วันนี้ (30 เมษายน) แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘ภารกิจพลิกฟื้นเศรษฐกิจ : Mission Thailand’ โดยระบุตอนหนึ่งว่า โลกเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงอยากสื่อสารให้ประชาชนได้มั่นใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้น เศรษฐกิจทั้งรอบโลกและในประเทศ รัฐบาลรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลง ปัญหา อุปสรรคและไม่พลาดในการมองโอกาสและแก้ปัญหา และคอยดูว่าแต่ละประเทศรับมือปัญหาอย่างไร อย่างเรื่องมาตรการภาษีของสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่แค่เราที่เป็นห่วง ทั่วโลกเป็นห่วงเช่นกัน ขณะเดียวกันจะใช้ความสัมพันธ์ที่มีอยู่สร้างแนวทางการเจรจาต่อไป
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงกรณีที่ Moody’s ออกมาปรับอันดับความน่าเชื่อถือของไทยว่า ถือเป็นเพียงมุมมอง ไม่ใช่การให้คะแนนหรือให้เรตติ้ง และไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยขาดความเชื่อมั่น ซึ่งปัจจัยหนึ่งในการวัดของ Moody’s มาจากกำแพงภาษีสหรัฐฯ ที่ทั่วโลกเจอเหมือนกัน และในปี 2008 เราเคยถูกปรับลดและปรับขึ้นกลับมาได้แล้ว
ทั้งนี้สิ่งที่ Moody’s ใช้ในการพิจารณา คือ ศักยภาพในการเติบโต, ความปั่นป่วนของนโยบายเมื่อมีเรื่องกำแพงภาษีของสหรัฐฯ, ภาระหนี้ต่อเนื่อง รวมถึงความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปได้ยากขึ้นหรือไม่ นี่คือสิ่งที่เขามอง ซึ่งรัฐบาลต้องไม่ทำให้เขากังวล เตรียมการทางเศรษฐกิจให้ผ่านมรสุมไปให้ได้ มุ่งการหาเงินเข้าประเทศทำให้มั่นใจว่า GDP เติบโตขึ้น 3-4% อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ จากบริษัทต่างชาติที่ชักชวนนักลงทุนรายอื่นๆ เข้ามา ซึ่งปีที่ผ่านมามีการลงทุนจากภาครัฐถึง 72% มากที่สุดในรอบ 10 ปี ทำให้เกิดการจ้างงาน และรัฐต้องสนับสนุนการวิจัยการพัฒนาคนให้มากขึ้น
ในปี 2567 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตช้า GDP ทั้งปีอยู่ที่ 2.5% แต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายตัวเลขขยับขึ้นเป็น 3.2% แสดงให้เห็นว่าการเร่งเครื่องทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเกิดผล แม้ปี 2568 จะมีอุปสรรคผ่านเข้ามาทั้งแผ่นดินไหว และกำแพงภาษี แต่รัฐบาลก็พยายามหาทางออกและพูดคุยกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐเอกชนและประชาชน เพื่อหาคำตอบที่เป็นประโยชน์และทำให้ภาคเอกชนเกิดความมั่นใจ
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลนี้มีมาตรการทางระยะสั้น ผลักดัน GDP ประเทศไทยให้สูงขึ้น และการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย สร้างโอกาสและการหากิน ถือเป็นการต่อลมหายใจให้ธุรกิจรายเล็กสามารถดำรงอยู่ต่อได้ มาตรการระยะกลาง และมาตรการระยะยาว เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่ต้องการเชื่อมโยงประเทศไทยกับโลกเข้าหากัน
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยยังมีจุดแข็งในเรื่องของการท่องเที่ยว ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม ซึ่งรัฐบาลได้เพิ่มวีซ่าฟรีให้นักท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทยได้นานมากขึ้น และจับมือกับ 6 ประเทศในอาเซียนอำนวยความสะดวก แต่การท่องเที่ยวจะมีทางตัน เช่น จะมีช่วงไฮซีซัน และโลว์ซีซัน อยู่ตลอด
ขณะที่เรื่องของเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์หรือสถานบันเทิงครบวงจร นายกรัฐมนตรียืนยันว่า เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ไม่เท่ากับคาสิโน เพราะคาสิโนมีไม่ถึง 10% ของพื้นที่ เป็นเรื่องของการบิดเบือนไปในทางการเมือง ได้ยินแต่คำว่าคาสิโน แต่เรามาทำการเมืองเชิงสร้างสรรค์
ถ้าสร้างเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ประเทศไทยได้อะไรบ้าง อย่างแรกประเทศไทยไม่ได้เสียอะไร เพราะรัฐไม่ได้ลงทุน แต่เป็นเอกชนต่างชาติเข้ามาลงทุน รัฐบาลก็เก็บภาษีต่างชาติได้ ส่วนที่มีความเป็นห่วงในเรื่องของการพนัน เรามีกฎหมายที่จะรองรับ จะมีการดำเนินคดี และผู้ที่ทำผิดก็จะถูกกลับไปดำเนินคดีที่ประเทศของตัวเองด้วย มีการกำหนดทรัพย์สินบุคคลที่จะเข้าไปเล่นคาสิโน ย้ำว่าไม่ใช่ใครก็สามารถเข้าไปเล่นได้
“ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการลงทุนและภาพรวมเศรษฐกิจที่รัฐบาลมองเห็นและสร้างปัญหาทั้งในประเทศและนอกประเทศ แน่นอนเรื่องภาษีเป็นสิ่งที่ทุกคนเป็นห่วง เรามีการพูดกัน แบบไม่เป็นทางการอยู่เสมอ ไม่มีขาดตอน อันนี้ยืนยันได้ แต่สมมติเราทำดีล คำว่าดีลเป็นสิ่งที่ฮิตทางการเมือง จะดีลลับหรืออะไรก็ตาม แต่สหรัฐฯ มีคนเข้ามาดีลมากมาย เขาคงไม่สามารถเปิดเผยได้ และประเทศต่างๆ ก็ไม่สามารถพูดออกไมค์ได้ การตกลงกันถือเป็นสิ่งจำเป็น เราจับกลุ่มกับประเทศอาเซียนเพื่อให้การต่อรองเราเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าเรามีคนเก่งและทีมที่เก่งทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้การต่อรองเกิดผลและกระทบน้อยที่สุด เศรษฐกิจมั่นคงคือเป้าหมายของรัฐบาล วันนี้ดิฉันมาให้มั่นใจว่ารัฐบาลดูเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อหาโอกาสให้ประเทศของเรา” นายกรัฐมนตรีกล่าว