ผู้หญิงหลายคนเป็นกังวลเรื่องการสร้างครอบครัวในวัยผ่านเลข 3 เรื่องนี้โดยทางการแพทย์แล้ว ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไปนั้นเรียกว่าครรภ์เสี่ยงสูง เพราะอาจจะเกิดความเสี่ยงเมื่อตั้งครรภ์ โดยยิ่งอายุมากก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นเนื่องด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งนี้มีสถิติจากงานวิจัยที่รองรับดังต่อไปนี้ค่ะ
โครโมโซมผิดปกติ
ส่งผลให้เด็กพิการทั้งร่างกายและสมอง ที่พบมากคือกลุ่มทารกเด็กดาวน์ซินโดรม
ร่างกายเด็กผิดปกติ
เช่น ไม่มีนิ้ว นิ้วไม่ครบ ศีรษะใหญ่จากความผิดปกติของน้ำหล่อเลี้ยงสมอง หัวใจรั่ว ไปจนถึงลำไส้อุดตัน
แท้งลูก
แม่อายุน้อยกว่า 30 ปี มีโอกาสแท้ง 10% ส่วนคุณแม่อายุ 35 ปีขึ้นไปมีโอกาสแท้งสูงกว่าที่ 15-30%
เกิดโรคในขณะตั้งครรภ์
โรคที่ว่า ได้แก่ ครรภ์เป็นพิษ ซึ่งเกิดสูงกว่า 2-3 เท่า โรคเบาหวาน เกิดสูงกว่า 4-10 เท่า ขณะที่โรคเรื้อรังอื่นๆ สูงกว่าทุกอย่าง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคโลหิตจาง โรคตับ ไต หัวใจ ปอด เป็นต้น
เกิดภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ได้
ภาวะนี้ ได้แก่ ติดเชื้อ ตั้งครรภ์แฝด รกเกาะต่ำ ตกเลือดก่อนคลอด ตกเลือดหลังคลอด น้ำคร่ำแตกก่อนครบกำหนดคลอด เป็นต้น
เกิดผลเสียต่อลูก
เช่น คลอดก่อนกำหนด มีความพิการ น้ำหนักน้อย คลอดยาก คลอดติดไหล่ ลูกขาดออกซิเจนในขณะคลอด
เกิดปัญหาในการคลอด
มีโอกาสต้องใช้เครื่องดูดสุญญากาศ คีมช่วยคลอด ผ่าตัดคลอด ในขณะที่คุณแม่อายุมากกว่า 40 ปีมีโอกาสผ่าตัดคลอด 50% ขณะที่ทั่วไปมีโอกาส 25-30%
ลูกเสียชีวิตในครรภ์
สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งคุณแม่อายุ 40 ปีขึ้นไปมีโอกาสสูงมากกว่า 2-3 เท่า
ฝากครรภ์ช้า
หากฝากครรภ์ไม่ครบหรือไม่ได้ฝากครรภ์เพราะอายุมาก และประจำเดือนมักไม่มาเป็นปกติ ไม่ทราบว่าตนท้อง ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อทั้งแม่และลูกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันคนแต่งงานกันช้าลง กว่าจะมีลูกคนแรก คุณแม่ก็มักมีอายุมากกว่า 35 ปี แต่ถ้าหากสุขภาพกายสุขภาพใจแข็งแรง มีการเตรียมตัวก่อนการตั้งครรภ์ บวกกับฝากครรภ์ก่อน 3 เดือน ทั้งคุณพ่อคุณแม่มีความรู้ในการดูแลการตั้งครรภ์ สามารถปฎิบัติตามคำแนะนำ ตลอดจนได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจากแพทย์ การตั้งครรภ์ในวัยนี้ก็อาจลดความเสี่ยงจากที่กล่าวมาข้างต้นได้ค่ะ
ภาพประกอบ: Pantitra H. / Tanya S.