×

ผู้นำการเปลี่ยนแปลง: ปรีดี พนมยงค์

14.06.2025
  • LOADING...
ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรและรัฐบุรุษอาวุโสของไทย

​24 มิถุนายน 2568 เป็นวันครบรอบ 93 ปี แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

 

 

​สามัญชนคนหนึ่ง เป็นลูกชาวนาจากอยุธยากรุงเก่า มีโอกาสร่ำเรียนด้านกฎหมาย ได้ทุนไปเรียนต่อจนจบปริญญาเอกที่ฝรั่งเศส

 

​ความปราดเปรื่องทางความคิดและสติปัญญา ที่มองไปยังอนาคตของสยามทำให้แลกเปลี่ยนสนทนากับเพื่อนนักเรียนในต่างประเทศตกผลึกเป็นการจัดตั้งคณะราษฎร ที่ประกอบด้วยพลเรือนและทหาร ร่วมกันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ด้วยการยึดอำนาจเปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีลักษณะประวัติศาสตร์ คือไม่มีการเสียเลือดเนื้อใดๆ

 

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ ปรีดี พนมยงค์ เป็นแกนนำสำคัญฝ่ายพลเรือนของคณะราษฎร ที่เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกและฉบับที่สอง รวมทั้งเป็นเจ้าของความคิดเสนอ ‘เค้าโครงเศรษฐกิจ’  6 ประการ

 

  1. เอกราช
  2. ความปลอดภัย  
  3. เศรษฐกิจ และการมีงานทำ  
  4. ความเสมอภาคของราษฎร  
  5. เสรีภาพ  
  6. การศึกษา

 

หลัก 6 ประการนี้เองที่นำไปสู่ปัญหาต่างๆ ในเวลาต่อมา บ้างบอกว่าคณะราษฎรต้องการเปลี่ยนประเทศจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไปสู่ระบอบสาธารณรัฐแบบฝรั่งเศส ซึ่งไม่มีหลักฐานข้อเท็จจริงใดๆ รองรับเลย

 

บางคนไปไกลถึงขั้นกล่าวหาว่า อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เกี่ยวโยงกับกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 หากใครไปค้นคว้าประวัติศาสตร์ก็จะพบว่าอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการในเวลานั้น เป็นผู้กราบทูลเชิญในหลวงอานันทมหิดลให้เสด็จกลับจากต่างประเทศ เพื่อเสด็จขึ้นครองราชย์

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ว่า ​“ตลอดเวลาที่นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และด้วยความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ทั้งได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในความปรีชาสามารถบำเพ็ญคุณประโยชน์ แก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ยกย่องนายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโสและให้มีหน้าที่รับปรึกษากิจราชการ เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป  ประกาศ ณ วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2488  ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช  นายกรัฐมนตรี”

 

​ในเวลาต่อมา ในฐานะนายกรัฐมนตรี อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้กราบบังคมทูลอัญเชิญ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ให้ขึ้นครองราชสมบัติตามมติของรัฐสภา ตามประกาศนายกรัฐมนตรี เมื่อ 9 มิถุนายน 2489

 

​นอกจากนี้ ในเทปบันทึกเสียงของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เรื่อง สารภาพบาปของ นายตี๋ ศรีสุวรรณ ที่ไปถวายสังฆทาน โดยยอมรับกับหลวงพ่อ เรื่องไปให้การในศาลปรักปรำ นายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนี นายบุศย์ ปัทมศริน ที่ถูกประหารในฐานะอาชญากร ทำร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  

 

หลวงพ่อ ถามว่า “เบิกความอย่างไร” นายตี๋ตอบว่า “เบิกตามที่เขาต้องการ” 

 

หลวงพ่อเล่าต่อว่า ​“…แก (ตี๋ ศรีสุวรรณ) ก็รับเพราะเขาจะให้เงินสองหมื่น แกก็ไปเบิกความว่า ท่านปรีดี กับนายชิต นายเฉลียว นายบุศย์ มานั่งปรึกษากันที่บ้านพระยาศรยุทธเสนี (ข้างวัดชนะสงคราม) วางแผนเพื่อปลงพระชนม์ในหลวง ผมไปเบิกความครั้งนี้ ไม่ใช่ความจริง เป็นความเท็จ ผมโกหกตามตำรวจเขาขอร้อง แล้วสามคนก็ถูกประหาร เพราะพยานสำคัญคือผมเอง……”

 

​นอกจากนี้ ยังมีจดหมายขอขมาของ นายตี๋ ศรีสุวรรณ ขณะที่อายุ 102 ปี ให้ลูกเขยของเขาชื่อ นายเลื่อน ศิริอัมพร เขียนถึงนายปรีดี พนมยงค์ ลงวันที่ 25 มกราคม 2522 เป็นจดหมายขอขมาว่า

 

“นายตี๋รู้สึกเสียใจมากที่ทำให้ 3 คนตาย และนายปรีดี กับนายวัชรชัย ที่บริสุทธิ์ต้องถูกกล่าวหาด้วย นายตี๋ได้ทำบุญกรวดน้ำให้กับผู้ตายเสมอมา แต่ก็ยังเสียใจไม่หาย เดี๋ยวนี้ ก็มีอายุมากแล้ว อีกไม่ช้าก็ตาย จึงขอขมาลาโทษนายปรีดี นายวัชรชัย นายเฉลียว นายชิตและนายบุศย์ ที่นายตี๋เอาความเท็จมาให้การปรักปรำ ขอได้โปรดให้ขมาต่อนายตี๋ด้วย”

 

​ใครที่ยังเข้าใจว่า อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ไปข้องเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว หากได้ศึกษาข้อเท็จ จริงให้ถ้วนทั่ว แล้วจะพบว่า อาจารย์ปรีดีเป็นสามัญชนธรรมดา ไม่มีเหตุผลจูงใจใดๆ เลย ที่จะไปเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว การเป็นหัวหน้าคณะราษฎร ฝ่ายพลเรือน เป็นการทำหน้าที่ในฐานะผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองคนหนึ่ง ซี่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุข ซึ่งประเทศไทย ก็ดุจเดียวกับประเทศอื่นๆ เป็นวิวัฒนาการของทุกประเทศ

 

​ในโลกที่วิวัฒน์ไปตามเหตุปัจจัยและบริบทแวดล้อมของแต่ละสังคมประเทศ คณะราษฎรที่ประกอบด้วยทหารและพลเรือนได้ทำหน้าที่และจบสิ้นภารกิจไปแล้ว ไม่ควรที่ใครจะนำมาเป็นเหตุให้เข้าใจไปในทิศทางที่ว่าภารกิจของคณะราษฎรยังไม่บรรลุในการนำประเทศไปเป็นระบอบสาธารณรัฐ

 

 

ในทางตรงกันข้าม อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ทั้งในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และในฐานะนายกรัฐมนตรี มีแต่จะเทิดพระเกียรติในหลวงทั้งสองพระองค์อย่างสูงส่ง หลังจากอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ถึงแก่อสัญกรรม ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 ​ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เจ้าของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับ อาจารย์ปรีดี ตลอดมา กล่าวว่า

 

“ผมเคยเป็นศัตรูขับเคี่ยวกับนายปรีดี มานานแล้ว เวลานี้ อายุมากขึ้น ก็ลืมความหลังไปหมดแล้ว แต่ก็ยังดีใจที่ลูกชายผม (ม.ล.รองฤทธิ์) เมื่อเดินทางไปปารีสก็แวะไปเยี่ยมท่าน ท่านถามว่าลูกใคร พอรู้ว่าลูกผม ท่านก็ยังเอาตัวไปกอด แล้วถ่ายรูปไว้ดูพร้อมกับเดินมาส่งที่หน้าบ้าน ผมเคารพนับถือว่าท่านเป็นยิ่งกว่าพี่ใหญ่ ท่านจากไปโดยที่ไม่เดือดร้อนอะไร ผมก็ใส่บาตรกรวดน้ำให้ท่านและในทางส่วนตัว ผมกับท่านไม่มีอะไรกันเลย เพราะผมไม่เคยต่อสู้ทางการเมืองกับใครด้วยเรื่องส่วนตัว (หนังสือพิมพ์มาตุภูมิ ฉบับวันที่ 4 พฤษภาคม 2526)

 

​ในขณะที่ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงมรณกรรมของนายปรีดี ว่า​“รู้สึกเสียดาย เพราะเป็นบุคคลที่ทำประโยชน์ไว้มาก เป็นผู้นำประชาธิปไตยเข้ามาใช้ในบ้านเมืองเป็นคนแรก จริงอยู่แม้ว่ารัชกาลที่ 7 จะทรงมอบอำนาจอธิปไตยให้แก่ปวงชน แต่นายปรีดีได้ทำก่อน ก็ต้องยกย่องและที่สำคัญในขบวนการเสรีไทย เขามีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก ถ้าไม่มีคนนี้มาช่วยเคลื่อนไหว งานนี้เห็นจะสำเร็จยาก” (หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 5 พฤษภาคม 2526

 

ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรและรัฐบุรุษอาวุโสของไทย

 

​ประเทศไทยประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดยอ้างว่าอังกฤษจะมาทิ้งระเบิดไทย จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการฉบับนี้ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีเพียง 2 ใน 3 ที่ลงนาม คือ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และพลเอกพระยาพิชเยนทรโยธิน ส่วนนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการอีกหนึ่งคนรู้เท่าทัน จึงทำตัวหายไปอย่างลึกลับไม่มีใครตามพบ หลังสงครามฝ่ายไทยอ้างว่าพระบรมราชโองการดังกล่าวเป็นโมฆะ เพราะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนามไม่ครบสาม การประกาศสงครามกับพันธมิตร ถือว่าไม่มีผลตามรัฐธรรมนูญ

 

​เป็นที่รู้กันดีว่า ขบวนการเสรีไทยในเมืองไทยนั้น อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้าขบวน ที่ได้ประสานกับขบวนการเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา ที่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าสายนอกประเทศ ในที่สุดไทยสามารถรักษาเอกราชไว้ได้ ไม่ตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อาจารย์ปรีดี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลอยู่ถึง 4 ปี (2484-2488)

 

​ในช่วงเวลานั้น นอกจากเป็นรัฐบุรุษอาวุโส เป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแล้ว อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ยังได้รับยกย่องจาก UNESCO ให้เป็น ‘บุคคลสำคัญของโลก’ ในปี พ.ศ. 2543 อีกด้วย

 

 แม้ว่าอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ จะมีคุณูปการมหาศาลต่อความอยู่รอดและความก้าวหน้าของประเทศไทย แต่อาจารย์ปรีดี ก็วิจารณ์ตนเองไว้ว่า

​“ในปี ค.ศ.1925 (2468) เมื่อเราเริ่มจัดตั้งกลุ่มแกนของพรรคอภิวัฒน์ในปารีส ข้าพเจ้ามีอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น หนุ่มมาก หนุ่มทีเดียว ขาดความจัดเจน แม้ว่าข้าพเจ้าได้รับปริญญาแล้วและได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี ข้าพเจ้าไม่มีความจัดเจน และโดยปราศจากความจัดเจนบางครั้งข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา ข้าพเจ้าไม่ได้นำความเป็นจริงในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าเป็นความรู้ทางหนังสือ ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคำนึงด้วยให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี ในปี ค.ศ. 1932 (2475) ข้าพเจ้าอายุ 32 ปี  พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ” (สัมภาษณ์ผ่านเอเชียวีค เมื่อ 28 ธันวาคม 2523)

 

​นี่คือการวิพากษ์ตนเองอย่างตรงไปตรงมาต่อสาธารณชน เป็นคำสารภาพที่กอปรด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนและความกล้าหาญทางจริยธรรมเข้าด้วยกัน

 

 

(กราบเยี่ยมคารวะรัฐบุรุษอาวุโส อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ณ บ้านพักชานกรุงปารีส ได้แก่ ประสาร มฤคพิทักษ์, ธีรยุทธ บุญมี, เสาวนีย์ ลิมมานนท์ และ พีระพันธ์ พาลุสุข เมื่อเดือนเมษายน ปี 2518)

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising