จะเรียกว่ากระแสรักษ์โลกบุกไปทุกวงการ หรือจะเป็น Digital Disruption ที่ทำให้โรงพยาบาลหนึ่งหันมาลดและเลิกการใช้กระดาษในทุกขั้นตอน แล้วเปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิทัลทั้งหมด 360 องศา ชนิดที่ว่าตั้งแต่ก้าวขาเข้าประตูจนถึงแอดมิตเป็นผู้ป่วยใน ไม่มีกระดาษสักขั้นตอนเดียว ‘พริ้นซ์ ปากน้ำโพ’ โรงพยาบาลแห่งแรกในไทยที่ไม่ใช้กระดาษ และได้การรับรองมาตรฐานเทคโนโลยีสารสนเทศโรงพยาบาลขั้นสูงสุด (HIMSS Analytics EMRAM Stage 7) ซึ่งถือเป็นแห่งแรกในไทยและแห่งที่ 2 ของอาเซียน
ดร.สาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการ บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่าหลังเปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิทัลทั้งหมด โรงพยาบาลทำงานเป็นระบบมากขึ้น และลดขั้นตอนการผิดพลาดจากลายมือแพทย์
“เราศึกษาระบบนี้มาเป็นสิบปี และเริ่มนำมาใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2558 เพราะอยากพัฒนาคุณภาพการรักษาให้แก่โรงพยาบาล มาตรฐาน EMRAM มีด้วยกัน 8 ระดับ จาก 0-7 โดยระดับ 7 เป็นระดับสูง มีการนำระบบไอทีมาใช้ในทุกส่วน คนไข้ทุกคนจะมีเวชระเบียนเป็นดิจิทัล แพทย์สามารถดูประวัติการรักษาได้โดยไม่ต้องหาแฟ้มให้วุ่นวาย ขั้นตอนการวินิจฉัย สั่งยา จ่ายยา ล้วนผ่านระบบดิจิทัล สามารถลดปัญหาข้อมูลผิดพลาดจากลายมือแพทย์ได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ มีระบบ Clinical Decision Support ซึ่งช่วยแพทย์วินิจฉัยโรคโดยใช้ฐานข้อมูลจากเคสต่างๆ ทั่วโลก คอยเตือนแพทย์ พยาบาล การใช้ยา ให้เลือด ซึ่งหลังจากใช้ระบบนี้ทำให้สามารถลดอัตราการเสียชีวิตหรือย้ายลง ICU ได้ถึง 3% ลดการจ่ายยาผิดพลาดจากลายมือแพทย์ ช่วยให้ยาถูกคน ถูกเวลา อีกทั้งยังช่วยย่นระยะเวลารักษาในระบบต่างๆ ให้รวดเร็วขึ้นหลายเท่าตัว”
นอกจากคุณภาพด้านการรักษาที่ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น การใช้ระบบดิจิทัลยังทำให้โรงพยาบาลย่นระยะเวลาการจัดการด้านต่างๆ และลดขยะที่เกิดขึ้นภายในโรงพยาบาลได้มากขึ้นหลายเท่า
“หลังจากเราทำให้พริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 กลายเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่อยู่ในระบบดิจิทัลได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เราวางแผนจะพัฒนาทุกโรงพยาบาลในเครือพริ้นซ์ทั่วประเทศให้อยู่ในระบบเดียวกัน ต่อไปคนไข้สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใดก็ได้ในเครือ โดยไม่จำเป็นต้องขอเวชระเบียนให้ยุ่งยาก ไม่ต้องทำเรื่องเซ็นเอกสารให้วุ่นวาย แพทย์สามารถเรียกดูข้อมูลได้ทันทีจากเซิร์ฟเวอร์ส่วนกลาง ทำให้สะดวก รวดเร็ว และง่ายต่อการรักษา” ดร.สาธิต กล่าวทิ้งท้าย
ดีใจที่เห็นโรงพยาบาลพัฒนาคุณภาพไปอีกขั้น และเราหวังว่าต่อไปจะมีอีกหลายโรงพยาบาลเข้าร่วมมาตรฐานนี้
ภาพ: Courtesy of Brands
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์