×

เปิดตำนาน ‘ป๋าเปรม’ ทำไมผู้นำประเทศ-ทหาร ต้องเข้าอวยพรวันเกิด

23.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins read
  • ช่วงที่ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีความพยายามก่อรัฐประหารถึง 2 ครั้ง
  • ตลอด 8 ปี 5 เดือนที่พล.อ. เปรม เป็นนายกฯ ไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเลยสักครั้งเดียว

     ตำนานการเมืองที่ยังมีชีวิตอย่างแท้จริง สำหรับ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ซึ่งจะมีอายุครบ 97 ปี ในวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคมนี้

     ผู้นำประเทศไม่ว่ายุคไหน ต้องตบเท้าเข้าอวยพร ‘ป๋าเปรม’ ในโอกาสสำคัญทั้งวันเกิดและวันสำคัญต่างๆ เช่น วันปีใหม่และวันสงกรานต์

     เช่นเดียวกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ที่จะนำคณะรัฐมนตรีและผู้นำเหล่าทัพเรียงแถวเข้าอวยพรวันคล้ายวันเกิด ‘ป๋าเปรม’ ล่วงหน้าในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์

     เคยสงสัยไหมว่า ทำไมใครๆ ก็ต้องเคาะประตูบ้านอวยพร ‘ป๋าเปรม’ ในวันสำคัญ

 

 

ย้อนเส้นทางการเมือง พล.อ. เปรม

     พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของประเทศ เป็นนายกรัฐมนตรีจากคำเชิญของรัฐสภาถึง 3 สมัย ระหว่างปี 2523-2531 ครองตำแหน่งนายกฯ นานกว่า 8 ปี 5เดือน

     พล.อ. เปรม เริ่มเข้าสู่การเมืองตั้งแต่ยศพันเอก คุมกองกำลังทหารม้า ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502

     มีตำแหน่งในรัฐบาลครั้งแรกยุค พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดย พล.ท. เปรม (ตำแหน่งในเวลานั้น) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ได้เป็น ‘รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย’

     และได้เป็น ‘รัฐมนตรีกลาโหม’ ควบตำแหน่ง ‘ผู้บัญชาการทหารบก’ ในสมัย พล.อ. เกรียงศักดิ์ เป็นนายกฯ ครั้งที่ 2

 

กองทัพดัน ‘พล.อ. เปรม’ นั่งเก้าอี้นายกฯ

     เบื้องหลังมติรัฐสภาที่เห็นชอบให้ ‘พล.อ. เปรม’ เป็นนายกฯ คืออิทธิพลของกลุ่ม จปร. 7 (นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 7) มี พ.อ. จำลอง ศรีเมือง, พ.อ. มนูญ รูปขจร และพ.อ. ประจักษ์ สว่างจิตร เป็นแกนนำ

     นอกจากกองทัพแล้ว ยังมีพรรคการเมืองอีก 5 พรรค ได้แก่ ชาติไทย ประชาธิปัตย์ กิจสังคม ชาติประชาชน และสยามประชาธิปัตย์ สนับสนุนพล.อ. เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยหวังมีชื่อร่วมรัฐบาล

 

 

ย้อนตำนานฉายา ‘นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา’

     ในช่วงที่ พล.อ. เปรม เป็นนายกฯ มีความพยายามจะยึดอำนาจถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรก คือ วันที่ 1 เมษายน 2524 กลุ่มยังเติร์ก จปร. 7 ที่หนุนหลังพล.อ. เปรม เป็นนายกฯ ทำการรัฐประหารเสียเอง แต่ก็ล้มเหลว

     ข้อมูลเบื้องลึกในเวลานั้นระบุว่า พล.อ. เปรม มีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการรัฐประหารตัวเอง เพราะต้องการแก้ปัญหาความวุ่นวายของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ต่างฝ่ายต่างทะเลาะกันเพื่อแย่งผลประโยชน์

     แต่เกมมาพลิกทำให้ทหารที่ร่วมก่อการครั้งนั้นต้องเป็นกบฏ นักหนังสือพิมพ์จึงตั้งฉายาให้ พล.อ. เปรมว่า ‘นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา’

     ความพยายามจะรัฐประหาร พล.อ. เปรม ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2528 มีการอ้างชื่อพล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก ผบ.ทบ. และนายทหารคนสนิทของพล.อ. เปรมเป็นผู้นำ แต่แผนการรั่วไหลก่อน จึงไม่สำเร็จ

     เหตุการณ์นี้มีการปะทะกันเสียชีวิต 5 คน บาดเจ็บ 59 คน ต่อมาความสัมพันธ์ระหว่างพล.อ. เปรม กับพล.อ. อาทิตย์ เริ่มตึงเครียด จนในที่สุดพล.อ. เปรม ปลดพล.อ. อาทิตย์ จากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก พร้อมแต่งตั้ง พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ เข้ารับตำแหน่งแทน

 

ลูกป๋ารวมสุดยอดเทคโนแครต

     จุดเด่นสำคัญของรัฐบาลพล.อ. เปรม คือ การมีทีมที่ปรึกษา หรือ ‘เทคโนแครต’ ชั้นยอดจำนวนมาก

     ทีมเศรษฐกิจที่โดดเด่นนำโดย เสนาะ อูนากูล อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ, ดร. วีรพงษ์ รามางกูร คณบดีเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งยังได้นายธนาคารอย่าง สมหมาย ฮุนตระกูล และนักบัญชีอย่าง สุธี สิงห์เสน่ห์ มาทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ตลอดช่วงเวลาในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลพล.อ. เปรม

     ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง อาทิ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ, พล.อ. มงคล อัมพรพิสิฏฐ์, พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ และน.อ.ต. ประสงค์ สุ่นศิริ

     ที่ปรึกษาด้านการเมืองและสังคม อาทิ ชัยอนันต์ สมุทวณิช, ทินพันธุ์ นาคะตะ และสุขุม นวลสกุล

 

 

อิทธิพลกองทัพค้ำบัลลังก์ พล.อ. เปรม

     ตลอด 8 ปี 5 เดือนของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ. เปรม ไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเลยสักครั้งเดียว

     หลายคนมองว่าพล.อ. เปรม เป็นต้นแบบของความซื่อสัตย์ แต่ข้อมูลในเวลานั้นมีการพูดถึงกันชัดเจนถึงกลวิธีต่างๆ ในการล็อบบี้ ส.ส. ทั้งบนดินและใต้ดิน รวมทั้งบทบาทสำคัญของกองทัพในการค้ำบัลลังก์พล.อ. เปรม

     ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ช่วงพล.อ. เปรม เป็นนายกฯ ปี 2526 พรรคชาติไทย พยายามเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจพล.อ. เปรม แต่ไม่สำเร็จ เพราะมี ส.ส. เข้าชื่อไม่พอ จนต้องจองโรงแรมดุสิตธานี จัดอภิปรายนอกสภาฯ ซึ่งก่อนการอภิปรายจะเริ่ม พล.ท. ชวลิต ยงใจยุทธ และพล.ต. พิจิตร กุลละวณิชย์ (ยศในเวลานั้น) เดินทางมาขออย่าให้มีการอภิปรายพล.อ. เปรม รุนแรง

 

สืบทอดอำนาจอย่างมั่นคงในฐานะ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

     จุดสิ้นสุดของรัฐบาลพล.อ. เปรม นอกจากความขัดแย้งกับพล.อ. อาทิตย์ ผบ.ทบ. และผู้บัญชาการทหารสูงสุดในเวลานั้นแล้ว กระแสความเบื่อพล.อ. เปรม เริ่มโดดเด่นขึ้นในปี 2530 ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลยกให้พล.อ. เปรม เป็นบุคคลอารมณ์บูดที่สุด

     นอกจากนี้ ชนชั้นนำและเทคโนแครตบางส่วนได้เข้าชื่อ 99 คนถวายฎีกาคัดค้านการครองอำนาจต่อไปของพล.อ. เปรม แม้การเลือกตั้งปี 2531 พรรคชาติไทย ประชาธิปัตย์ กิจสังคม และราษฎร จะเชิญพล.อ. เปรม เป็นนายกฯ อีกครั้ง แต่ด้วยกระแสคัดค้านที่เริ่มแรงขึ้น พล.อ. เปรมประกาศไม่รับตำแหน่งนายกฯ นับเป็นการยุติบทบาทการเมืองในฐานะนายกฯ มาสู่บทบาทการเมืองใหม่ในฐานะประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

     ถึงวันนี้แม้ ‘นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา’ จะพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ไปนานแล้ว แต่อำนาจทางการเมืองของพล.อ. เปรม ยังมีอยู่อย่างมั่นคง

     ทุกปีเราจะได้เห็นผู้นำประเทศและขุนพลทหารตบเท้าเข้าอวยพร พล.อ. เปรม ในช่วงเทศกาลสำคัญและวันคล้ายวันเกิดของท่าน

     ปีนี้ก็เช่นกัน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising