“วันนี้มีบางกระทรวงที่ทำหน้าที่เป็นกระทรวงแห่งความจริง ซึ่งสื่อหน้าที่ของเราคือต้องบอกกับประชาชนว่ามันไม่ใช่”
วานนี้ (29 กรกฎาคม) ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ข้อกำหนด ห้ามนำเสนอข่าวที่อาจทำให้ประชาชนหวาดกลัว พร้อมให้อำนาจ กสทช. สั่งระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต ท่ามกลางความสับสนของสื่อมวลชนและประชาชนว่า การนำเสนอสิ่งที่สร้างความหวาดกลัวนั้นมีนิยามอย่างไร และถ้าหากสิ่งที่น่าหวาดกลัวนั้นเกิดขึ้นจริง จำเป็นที่จะต้องรายงานให้กับประชาชนได้ทราบ เท่ากับจะเป็นการทำผิดกฎหมายหรือไม่
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประกาศของรัฐถูกออกมาในลักษณะที่ ‘คลุมเครือ’ ที่ผ่านมา การออก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ฉบับที่ 27 ในประเด็นมาตรการเรื่องบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร แม้สื่อมวลชนจะพยายามออกแถลงการณ์ขอความชัดเจนของมาตรการ กลับได้รับการตอบกลับด้วยโพสต์บนเฟซบุ๊กของนายกรัฐมนตรีเรื่องการจัดการข่าวปลอม ที่มอบอำนาจให้กระทรวงดีอีเอสสามารถดำเนินคดีกับประชาชนและสื่อมวลชน
6 องค์กรวิชาชีพสื่อได้จัดเวทีเสวนา ‘หยุดอ้างข่าวปลอม หยุด พ.ร.ก. ฉุกเฉิน คุกคามเสรีภาพสื่อ-ประชาชน’ เพื่อแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าว
และนี่คือเสียงสะท้อนจากวงการสื่อสารมวลชน ที่ต้องการทวงถามความกระจ่างและความจริงใจจากรัฐ ในฐานะที่เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพของประชาชน
วิดีโอ: พงษ์พัฒน์ มะหะหมัด