×

วิกฤตศรัทธา VAR ในพรีเมียร์ลีก ถึงเวลาต้องปฏิรูปวงการผู้ตัดสินหรือยัง?

02.10.2023
  • LOADING...
VAR

ไม่นานหลังจากที่เกมพรีเมียร์ลีกคู่สุดดราม่าระหว่างท็อตแนม ฮอตสเปอร์และลิเวอร์พูลจบลง ทางด้าน Professional Game Match Officials Limited (PGMOL) ผู้มีหน้าที่กำกับดูแลเกี่ยวกับการตัดสินเกมฟุตบอลในสหราชอาณาจักรได้ออกแถลงการณ์ยอมรับความผิดทันที

 

“PGMOL รับทราบถึงความผิดพลาดมหันต์ที่เกิดจากฝีมือของมนุษย์ในช่วงครึ่งแรกของเกมระหว่างท็อตแนม ฮอตสเปอร์พบลิเวอร์พูล”

 

ประโยคนี้ทำให้วงการฟุตบอลอังกฤษร้อนแรงขึ้นทันที เนื่องจากเป็นอีกครั้งที่เกิดความผิดพลาดในการตัดสินจาก VAR ซึ่งดูเหมือนเกินกว่าที่จะยอมรับกันได้

           

เรื่องนี้กำลังนำไปสู่วิกฤตศรัทธาครั้งร้ายแรงต่อเรื่องของมาตรฐานการตัดสินของผู้ตัดสินในพรีเมียร์ลีก และน่าจับตามองว่าจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่?

 

ย้อนกลับไปในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเกมที่ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ สเตเดียม ลิเวอร์พูลต้องตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบจากการที่ ไซมอน ฮูเปอร์ ผู้ตัดสินในสนามให้ใบแดงกับ เคอร์ติส โจนส์ ในจังหวะที่เข้าปะทะแย่งบอลกับ อีฟส์ บิสซูมา ตั้งแต่ครึ่งแรก

           

ในจังหวะนี้ เดิมฮูเปอร์ให้เป็นใบเหลืองแก่กองกลางดาวรุ่งวัย 22 ปี เพราะถือว่าเป็นจังหวะการเข้าปะทะที่อันตราย แต่ทางด้าน VAR ได้มีการรีวิวเหตุการณ์อีกครั้งเพราะถือว่าเข้าข่ายเป็นการเล่นที่อันตรายที่ให้เป็นใบแดงได้

           

สิ่งที่หลายคนสังเกตคือการขึ้นภาพบนหน้าจอให้ผู้ตัดสินฮูเปอร์เดินมาดูเหตุการณ์อีกครั้ง เป็นภาพช็อตสุดท้ายที่ปุ่มสตั๊ดของโจนส์เหมือนย่ำลงบนหน้าแข้งของบิสซูมา และค้างภาพนี้ไว้เป็นระยะเวลานาน ก่อนจะมีการรีรันภาพเหตุการณ์โดยรวมทั้งหมดให้ดูอีกครั้ง

           

หลังได้ชมภาพรีวิว ฮูเปอร์เปลี่ยนใจให้ใบแดงโดยตรงกับโจนส์แทน โดยเชื่อว่าเป็นการตีความตามกฎเกี่ยวกับการห้ามใช้ปุ่มสตั๊ดวางบนขาของคู่แข่งในบริเวณที่เหนือกว่าข้อเท้า เพราะถือว่าเป็นการเล่นที่อันตราย อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บร้ายแรง เช่น ขาหักได้

           

อย่างไรก็ดีมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการให้ใบแดงในจังหวะนี้อยู่ไม่น้อย เพราะในภาพรวมของเหตุการณ์แล้วโจนส์เป็นฝ่ายที่เข้าถึงบอลได้ก่อน แต่จังหวะที่แหย่เท้าเข้าไปถึงบอลนั้นเกิดลื่นจากการสัมผัสด้านบนของบอลทำให้เท้าไปแหย่เข้าที่ขาของบิสซูมา

 

แกรี เนวิลล์ คอมเมนเตเตอร์ทาง Sky Sports ซึ่งเป็นอดีตนักเตะทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นหนึ่งคนที่ไม่เห็นด้วยกับใบแดงนี้ เช่นเดียวกับนักวิเคราะห์ในสตูดิโอของพรีเมียร์ลีกที่มองว่าการให้ใบแดงเป็นการลงโทษที่ร้ายแรงเกินไป ใบเหลืองที่ฮูเปอร์ให้ในจังหวะแรกถือว่าเหมาะสมแล้ว

 

VAR

 

ความผิดพลาดมหันต์ของ VAR

แต่การแทรกแซงของ VAR ในจังหวะนี้ยังไม่เป็นปัญหาเท่ากับในจังหวะต่อมาเมื่อ โมฮาเหม็ด ซาลาห์ แทงทะลุช่องให้ หลุยส์ ดิอาซ ได้โอกาสหลุดก่อนกระชากเข้าไปยิงเสียบมุมอย่างสวยงาม ที่ควรจะเป็นประตูนำ 1-0 ของลิเวอร์พูล

 

ในจังหวะนี้ผู้ช่วยผู้ตัดสินข้างสนามได้ยกธงเพราะคิดว่าเป็นการล้ำหน้าและควรตรวจสอบ ทำให้ VAR ต้องตรวจสอบเหตุการณ์อีกครั้งว่าเป็นการล้ำหน้าหรือไม่

 

ปรากฏว่า VAR ใช้เวลาในการตรวจสอบสั้นมาก ระยะเวลาอยู่ที่ราว 30-40 วินาที ก่อนที่จะยืนยันคำตัดสิน โดยที่ไม่ได้มีการ ‘ตีเส้น’ เพื่อวัดเทียบว่าผู้เล่นคนสุดท้ายของตัวรุกและตัวรับใครเหลื่อมกว่ากันอย่างที่ควรจะเป็น

 

ลูกนี้ได้สร้างความกังขาว่าเหตุใดจึงไม่มีการตีเส้น? ก่อนจะมีการเปิดเผยเหตุผลที่สุดช็อกออกมา

 

เหตุผลที่ทำให้ไม่มีการตีเส้นนั้นเป็นเพราะ ‘การสื่อสารผิดพลาด’

 

สิ่งที่มีการอธิบายในเวลาต่อมา คือผู้ตัดสิน VAR ในเกมดังกล่าวคือ ดาร์เรน อิงแลนด์ เกิดเข้าใจผิดว่าผู้ตัดสินในสนามต้องการเช็กว่าลูกนี้เป็นประตูถูกต้องแล้วหรือไม่ ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ในสนามคือลูกนี้ไม่เป็นประตูเพราะมีการยกธงล้ำหน้า

 

เมื่อความเข้าใจของอิงแลนด์คือ “ลูกนี้ไม่ล้ำหน้า ถูกต้องแล้ว” จึงไม่มีการลากเส้นวัดระยะ ก่อนจะให้คำตอบผู้ตัดสินในสนามว่า ‘Check Complete’ หรือตรวจสอบเรียบร้อย ซึ่งหมายถึงการที่ผู้ตัดสินจะให้เริ่มเล่นเกมต่อ

 

ทางด้านฮูเปอร์เมื่อได้การยืนยันจาก VAR จึงเป่านกหวีดให้สเปอร์สเริ่มเล่นเกมต่อ เพราะจังหวะสุดท้ายคือ ‘ลูกล้ำหน้า’

 

และตามกฎเมื่อเกมเริ่มต่อแล้ว จะไม่สามารถย้อนกลับไปเปลี่ยนคำตัดสินใหม่ได้…

 

อย่างไรก็ดีสิ่งที่หลายคนตั้งข้อสงสัยคือในช่วงเวลาไม่ถึง 1 นาทีนั้น ทำไมจึงไม่มีการทักท้วงอะไรเลยจาก VAR ว่าฮูเปอร์เข้าใจผิด ลูกนี้เป็นประตูของลิเวอร์พูล

 

เรื่องนี้ไม่ได้เป็นแค่ฝ่ายลิเวอร์พูลผู้เสียหายที่ออกมาโวยวายเท่านั้น

 

ในวงการฟุตบอลอังกฤษเองก็ต่างแสดงความกังวลในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพราะมันแสดงให้เห็นถึงความบกพร่องในการทำหน้าที่ของคนสุดท้ายที่ไม่ควรจะผิดพลาดอย่าง VAR ทั้งยังทำให้เกิดคำถามว่าแล้วเราจะเชื่อถือการตัดสินของ VAR ได้แค่ไหน

 

ในเมื่อสุดท้ายมันจบที่วิจารณญาณของคน ไม่ใช่เทคโนโลยี

 

ที่สำคัญความผิดพลาดมันพร้อมเกิดขึ้นกับทีมไหนก็ได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าดวงจะถึงฆาตเมื่อไร

 

VAR

 

วิกฤตศรัทธาผู้ตัดสิน

ความผิดพลาดครั้งนี้ทำให้ PGMOL มัวหมองขึ้นไปอีก เพราะก่อนหน้านี้ก็มีกรณีที่ตัดสินผิดพลาดมาแล้วหลายครั้งมากมาย

 

โดยที่สุดท้ายจบลงที่การสั่งลงโทษ ‘นิดๆ หน่อยๆ’ เช่น การพักงานเป็นระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งในกรณีนี้ ดาร์เรน อิงแลนด์ ผู้ตัดสิน VAR และ แดน คุก ผู้ช่วยในเกมดังกล่าว ถูกสั่งพักห้ามทำหน้าที่ในเกมพรีเมียร์ลีกคู่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (1 ตุลาคม)

 

สเต็ปต่อมาคือการออกแถลงขอโทษของ PGMOL ตามมาถึงการตัดสินที่ผิดพลาด

 

คำถามที่หลายคนอยากรู้คือแล้วมันช่วยให้อะไรดีขึ้นไหม?

 

ตั้งแต่ฤดูกาลที่แล้ว PGMOL ต้องออกแถลงการณ์ขอโทษในการตัดสินที่ผิดพลาดมากถึง 14 ครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าทุกครั้งย่อมส่งผลเสียหายร้ายแรง เช่น กับอาร์เซนอลที่มีการตัดสินพลาด 2 ครั้งในเกมกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดและเบรนท์ฟอร์ดที่ส่งผลต่อการลุ้นแชมป์ ขณะที่ไบรท์ตันก็ได้รับคำขอโทษ 2 หนหลังเกมกับคริสตัล พาเลซ และท็อตแนม ฮอตสเปอร์

 

จุดที่หลายคนตั้งข้อสงสัยคือนับตั้งแต่อดีตผู้ตัดสินคนดังอย่าง ฮาเวิร์ด เว็บบ์ ขึ้นมารับตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้ตัดสิน PGMOL ดูเหมือนมาตรฐานในการตัดสินของฟุตบอลอังกฤษจะยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ

 

การบังคับใช้กฎที่เข้มงวดนำไปสู่การตัดสินที่สวนทางกับความรู้สึกของคนที่ได้พบเห็นหลายครั้ง เช่น กับลิเวอร์พูลก่อนหน้าใบแดงของ เคอร์ติส โจนส์ ก็มีจังหวะใบแดงของ อเล็กซิส แม็ค อัลลิสเตอร์ ที่โดนไล่ออกในเกมกับบอร์นมัธในจังหวะคล้ายกันจนสุดท้ายมีการอุทธรณ์แล้วลิเวอร์พูลชนะ

 

ตรงนี้เป็นเรื่องของการ ‘ตีความในกฎ’ อย่างเคร่งครัดเกินไปหรือไม่?

 

ในขณะที่การตัดสินย่ำแย่ PGMOL ได้พยายามที่จะ ‘ปกป้อง’ ผู้ตัดสินจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือกดดันการทำหน้าที่ในสนามด้วยการทั้งสั่งห้ามไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในสนามหรือนอกสนามที่จะนำไปสู่การปรับหรือการลงโทษแบน (เป๊ป กวาร์ดิโอลา ถูกห้ามทำหน้าที่ในเกมนัดที่ผ่านมาเพราะโดนใบเหลืองครบ 3 ใบในฐานะผู้จัดการทีม!)

 

ไปจนถึงการห้ามไม่ให้ผู้เล่นในสนามรุมล้อมหรือกดดันผู้ตัดสิน เช่น การขอให้แจกใบเหลืองคู่แข่ง ที่เป็นประเด็นดราม่าในช่วงต้นฤดูกาลที่ผ่านมา (และในเกมสเปอร์สกับลิเวอร์พูลก็มีคนสังเกตว่า เดสตินี อูโดกี แบ็กซ้ายสเปอร์สทำท่าขอให้แจกใบเหลืองโชตาด้วยแต่กลับไม่โดนลงโทษ)

 

มากไปกว่านั้นคือประเด็นที่มีการเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า แท้จริงแล้วก่อนจะมาทำหน้าที่คุม VAR ในเกมวันเสาร์ที่ผ่านมา (30 กันยายน) ทั้ง ดาร์เรน อิงแลนด์ และ แดน คุก ได้รับอนุญาตจาก PGMOL ให้เดินทางไปทำการตัดสินในเกมที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (28 กันยายน) หรือไม่ถึง 48 ชั่วโมงก่อนทำหน้าที่ในเกมพรีเมียร์ลีก

 

เรื่องนี้กำลังเป็นประเด็นใหญ่ว่าทำไมหัวหน้าคณะผู้ตัดสินอย่างเว็บบ์ถึงอนุญาตให้เดินทางไปได้

 

VAR

 

แสงสว่างที่ทางออก?

ขณะที่ลิเวอร์พูลออกแถลงการณ์ ‘รับทราบ’ คำชี้แจงของ PGMOL

 

แต่ไม่ได้แปลว่ายอมรับเรื่องนี้ โดยเชื่อว่าจะมีการเตรียมฟ้องร้องหรือดำเนินการรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งกับ ดาร์เรน อิงแลนด์ ผู้ตัดสิน VAR ในวันนั้น

 

โดยล่าสุดยังมีรายงานว่าลิเวอร์พูลต้องการ ‘ไฟล์เสียง’ การสนทนาระหว่าง ไซมอน ฮูเปอร์ และอิงแลนด์ในเกมดังกล่าว เพื่อตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้นจึงมีความผิดพลาดเกิดขึ้น เพื่อให้ทุกคนสามารถตรวจสอบเรื่องนี้ได้อย่าง ‘โปร่งใส’ ที่สุด

 

ขณะที่การแก้ปัญหาในอนาคต ในประเด็นเรื่องของลูกล้ำหน้าที่เป็นปัญหาโลกแตกมาทุกยุคทุกสมัย มีการเรียกร้องให้พรีเมียร์ลีกนำระบบ ‘Semi-Automated Offside System’ มาใช้เพื่อช่วยให้การตัดสินเป็นไปอย่างมีมาตรฐานมากขึ้น

 

ส่วนข้อเสนอที่น่าสนใจยังมีการจ้างอดีตนักฟุตบอลอาชีพที่มีความเข้าใจเกมฟุตบอลเข้ามาทำการตัดสิน

 

เฮนรี วินเทอร์ หัวหน้าข่าวฟุตบอล The Times เป็นผู้เสนอแนะไอเดียนี้ โดยบอกว่า VAR ไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะในแชมเปียนส์ลีกและในฟุตบอลโลกทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ช่วยให้เกิดการตัดสินที่ถูกต้อง ปัญหาที่เกิดขึ้นในพรีเมียร์ลีกจึงเป็นเรื่องของ ‘คน’ ไม่ใช่ ‘ระบบ’

 

ในความเห็นของวินเทอร์ ผู้ตัดสินที่ทำหน้าที่ได้ดีและอยู่ในระดับ Elite ของโลกฟุตบอลคือ แอนโทนี เทย์เลอร์ และ ไมเคิล โอลิเวอร์ เท่านั้น นอกนั้นถือว่ามาตรฐานยังไม่ดีเท่า

 

ที่ผ่านมา PGMOL มีความพยายามในการยกระดับด้วยการเปิดโปรแกรมผู้ตัดสิน Elite Referee Development Plan และ Referee Progression Pathway เพื่อสรรหาผู้ตัดสินหน้าใหม่ที่จะเข้ามาทำงานในวงการ

 

ผู้ตัดสินจาก PGMOL ที่ดีพอจะทำหน้าที่ในเกมระดับแชมเปียนส์ลีกได้จะได้ค่าตอบแทนที่ปีละ 100,000 ปอนด์ แต่นั่นก็ยังน้อยกว่าผู้ตัดสินจากลาลีกาที่จะได้รับมากกว่านี้ 2 เท่า นั่นหมายความว่าเวลานี้ค่าตอบแทนของผู้ตัดสินในอังกฤษอาจมีส่วนในเรื่องของคนทำงาน

 

หาก PGMOL ยอมจ่ายมากกว่านี้เพื่อดึงดูดอดีตนักฟุตบอลอาชีพที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสโมสรในระดับลีกสูงสุด แต่เป็นในระดับลีกรองลงมา เช่น ลีกวัน, ลีกทู (ดิวิชันที่ 3-4) อาจจะได้ผู้ตัดสินที่มีความเข้าใจเกมและธรรมชาติของเกมฟุตบอลมากขึ้น

 

อย่างไรก็ดีทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของอนาคตอันไกลโพ้น ไม่ต่างอะไรจากความหวังของมนุษย์ที่จะเดินทางไปอาศัยในดาวดวงอื่น

 

สิ่งที่เว็บบ์และ PGMOL ต้องทำในตอนนี้คือการหาทางยกระดับการตัดสินให้บริสุทธิ์ ยุติธรรม และไม่ก่อให้เกิดความผิดพลาดอีก

 

ผู้ตัดสินก็คนเหมือนกัน ใครก็รู้

 

แต่เมื่อหน้าที่ของคุณคือการตัดสินให้ถูกต้อง ก็ควรทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ใช่ไหม?

 

อ้างอิง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising