คุณผู้หญิงหลายคนอาจเคยสังเกตเห็นว่ามีเส้นสีเข้มกลางท้องจากสะดือลงไปถึงน้องสาว แต่สิ่งนี้คืออะไร หมอเอาคำตอบมาฝากค่ะ
เส้นลีเนีย ไนกร้า (Pregnancy Line หรือ Linea Nigra) เป็นเส้นตรงสีน้ำตาล ในบางคนสีเข้มจนเกือบเป็นสีดำ บางคนสีน้ำตาลอ่อน สีน้ำตาลจาง มีความกว้างครึ่งถึงหนึ่งเซนติเมตร
เส้นลีเนีย ไนกร้า นั้นถือเป็นขบวนการหนึ่งของธรรมชาติ เกิดได้ในผู้หญิงทุกคน โดยอาจเป็นกรรมพันธุ์ ซึ่งมักเกิดในคนผิวแทน ผิวคล้ำ ผิวสี นอกจากนั้นยังเกิดในผู้หญิงบางคนที่มีฮอร์โมนเพศชายระดับสูง และจะเกิดเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงท้อง โดยเส้นนี้เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องรักษา เนื่องจากไม่มีอาการอะไร ไม่ทำให้เกิดอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น คุณแม่มักจะไม่รู้ว่ามีเส้นนี้เกิดขึ้น มาเห็นก็ต่อเมื่อส่องกระจกดู หรือคุณพ่อทักค่ะ
ในกรณีที่ตั้งครรภ์ คุณแม่ส่วนใหญ่ที่ตั้งครรภ์จะมีเส้นนี้ปรากฏให้เห็นขึ้นบนท้อง ส่วนสีของเส้นนั้นขึ้นอยู่กับสีผิว ในคนที่ผิวสีเข้มเส้นนี้ก็จะเข้มไปด้วย ในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ผิวขาว ซีด เส้นนี้อาจจะซีดมองแทบไม่เห็น อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะมีหรือไม่มีเส้นลีเนีย ไนกร้าก็ไม่มีผลอะไรกับการตั้งครรภ์ ดังนั้นหมดห่วงไปได้ค่ะ
ขอเสริมอีกนิดว่าในคุณแม่ท้อง นอกจากเส้นลีเนีย ไนกร้าแล้ว โดยทั่วไป 90% ของคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังอื่นๆ เช่น สีผิวเข้มขึ้น ใบหน้าคล้ำ มีฝ้า มีสิว มีการตกกระ ซึ่งเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน มีการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน และฮอร์โมนจากรก รวมถึงฮอร์โมนที่กระตุ้นการสร้างเม็ดสี (Melanocyte Stimulating Hormone) และหลังคลอดการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังจะหายไป รวมถึงเส้นลีเนีย ไนกร้าเช่นกัน
เส้นลีเนีย ไนกร้าจะเริ่มเกิดเมื่อไรในคนท้อง
เส้นนี้มักเกิดพร้อมการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังอื่นๆ ในช่วงไตรมาสที่สอง คือตั้งครรภ์สี่เดือนขึ้นไป ในบางคนอาจจะเกิดเร็วหรือช้ากว่านี้ก็เป็นไปได้
ใช่เส้นหมอดูหรือเปล่าคะ
ในสมัยโบราณ มีการใช้เส้นนี้ทำนายเพศบุตร หากเส้นลีเนีย ไนกร้า สีเข้มมากจะเป็นบุตรชาย สีจางเป็นบุตรหญิง หรือหากเส้นลีเนีย ไนกร้าสั้นจากสะดือลงไปหัวหน่าวจะเป็นเพศชาย หากยาวจากหัวหน่าวขึ้นไปสะดือเลยขึ้นไปถึงยอดอกจะเป็นผู้หญิง แต่ปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริงค่ะ
ไม่มีใครทราบว่าเส้นนี้มีประโยชน์อะไรต่อการตั้งครรภ์ แต่สูติแพทย์ทราบดีว่า เส้นนี้เป็นประโยชน์ เพราะเป็นจุดหมาย (Landmark) ที่สำคัญสำหรับการผ่าตัดคลอดหากผ่าแผลตรง การผ่าบนเส้นลีเนีย ไนกร้า คือการผ่ากึ่งกลางลำตัวพอดี แผลที่เย็บจะดูสวยงาม แต่หากผ่าแผลขวาง เวลาเย็บแผลให้ชิดกัน ต้องเย็บให้เส้นลีเนีย ไนกร้าที่อยู่ด้านบนของแผลบรรจบกับเส้นลีเนีย ไนกร้าด้านล่างของแผลเป็นเส้นตรงจดกันนั่นแหละ แสดงว่าแผลเย็บไม่เบี้ยว การติดของแผลจะสวยงาม
สรุปว่าทั้งนี้ไม่ว่าท้องหรือไม่ท้อง ไม่เกี่ยวข้องกับโรคภัยไข้เจ็บ หรือภาวะผิดปกติอะไรแถมหมอว่ายังดูเท่ดีอีกด้วยค่ะ
ภาพ: Shutterstock
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์