“เราเกิดมาตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน”
เป็นคำกล่าวของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่กล่าวเน้นย้ำเสมอเรื่องการทำงานรับใช้ประเทศชาติและเป็นแบบอย่างให้กับนายทหารรุ่นน้องและคนรุ่นหลังให้ตระหนักถึงบุญคุณของแผ่นดินที่ต้องตอบแทน (บีบีซีไทย, 2562, 1)
วันที่ 26 พฤษภาคม 2562 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษได้ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบ นับเป็นการสูญเสียปูชนียบุคคลในทางการเมืองและการทหารของไทย (ไทยรัฐออนไลน์, 2562, 1 : The Standard Team, 2562, 1)
พลเอก เปรม ประสบความสำเร็จในการรับราชการทั้งการเมืองและการทหาร ในทางการเมือง ดำรงตำแหน่งสูงสุดคือนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ในปี 2523 โดยอยู่ในตำแหน่งถึง 8 ปี 5 เดือน (2523-2531) ส่วนทางการทหาร ดำรงตำแหน่งสูงสุดในกองทัพบกคือผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 22 ในปี 2521 อยู่ในตำแหน่ง 3 ปี (2521-2524) (กองทัพบก, 2562, 1)
ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบก พลเอก เปรม ได้สร้างคุณูปการแก่ประเทศชาติ ผลงานสำคัญที่สร้างชื่อให้กับพลเอก เปรม คือคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่อง นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ (กองทัพบก, 2562, 1)
ภายหลังเกษียณอายุราชการ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีและรัฐบุรุษในปี 2531, ประธานองคมนตรี ครั้งที่ 1 ในปี 2541, ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในปี 2559 และประธานองคมนตรี ครั้งที่ 2 ในปี 2559 (บีบีซีไทย, 2562, 1)
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ
ภาพ: www.finearts.go.th
เส้นทางการทหารของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
พลเอก เปรม สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเท็ฆนิคทหารบก (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในปัจจุบัน) ในปี 2484 เข้ารับราชการทหารในเหล่าทหารม้า เริ่มรับราชการเป็นผู้บังคับหมวดประจำกรมรถรบ (ร้อยตรี) ในปี 2484
ปี 2495 พลเอก เปรม ในยศพันตรีได้รับทุนจากกองทัพบกไปศึกษาต่อที่ The United States Army Armor School (Fort Knox) รัฐเคนทักกี สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโรงเรียนเหล่าทหารม้าชื่อดังของสหรัฐอเมริกา เมื่อสำเร็จการศึกษาในปี 2497 ได้รับตำแหน่งในการรับราชการสูงขึ้นตามลำดับ พลเอก เปรม ดำรงตำแหน่งทางทหารที่สำคัญ ดังนี้ (กองทัพบก, 2562, 1)
- ปี 2501-2506 ผู้ช่วยผู้บัญชาการ และรองผู้บัญชาการโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า (พันเอก)
- ปี 2506-2511 รองผู้บัญชาการโรงเรียนทหารม้า ศูนย์การทหารม้า, รองผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า และรองผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสระบุรี (พันเอก)
- ปี 2511-2516 ผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า และผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสระบุรี (พลตรี)
- ปี 2516-2517 รองแม่ทัพภาคที่ 2 (พลตรี)
- ปี 2517-2520 แม่ทัพภาคที่ 2 (พลโท)
- ปี 2520-2521 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (พลเอก)
- ปี 2521-2524 ผู้บัญชาทหารบก (พลเอก)
พลเอก เปรม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2 ระหว่างปี 2517-2520 ได้ริเริ่มแนวคิดนโยบาย ‘การเมืองนำการทหาร’ ช่วยแก้ปัญหาการคุกคามจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และสามารถดึงมวลชนมาเป็นแนวร่วมได้เป็นจำนวนมาก แนวคิดการเมืองนำการทหารได้เผยแพร่ไปสู่กองทัพภาคอื่นๆ และกลายเป็นความคิดหลักของกองทัพบก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน และขยายออกไปสู่คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 เรื่อง นโยบายต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ วันที่ 23 เมษายน 2523 ซึ่งนำไปสู่การยุติสงครามกลางเมืองลงอย่างเด็ดขาดในปี 2524 เมื่อพลเอก เปรม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (กองทัพบก, 2562, 1)
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2 ได้ริเริ่มแนวคิดนโยบาย ‘การเมืองนำการทหาร’ นำมาสู่การออกนโยบาย 66/2523 นโยบายต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์
ภาพ: www.thaipost.net
สำหรับที่มาของคำว่า ‘ป๋าเปรม’ เกิดขึ้นเมื่อครั้งพลเอก เปรม ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้าระหว่างปี 2511-2516 (เสถียร จันทิมาธร, 2545, 61) พลเอก เปรม จะเรียกแทนตัวเองว่า ‘ป๋า’ และเรียกนายทหารผู้ใต้บังคับบัญชาว่า ‘ลูก’ นายทหารผู้ใต้บังคับบัญชาและนายทหารคนสนิทจึงเรียกพลเอก เปรม ว่า ‘ป๋าเปรม’ จนถึงปัจจุบัน (โพสต์ทูเดย์, 2562, 1)
สำหรับนายทหารคนสนิทของพลเอก เปรม หรือที่เรียกว่า ‘นายทหารลูกป๋า’ คนสำคัญ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำและนายทหารคนสนิทของพลเอก เปรม มีบทบาทสำคัญในการเป็นฐานอำนาจทางการเมืองและการทหารช่วงที่พลเอก เปรม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก ได้แก่ พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก, พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ, พลเอก มงคล อัมพรพิสิฏฐ์, พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ และนายทหารเหล่าทหารม้า ได้แก่ พลตรี มนูญกฤต รูปขจร, พันเอก ชูพงศ์ มัทวพันธุ์, พลเอก อู๊ด เบื้องบน และพลเอก ไพโรจน์ พานิชสมัย (เสถียร จันทิมาธร, 2549, 110-111)
พลเอก อาทิตย์, พลเอก ชวลิต และพลเอก สุรยุทธ์ เป็นนายทหารลูกป๋าที่สามารถขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเช่นเดียวกับพลเอก เปรม
พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก, พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ และพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายทหารลูกป๋าที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก
ภาพ: www.rta.mi.th
เส้นทางการเมืองของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
พลเอก เปรม เข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรกในปี 2502 ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พลเอก เปรม ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ ดังนี้ (กองทัพบก, 2562, 1)
- ปี 2511 สมาชิกวุฒิสภา
- ปี 2515 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- ปี 2520 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
- ปี 2522-2529 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
- ปี 2523-2531 นายกรัฐมนตรี
พลเอก เปรม ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในกองทัพบก โดยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 22 ในปี 2521 ต่อจาก พลเอก เสริม ณ นคร ที่ไปดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ต่อมาในปี 2523 ขึ้นสู่ตำแหน่งทางการเมืองสูงสุด โดยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ในปี 2523 ต่อจาก พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 15 ที่ประกาศลาออกจากตำแหน่ง (Morell and Chai-anan Samudavanija, 1981, 279-280)
พลเอก เปรม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2523-2531 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 8 ปี 5 เดือน นโยบายสำคัญที่นำมาสู่การต่อสู้เอาชนะสงครามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอย่างเด็ดขาด ได้แก่ นโยบายการเมืองนำการทหาร นำมาสู่การออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่อง นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์
โดยมีสาระสำคัญคือการยึดมั่นและสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตย คัดค้านเผด็จการและต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ ภัยคอมมิวนิสต์ และการปกครองแบบเผด็จการบั่นทอนความมั่นคงแห่งชาติ และระบอบประชาธิปไตยจะแก้ไขปัญหาของชาติได้ด้วยการปฏิวัติประชาธิปไตยอย่างราบรื่นตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ (สำนักนายกรัฐมนตรี, 2523, 1-3 : Suchit Bunbongkarn, 1987, 15-16)
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 22 ระหว่างปี 2521-2524 ส่งมอบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 23 ให้กับ พลเอก ประยุทธ จารุมณี ในปี 2524
ภาพ: www.generalprempark.com
ส่วนนโยบายเศรษฐกิจ ช่วงที่พลเอก เปรม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญคือ (วิเชียร ตันศิริคงคล, 2537, 124)
1. การสร้างงานตามโครงการสร้างงานในชนบท (กสช.) โดยสานต่อจากนโยบายเงินผันที่ดำเนินการมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช
2. การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชน (กรอ.) เพื่อส่งเสริมบทบาททางการค้าและการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศ
คณะรัฐมนตรี นำโดย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ภาพ: www.finearts.go.th
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ บนเส้นทางทางการเมืองและการทหารช่วงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (2523-2531)
ช่วงที่พลเอก เปรม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2523-2531 เป็นช่วงที่ทหารมีบทบาททางการเมือง สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 เปิดช่องให้ข้าราชการประจำสามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะการดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกของนายทหารในกองทัพบก ตามบทเฉพาะกาลที่ระบุว่า
“ในวาระ 4 ปีแรก ข้าราชการประจำสามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้โดยไม่ต้องลาออกจากตำแหน่ง” (กองบรรณาธิการมติชน, 2528, 18)
นอกจากนี้กำหนดให้วุฒิสมาชิกมีอำนาจสิทธิเช่นเดียวกันสภาผู้แทนราษฎร สามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในฐานะสมาชิกรัฐสภา (กองบรรณาธิการมติชน, 2528, 18-19) และกำหนดให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 146 ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งและรัฐมนตรีอีกไม่เกิน 44 คน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521, 30) ทำให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 มีชื่อเรียกอีกชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือประชาธิปไตยครึ่งใบ
เพราะเป็นยุคที่ข้าราชการประจำสามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะการดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกของนายทหารในกองทัพบก ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้พลเอก เปรม ถูกท้าทายจากนายทหารในกองทัพบกเป็นครั้งแรก เมื่อกลุ่ม จปร.7 (กลุ่มยังเติร์ก) ซึ่งคุมกำลังรบ 13 กรม 42 กองพัน ร่วมกับ พลเอก สัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าคณะปฏิวัติ, พลโท วศิน อิศรางกูร ณ อยุธยา แม่ทัพภาคที่ 1, พลตรี สุจินต์ อารยะกุล ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และพลตรี มนูญกฤต รูปขจร ผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ เลขาธิการคณะปฏิวัติ ทำการรัฐประหารพลเอก เปรม ในเดือนเมษายน 2524 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ นับเป็นการรัฐประหารที่ใช้กำลังมากที่สุดในประวัติศาสตร์ (วิเชียร ตันศิริคงคล, 2537, 109 : Tamada, 1995, 35-37 : Surachart Bamrungsuk, 1999, 39-40 : ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2525, 154 : เจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์, 2562, 1)
เหตุการณ์รัฐประหาร พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่ล้มเหลวในเดือนเมษายน 2524
ภาพ: www.thairath.co.th
ในปี 2528 พลเอก เปรม ถูกท้าทายจากทหารในกองทัพบกและกองทัพอากาศอีกครั้ง วันที่ 9 กันยายน 2528 เกิดการก่อรัฐประหารขึ้น คณะผู้ก่อการรัฐประหาร นำโดย พลตรี มนูญกฤต รูปขจร และพลอากาศเอก มนัส รูปขจร นำเอากำลังทหารจากกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ และกรมทหารอากาศโยธิน จำนวน 500 คน ทำการรัฐประหารระหว่างที่พลเอก เปรม ดูงานอยู่ที่อินโดนีเซีย แต่ไม่สำเร็จ กลายเป็นกบฏไอ้โม่ง หรือกบฏนัดแล้วไม่มา (Tamada, 1995, 46-47 : Surachart Bamrungsuk, 1999, 44-46 : วิเชียร ตันศิริคงคล, 2537, 127 : เจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์, 2562, 1)
เหตุการณ์รัฐประหาร พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่ล้มเหลวในวันที่ 9 กันยายน 2528
ภาพ: www.silpa-mag.com
แม้ว่าพลเอก เปรม จะรอดพ้นจากการรัฐประหาร 2 ครั้งในปี 2524 และ 2528 และสามารถอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 8 ปี 5 เดือน
แต่ในปี 2531 พลเอก เปรม ประกาศยุบสภา และประกาศว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยบอกว่า
“ผมขอพอ ขอให้ช่วยประคับคองประชาธิปไตยกันต่อไปด้วย” (Workpoint News, 2562, 1)
นับเป็นการลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอก เปรม ภายหลังดำรงตำแหน่งมาถึง 8 ปี 5 เดือน
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พลเอก เปรม สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 8 ปี 5 เดือนคือการสนับสนุนจากกองทัพ ดังที่พลเอก เปรม กล่าวในพิธีสวนสนามทางเรือ ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ วันที่ 18 เมษายน 2530 (สุรชาติ บำรุงสุข, 2530, 1)
“ผมคิดว่าถ้าปราศจากกองทัพ ผมคงไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี… ขณะนี้อุณหภูมิการเมืองกำลังค่อนข้างมีอุณหภูมิสูง แต่ผมก็มั่นใจว่าด้วยความร่วมมือร่วมใจ ความเข้าใจของกองทัพและตำรวจ อุณหภูมิทางการเมืองคงลดต่ำลง ขอเรียนว่าที่ผมสามารถดำรงความเป็นนายกรัฐมนตรีได้ก็เพราะพวกเรา และจะเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยการรักษาเกียรติยศชื่อเสียงของกองทัพไว้ให้ได้ กองทัพคือองค์กรที่สำคัญยิ่งของบ้านเมือง…”
นอกจากนี้พลเอก เปรม ยังเป็นนายกรัฐมนตรีที่เปิดบ้านให้คณะนายทหารจากกองทัพบกเข้าอวยพรเนื่องในวันสำคัญต่างๆ เริ่มเป็นครั้งแรกในปี 2525 ซึ่งเป็นการเข้าอวยพรวันเกิดพลเอก เปรม วันที่ 26 สิงหาคม 2525 นำโดย พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบก และคณะนายทหารจากกองทัพบก และกลายเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา
ภายหลังมีการเข้าอวยพรในวันสำคัญต่างๆ ได้แก่ วันขึ้นปีใหม่และวันสงกรานต์ จากเดิมการเข้าอวยพรพลเอก เปรม จะทำเฉพาะนายทหารจากกองทัพบก ภายหลังนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือน ได้เข้าร่วมอวยพรพลเอก เปรม เนื่องในวันสำคัญต่างๆ ได้แก่ วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ และวันเกิด 26 สิงหาคม จนถึงปัจจุบัน (ปิยะภพ มะหะมัด, 2562, 1 : พลวุฒิ สงสกุล, 2562, 1)
การเปิดบ้านสี่เสาเทเวศร์ครั้งสุดท้ายของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะเข้าอวยพรเนื่องในโอกาสปีใหม่ 2562 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561
ภาพ: www.thaipost.net
เส้นทางรัฐบุรุษของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ บนเส้นทางประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ (2531-2562)
ภายหลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2531 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีและรัฐบุรุษในปี 2531
ในปี 2541 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีแทน สัญญา ธรรมศักดิ์ ที่ลาออกเนื่องจากปัญหาสุขภาพ
ในปี 2559 ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีครั้งที่ 2 สนองพระเดชพระคุณพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีสองพระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 โดยได้รับการยกย่องว่าเป็นประธานองคมนตรีสองแผ่นดิน (ไทยรัฐออนไลน์, 2562, 1 : บีบีซีไทย, 2562, 1 : The Standard Team, 2562, 1) ก่อนถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบในวันที่ 26 พฤษภาคม 2562 ด้วยวัย 98 ปี
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี วันที่ 4 สิงหาคม 2541
ภาพ: www.tnews.co.th
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี วันที่ 7 ธันวาคม 2559
ภาพ: www.matichon.co.th
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- กองทัพบก. (2562). ทำเนียบอดีตผู้บังคับบัญชา. www.rta.mi.th/rta_website/index.php/leaders/commanders-directory-1
- กองทัพบก. (2562). พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก ลำดับที่ 22. www.rta.mi.th/newweb/commanders/past_commander/past_commander22.html
- กองบรรณาธิการมติชน. (2528). นี่คือประเทศไทย ประมวลตำนาน และวิกฤตรัฐธรรมนูญอันสะท้อนสภาพการเมืองไทย. กรุงเทพฯ: มติชน.
- เจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์. (2562). วีรกรรม จปร.7 “กบฏยังเติร์ก” หวังโค่นอำนาจ “พล.อ.เปรม” สุดท้ายล้มเหลว. www.thairath.co.th/news/politic/1501676
- ชัยอนันต์ สมุทวณิช. (2525). ยังเติร์กกับทหารประชาธิปไตย การวิเคราะห์บทบาททหารในการเมืองไทย. กรุงเทพฯ: บรรณกิจ.
- ทีนิวส์. (2562). ย้อนพระบรมราชโองการ ในหลวงร.9 แต่งตั้ง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานองคมนตรี. www.tnews.co.th/social/507839/ย้อนพระบรมราชโองการ-ในหลวงร.9-แต่งตั้ง-พลเอกเปรม-ติณสูลานนท์-เป็นประธานองคมนตรี
- ไทยโพสต์. (2562). ‘ป๋าเปรม’ แนะ ‘นายกฯบิ๊กตู่’ ทำเป็นตัวอย่าง เห็นต่างคือมิตรไม่ใช่ศัตรู. www.thaipost.net/main/detail/25210
- ไทยโพสต์. (2562). ย้อนอดีต ‘ป๋าเปรม’ กับนโยบาย 66/23 ฉีกทฤษฎีโดมิโน โค่นคอมมิวนิสต์. www.thaipost.net/main/detail/36837
- ไทยรัฐออนไลน์. (2562). รำลึก “เปรม ติณสูลานนท์” ประธานองคมนตรี เจ้าของฉายา “เตมีย์ใบ้.” www.thairath.co.th/news/politic/1576461
- บีบีซีไทย. (2562). เปรม ติณสูลานนท์ : จากนายกรัฐมนตรี สู่ “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ.” www.bbc.com/thai/thailand-41025621
- ปิยะภพ มะหะมัด. (2562). ย้อนที่มา หาความหมาย ทำไมใครๆ ต่างตบเท้าเข้าอวยพร พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ในวันสำคัญต่างๆ thestandard.co/prem-tinsulanonda
- พลวุฒิ สงสกุล. (2562). เปิดตำนาน ‘ป๋าเปรม’ ทำไมผู้นำประเทศ-ทหาร ต้องเข้าอวยพรวันเกิด. thestandard.co/prem-tinsulanonda-the-legend
- โพสต์ทูเดย์. (2562). เส้นทางชีวิต “พลเอกเปรม” ประธานองคมนตรี 2 แผ่นดิน. www.posttoday.com/politic/news/590187
- มติชนออนไลน์. (2562). พระราชดำรัส รัชกาลที่ 10 ‘ได้ป๋ามาเป็นประธาน ก็อุ่นใจแล้ว’ พล.อ.เปรม หน้าที่สำคัญถวายงานครั้งสุดท้าย. www.matichon.co.th/heading-news/news_1510670
- รัฐธรรมนูญแหงราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521. ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 95 ตอนที่ 146 (22 ธันวาคม 2521): 1-66.
- วิเชียร ตันศิริคงคล. (2537). ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ มีผลยับยั้งการรัฐประหารโดยคณะทหารหรือไม่: ศึกษาเฉพาะกรณี
- การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534. ภาคนิพนธ์รายวิชา ร.702 การศึกษาเฉพาะเรื่องทางการปกครองและการเมือง 2 หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
- ศิลปวัฒนธรรม. (2562). 9 กันยายน 2528: กลุ่ม “ทหารนอกราชการ” ก่อกบฏ อ้าง “เศรษฐกิจแย่-ว่างงานเยอะ-อาชญากรรมสูง.” www.silpa-mag.com/featured/article_2356
- เสถียร จันทิมาธร. (2545). เส้นทางสู่อำนาจ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์. กรุงเทพฯ: มติชน.
- เสถียร จันธิมาธร. (2549). เส้นทางสู่อำนาจมนูญ รูปขจร อาทิตย์ กำลังเอก ใต้เงาเปรม ติณสูลานนท์. กรุงเทพฯ: มติชน.
- สุรชาติ บำรุงสุข. (บรรณาธิการ). (2530). ระบบทหารไทย : บทศึกษากองทัพในบริบททางสังคม-การเมือง. กรุงเทพฯ: สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- สวนประวัติศาสตร์พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สงขลา. (2562). ประวัติพลเอกเปรมฯ. www.generalprempark.com/content/detail/1/9
- สำนักนายกรัฐมนตรี. (2523). คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่อง นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์. กรุงเทพฯ: สำนักนายกรัฐมนตรี.
- หอจดหมายเหตุ นายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์. (2562). ประวัติ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์. www.finearts.go.th/premarchives/parameters/km/item/ประวัติ-พลเอก-เปรม-ติณสูลานนท์.html
- Morell, David and Chai-anan Samudavanija. (1981). Political Conflict in Thailand: Reform, Reaction, Revolution. Cambridge, Mass.: Oelgeschlager, Gunn & Hain.
- Suchit Bunbongkarn. (1987). The Military in Thai Politics, 1981-86. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies.
- Surachart Bamrungsuk. (1999). From Dominance to Power Sharing: The Military and Politics in Thailand, 1973-1992. Ph.D. diss., Columbia University.
- The Standard Team. (2562). ย้อนอ่านพระบรมราชโองการรัชกาลที่ 9 ประกาศแต่งตั้ง พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานองคมนตรี. thestandard.co/royal-command-prem-tinsulanonda
- The Standard Team. (2562). BREAKING: ด่วน! พลเอก เปรม ถึงแก่อสัญกรรมแล้วในวัย 98 ปี thestandard.co/prem-tinsulanonda-dies-98
- Tamada, Yoshifumi. (1995). Coups in Thailand, 1981-1991: Classmates, Internal Conflicts and Relations with the Government of the Military. Southeast Asian Studies, 33, (3), 35-57.
- Workpoint News. (2562). ย้อนวัน “ป๋าเปรม” ไม่รับเป็นนายกรัฐมนตรี : ผมพอแล้ว. workpointnews.com/2019/05/26/prem-2