วานนี้ (30 พฤศจิกายน) นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ถึงกรณีที่ปรากฏข่าวจากสื่อมวลชนและการให้สัมภาษณ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านหนึ่งว่า เมื่อค่ำของวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วยหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคร่วมรัฐบาล และผู้ที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองดังกล่าว ได้ไปพบกับนายกรัฐมนตรีที่บ้านพักรับรองเพื่อหารือเกี่ยวกับการลงสมัครรับเลือกตั้งนั้น
สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีเป็นการใช้หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้สถานะหรือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแสวงหาประโยชน์ทางการเมือง อีกทั้งการใช้บ้านพักรับรองซึ่งตั้งอยู่ในกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ อันเป็นส่วนราชการในพระองค์เป็นสถานที่นัดพบ คือการใช้ทรัพย์สินของทางราชการเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2564 ข้อ 5 (2) และข้อ 8 (6) ตามข้อ 5 ของประมวลจริยธรรมดังกล่าว เป็นข้อกําหนดเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่ อันเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) การฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมข้อ 5 คือการไม่ซื่อสัตย์และไม่รับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบมีสิทธิเข้าชื่อเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วย
สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเห็นต่อไปว่าประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมืองดังกล่าว นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามประกาศใช้และเป็นผู้รักษาการด้วยตนเอง จึงควรปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างของนักการเมืองที่ดี
ถึงแม้การชุมนุมหรือการพบปะทางการเมืองจะเป็นสิทธิและเสรีภาพของนายกรัฐมนตรีและนักการเมืองก็ตาม แต่จะต้องไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่หรือทรัพย์สินของทางราชการไปแสวงหาประโยชน์ทางการเมือง เพราะนอกจากจะเป็นการไม่สุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่แล้วยังขาดจิตสำนึกที่ดีอันเป็นแบบอย่างของนักการเมืองที่ไม่พึงประสงค์