร้ายจิตใจคนในครอบครัวของเจ้าชายเอง รวมถึงผลกระทบต่อสัดส่วนการแบ่งภารกิจของสมาชิกราชวงศ์ เพราะการที่เจ้าชายแฮร์รีไม่ยอมปฏิบัติภารกิจอีกต่อไป ย่อมส่งผลให้สมาชิกราชวงศ์องค์อื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เข้าสู่วัยชราแล้ว ต้องรับภาระเพิ่มมากขึ้น

 

ก้าวต่อไปของเจ้าชายกับเส้นทางที่ไม่อาจหวนคืน?

 

มีผู้ตั้งข้อสังเกตต่อการขอคืนดีในครั้งนี้ของเจ้าชายแฮร์รีว่า เจ้าชายทรงดูมีทรงอาการเหมือนเด็กที่ไปต่างประเทศแล้วคิดถึงบ้าน (A slightly homesick son stuck overseas) และมีการวิจารณ์ว่า สิ่งที่เจ้าชายทรงเรียกร้องนั้นเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกันเอง และทรงไม่อาจได้ในทุกสิ่งที่ทรงต้องการ (“He can’t have it both ways”) เพราะเมื่อทรงเลือกที่จะสละบทบาทในฐานะสมาชิกราชวงศ์ที่ต้องทรงงาน ไปหาชีวิตที่เรียบง่ายและเงียบสงบที่พระองค์แสวงหา ก็ต้องทรงยอมรับในสถานะหรือการได้รับการดูแลที่แตกต่างไปจากเดิม เพราะการมีสถานะหรืออภิสิทธิ์ที่สูงกว่าคนอื่นในสังคมย่อมเป็นสิ่งที่ต้องแลกมากับภาระหน้าที่ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งการที่เจ้าชายแฮร์รีจะทรงเลือกเอาทั้งสองทาง คือ “อยากมีชีวิตอย่างธรรมดา แต่แฝงไปด้วยความไม่ธรรมดา” ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

 

เจ้าชายแฮร์รีต้องทรงยอมรับว่า การตัดสินใจประกาศต่อสาธารณะว่าจะออกจากฐานะสมาชิกราชวงศ์ที่ทรงงาน และต้องการย้ายไปพำนักที่ต่างประเทศเมื่อ 5 ปีก่อนนั้น ทำให้สถานะและกระแสความนิยมของพระองค์นั้นไม่เหมือนเดิม และเป็นการตัดสินใจที่ไม่อาจหวนคืนกลับมาได้อีกต่อไป 

 

คาดกันว่า หนทางจากนี้ที่พระองค์ทรงต้องเลือกเดินต่อไปหากต้องการกลับมาอยู่ที่อังกฤษโดยมีการรักษาความปลอดภัยดังเดิม คือ การใช้สิทธิในการฎีกาผลการตัดสินดังกล่าวไปยังศาลสูงสุดของอังกฤษเพื่อให้มีการทบทวนอีกครั้ง หรือจะขอกลับมาเป็นสมาชิกราชวงศ์ที่ทรงงานเพื่อราชสำนักอีก ซึ่งหนทางหลังนั้นอาจเป็นไปได้ยากยิ่ง หากพิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวมาแล้ว และอาจถูกมองได้ว่า หรือเพราะจากไปแล้วไม่เด่นไม่ดัง จึงต้องขอหันหลังกลับไป

 

นับจากนี้ เจ้าชายแฮร์รีคงต้องใช้เวลาสักพักในการตกลงกับพระองค์เองว่า จะทรงเลือกเส้นทางเดินใดต่อไป เพื่อหาจุดที่ลงตัวของพระองค์และครอบครัว หรือจะต้องทรงยอมรับในหนทางที่ทรงเลือกไปแล้ว และอยู่อย่างเงียบๆ กับครอบครัวซัสเซ็กซ์ที่สหรัฐอเมริกา 

 

ภาพ: Reuters / Maja Smiejkowska / File Photo

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising