วันนี้ (16 มิถุนายน) อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน 2566 เวลาประมาณ 10.00 น. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trail Run) ตลอดสายอย่างเป็นทางการ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ณ ศูนย์ซ่อมบำรุง-สถานีลาดพร้าว-สถานีศรีเอี่ยม
โดยนายกรัฐมนตรีจะเยี่ยมชมนิทรรศการโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง พร้อมรับฟังรายงานสรุปภาพรวมการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง จากผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ก่อนร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ตลอดสายอย่างเป็นทางการ โดยออกเดินทางจากศูนย์ซ่อมบำรุงไปยังสถานีลาดพร้าว โดยขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ซึ่งจะใช้เวลาเดินทาง 45 นาที
อนุชากล่าว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทรวงคมนาคม ที่ได้รับการออกแบบให้เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder Line) ใช้ขนส่งผู้โดยสารจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครและพื้นที่บางส่วนในจังหวัดสมุทรปราการ เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายหลักอื่นๆ
มีระยะทางรวมประมาณ 30.4 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย มีสถานีรถไฟฟ้าจำนวน 23 สถานี โดยแนวเส้นทางโครงการฯ มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) บริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว แนวเส้นทางวิ่งไปตามแนวถนนลาดพร้าวจนถึงทางแยกบางกะปิ จากนั้นจะเบี่ยงไปทางทิศใต้ตามถนนศรีนครินทร์ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) บริเวณแยกลำสาลี
จากนั้นแนวเส้นทางจะวิ่งไปตามแนวถนนศรีนครินทร์ ผ่านแยกต่างระดับพระราม 9 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟสายตะวันออก บริเวณแยกพัฒนาการ แนวเส้นทางวิ่งผ่านแยกศรีนุช แยกศรีอุดมสุข แยกศรีเอี่ยม จนถึงแยกศรีเทพา จากนั้นเลี้ยวเข้าถนนเทพารักษ์ สิ้นสุดเส้นทางที่จุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ บริเวณแยกเทพารักษ์ โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ มีศูนย์ซ่อมบำรุงฯ และอาคารจอดแล้วจร สำหรับผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวสามารถเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง ได้บริเวณสถานีศรีเอี่ยมและสถานีลาดพร้าว
อนุชากล่าวต่อว่า ตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2566 เป็นต้นมา รฟม. เปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วม Trial Run ได้ระหว่างเวลา 06.00-20.00 น. จำนวน 22 สถานี ได้แก่ สถานีภาวนา, สถานีโชคชัย 4, สถานีลาดพร้าว 71, สถานีลาดพร้าว 83, สถานีมหาดไทย, สถานีลาดพร้าว 101, สถานีบางกะปิ, สถานีแยกลำสาลี, สถานีศรีกรีฑา, สถานีหัวหมาก, สถานีกลันตัน, สถานีศรีนุช, สถานีศรีนครินทร์ 38, สถานีสวนหลวง ร.9, สถานีศรีอุดม, สถานีศรีเอี่ยม, สถานีศรีลาซาล, สถานีศรีแบริ่ง, สถานีศรีด่าน, สถานีศรีเทพา, สถานีทิพวัล และสถานีสำโรง
คงเหลือเพียงสถานีลาดพร้าวที่ผู้รับสัมปทานยังอยู่ระหว่างปรับสภาพทางเท้าและถนนบริเวณโดยรอบให้มีความปลอดภัย ทั้งนี้ ภายหลังการเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วม Trial Run จำนวน 22 สถานีนั้น พบว่ากระแสตอบรับจากประชาชนดีเยี่ยม ชื่นชมรัฐบาลที่ได้เพิ่มช่องทางการเดินทางให้กับประชาชน ลดระยะเวลาในการเดินทาง ทำให้การเดินทางสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น และในวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายนนี้ นายกรัฐมนตรีจะร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trail Run) ตลอดสาย (23 สถานี) อย่างเป็นทางการด้วยตนเอง