×

เปิดผังเครือข่ายค้ำยันฐานอำนาจระบอบประยุทธ์ ตอนที่ 1

โดย วยาส
22.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ครบรอบ 5 ปีการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เท่ากับว่า คนไทยอยู่กับ ‘ระบอบประยุทธ์’ มาแล้ว 5 ปี และไม่มีทีท่าจะยุติแค่นี้ จนถึงวันนี้ระบอบประยุทธ์เผชิญกับวิกฤตความชอบธรรมหลัก 4 เรื่อง 1. การทุจริตอย่างกว้างขวาง 2. การปฏิรูปประเทศที่เดินทางมาถึงจุดล้มเหลว 3. การเลื่อนเลือกตั้ง 4. ความพยายามในการสืบทอดอำนาจทางการเมือง
  • หนึ่งในคำถามสำคัญในวาระครบรอบ 5 ปีของการรัฐประหารคือ ‘เพราะเหตุใด รัฐบาลที่เผชิญกับวิกฤตความชอบธรรมถึงเพียงนี้จึงสามารถดำรงอยู่ในอำนาจได้ และยังอาจสืบทอดอำนาจไปได้อีกยาวไกล’
  • บทความชิ้นนี้เสนอว่า มีเครือข่ายที่ค้ำยันฐานอำนาจระบอบประยุทธ์ให้มั่นคงแข็งแรงอย่างน้อย 6 กลุ่ม 1. กลุ่มทุนหนุนหลัง 2. กองทัพที่เป็นปึกแผ่น 3. เนติบริกรชั้นครู อุตสาหกรรมการปฏิรูปประเทศ สภาตรายางและองค์กรอิสระสีเขียว 4. ดึง ‘ข้าราชการ’ มาเป็นคณะรัฐมนตรีท้องถิ่น 5. โฆษณาชวนเชื่ออย่างเป็นระบบ 6. ทีมวางแผนสืบทอดอำนาจ

จะอ่านน้ำเสียงไม่พอใจของ ‘เนติบริกรชั้นครู’ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าอย่างไรก็ได้ ทั้งเป็นเสียงเตือนจากพันธมิตรคนกันเอง และสัญญาณเตือนถึงขาลง-ลางร้ายของ ‘ระบอบประยุทธ์’ ก็ได้ เหมือนที่ตัวเขาเองร่อนจดหมายลาออกถึงนายกฯ ทักษิณ มาแล้วในเดือนมิถุนายน 2549 ทิ้งตำแหน่งระดับซี 11 และอายุราชการอีก 9 ปีโดยไม่หันหลังกลับไปซบ ‘ระบอบทักษิณ’ อีกเลย

 

ถัดจากบวรศักดิ์ลาออกไม่นานนัก ก็ตามด้วยการลาออกของ วิษณุ เครืองาม ในเดือนเดียวกันปีเดียวกัน ทั้งสองเนติบริกรตีจากระบอบทักษิณ เพราะเลยจุดที่จะรับบท ‘ศรีธนญชัย’ ได้อีกต่อไป

 

ครบรอบ 5 ปีการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เท่ากับว่าคนไทยอยู่กับ ‘ระบอบประยุทธ์’ มาแล้ว 5 ปี และไม่มีทีท่าจะยุติแค่นี้ จนถึงวันนี้ระบอบประยุทธ์เผชิญกับวิกฤตความชอบธรรมหลัก 4 เรื่องในระดับที่เป็นขาลง ลางร้ายครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ยังหยัดยืนบนผืนดิน ‘ไทยคู่ฟ้า’ ได้อย่างมั่นคง

 

ตั้งแต่ 1. การทุจริตอย่างกว้างขวางทำให้เสื่อม เริ่มที่ไมโครโฟนไฮเทคติดตั้งในห้องประชุม ครม. ซึ่งมีราคาสูง, การใช้งบประมาณก่อสร้างโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ที่ไม่โปร่งใส, ความไม่ชอบมาพากลในการซื้อเรือดำน้ำ, การทุจริตในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ และโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV เฉพาะ 5 โปรเจกต์นี้มีตัวเลขความเสียหายเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมมหากาพย์การเปิดโปง ‘แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน’ ที่การตรวจสอบโดย ป.ป.ช. ดูเหมือนจะเป็นการประวิงเวลาออกไปเรื่อยๆ และคงสรุปจบสวยงามตามคาดว่า ‘ไม่ผิดอะไร’

 

ขณะที่ระบบราชการก็ถูกตั้งคำถามผ่านกรณีโกงเงินคนจนเกือบครบ 77 จังหวัดทั่วประเทศ โกงเงินนักเรียนกองทุนเสมา และกรณีเสือดำเปรมชัย ไปจนถึงระบบตุลาการที่หนุนคณะรัฐประหารอยู่ไกลๆ ยังถูกตั้งคำถามผ่านกรณีหมู่บ้านป่าแหว่ง ภาพกว้างคือสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของผู้มีอำนาจ และ คสช. ในฐานะองค์กรกลางที่โอบอุ้มคุ้มกันทุกองค์กรอยู่

 

2. การปฏิรูปประเทศที่เดินทางมาถึงจุดล้มเหลว เห็นได้จากน้ำเสียงของบวรศักดิ์ที่แสดงความเห็นว่า การให้ระบบราชการ ‘ปฏิรูปตัวเอง’ เป็นสิ่งที่ “ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน” “ออกทะเล” “เหนื่อย เพราะมองไม่เห็นว่าจะไปจบลงอย่างไร” เสียงของบวรศักดิ์ กลายเป็นหลักฐานถึงความล้มเหลวในการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเปิดช่องให้หลายฝ่ายเอาไปเป็นประเด็นโจมตีรัฐบาลได้ว่า ‘รัฐประหารครั้งนี้เสียของ’

 

3. การเลื่อนเลือกตั้ง และ 4. ความพยายามในการสืบทอดอำนาจทางการเมือง ทั้งสองภารกิจนี้ดำเนินไปพร้อมกัน เป็นการขยับการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมั่นใจได้ว่า ‘ดูดได้มาก วางมัดจำได้หมด’ จนปักหมุดได้ว่าสูตรนายกคนใน-นายกคนกลาง สามารถเกิดขึ้นจริง เหล่านี้คือความพยายามในการสืบทอดอำนาจทางการเมืองที่จะดำเนินผ่านการเข้าไปถืออำนาจรัฐให้ได้ แต่หากไม่เป็นไปตามนัด แผนการควบคุมพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งก็ปรากฏชัดผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นการบีบ-ล็อกคอ พรรคการเมืองให้ทำตามแนวทางทหาร

 

หนึ่งในคำถามสำคัญในวาระครบรอบ 5 ปีของการรัฐประหารคือ เพราะเหตุใด รัฐบาลที่เผชิญกับวิกฤตความชอบธรรมถึงเพียงนี้จึงสามารถดำรงอยู่ในอำนาจได้ และยังอาจสืบทอดอำนาจไปได้อีกยาวไกล บทความชิ้นนี้เสนอว่า มีเครือข่ายที่ค้ำยันฐานอำนาจระบอบประยุทธ์ให้มั่นคงแข็งแรงอย่างน้อย 6 กลุ่ม

 

1. กลุ่มทุนที่เชื่อมต่อผ่าน พล.อ. ประวิตร – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พูดไว้ในเวทีสื่อต่างชาติว่า “ผมมาจากคนที่ร่ำรวยที่สุด 1% แรกของสังคม แต่ผมยืนหยัดเพื่อคนอีก 99% ในสังคม” ประโยคนี้ปะทะกับการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลทหารอย่างจัง เพราะในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา 1% ของประเทศนี้มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นสูงมาก ทุนใหญ่ขยายกิจการโดยได้รับการสนับสนุน ลดหย่อน เอื้ออำนวยความสะดวก จากรัฐทั้งในเชิงข้อกฎหมาย และการแลกเปลี่ยนแบบต่างๆ หรือนัยหนึ่ง ทุนใหญ่พอใจกับเสถียรภาพและสิทธิพิเศษทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลทหารมอบให้ สอดคล้องกับ เดอะแจ็ค-วัชระ เพชรทอง ที่เสนอว่ามีความตั้งใจจะระดมทุนถึง 4 หมื่นล้านบาทเพื่อสนับสนุน ‘พรรคทหาร’

 

ตัวอย่างการระดมทุนพรรคทหารไม่นานมานี้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ นอกจากเป็น รองนายกรัฐมนตรีและผู้มีบารมีในรัฐบาลทหารแล้ว ยังสวมหมวกประธานคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ทำให้สามารถโชว์ซูเปอร์คอนเน็กชันมาสร้าง ‘บิ๊กดีล’ โดยดูดกลุ่มทุนต่างๆ มาเป็นกองหนุนได้สำเร็จ จนสามารถคว้าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซียมาฉายได้สำเร็จ  

 

ดึงเอกชน 9 รายมาร่วมเป็นกองหนุน ประกอบด้วย เครือเจริญโภคภัณฑ์, ไทยเบฟเวอเรจ, คิง เพาเวอร์, กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี, บีทีเอส กรุ๊ป, ธนาคารกสิกรไทย, พีทีที โกลบอล เคมิคอล, บางจาก และคาราบาวแดง มาร่วมลงขัน โดยระดมทุนกันราว 1.4 พันล้านบาท 6 บริษัทแรกลงกันคนละ 200 ล้านบาท พีทีที โกลบอล เคมิคอล ลง 100 ล้านบาท ส่วนบางจากและคาราบาวแดง คนละ 50 ล้านบาท

 

อันนี้แค่ซ้อมๆ เมื่อฤดูเลือกตั้งมาถึงคงสะพัดมากกว่านี้ นอกจากกลุ่มทุนที่มีชื่อข้างต้นแล้ว ยังมีทุนใหญ่สนใจจะลงขันกับบิ๊กป้อมอีกหลายราย แต่อย่างว่าทุนใหญ่ใกล้ทหารเขามีลำดับชั้น ไม่ใช่ใครจะเข้าไปลงขันได้หมด นาทีนี้ตัวเลขที่เดอะแจ็คบอกจึง ‘เล็กน้อย’ และคงได้มากกว่านั้นหลายเท่าตัว

 

5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลดึง ‘เจ้าสัว-ทุนใหญ่’ มาร่วมช่วยงานและลงขันกับภาครัฐได้แนบแน่น ดังปรากฏผ่านการบริหารแนวใหม่ สูตรสานพลังประชารัฐ ดึงทุนใหญ่มาร่วมทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาคน

 

ทุนใหญ่ที่มาก็เช่น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ, บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด, บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป, บมจ. ปตท., บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด, บมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์, บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร, บมจ. ซีพี ออลล์, บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น

 

ขณะเดียวกันโปรเจกต์ EEC ก็ดูเหมือนผลประโยชน์จะตกกับ 1% ทั้งนั้น ในขณะที่ 99% ที่เหลือในประเทศนี้มีเงินในกระเป๋าน้อยลงทุกวัน จะ ‘ทหาร’ หรือ ‘นักการเมือง’ มาอยู่ชั่วครั้งชั่วคราวก็จากไป แต่ ‘ทุนใหญ่’ นั้นอยู่นาน การจ่ายค่าผ่านทางและค่าเช่าทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่พวกเขายินดี

 

2. กองทัพที่เป็นปึกแผ่น – นาทีนี้การจัดรายชื่ออวยยศกำลังพลในกองทัพ แม้จะมีผู้บารมีหลายคนร่วมกันจัดโผและเคาะ แต่ผู้ทำบัญชีหลักๆ ยังคงเป็น ‘ประยุทธ์-ประวิตร’ ทำให้พวกเขาสามารถกระจายโอกาส ผลประโยชน์ การเติบโต และคุมกองทัพให้อยู่ในโอวาทต่อไป หนึ่งในสูตรการจัดโผคือยินดีให้แม่น้ำสายใหม่ๆ ได้ไหลมาบรรจบลงบ่อเดียวเพื่อเอกภาพทางการเมือง

 

แม่น้ำสองสาย ‘บูรพาพยัคฆ์’ และ ‘วงศ์เทวัญ’ ไหลรวมสู่บ่อเดียวเพื่อเป็นเอกภาพหนุนลุงตู่อยู่ยาว โดยเฉพาะการปรากฏชื่อของ ‘บิ๊กแดง’ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ สายวงศ์เทวัญ ตท.20 ในฐานะแคนดิเดต ผบ.ทบ. ที่มีอายุราชการยาวถึงปี 63 ถือเป็นชื่อที่ได้รับแรงหนุนจากบิ๊กเนม

 

ชื่อชั้นของบิ๊กแดง บรรดาบิ๊กการเมืองรู้จักดี เพราะตลอด 5 ปี บิ๊กแดงเดินสายพบปะกับนักการเมืองเพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยให้กับ คสช. เขายังเป็นหลักในการดูแลความสงบ ดูแลม็อบต่างๆ ไม่ให้แผ้วพาน นายกฯ ได้ ผบ.ทบ. คนใหม่ จะเป็นปัจจัยค้ำยันให้ ระบอบประยุทธ์อยู่ได้อีกยาว อย่างไรก็ตามไม่พึงประเมินบิ๊กแดงต่ำเกินไป ทายาท ‘คงสมพงษ์’ คนนี้อาจสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ในทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในอนาคตก็ได้

 

รัฐประหารที่อยู่นานทำให้กองทัพผลักดันตัวเองให้ได้มีบทบาทในทางการเมืองและสังคมหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการขยายอำนาจทหารที่ได้รับคำวิจารณ์อยู่ไม่น้อย คือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 51/2560 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือที่รู้จักกันดีในนาม พ.ร.บ. ความมั่นคง ให้อำนาจ กอ.รมน. แก้ไขภัยความมั่นคงในประเทศ แก้ไขกฎหมายครั้งนี้ รื้อใหญ่ ใช้ยาแรง แผ่อำนาจกองทัพลงไปถึงทุกจังหวัด ดึงผู้แทนจากส่วนราชการทุกกระทรวงในจังหวัดมาร่วมในโครงสร้าง กอ.รมน. จังหวัด นาทีนี้ กองทัพเป็นปึกแผ่นยังไม่พอ แต่ยังดึงข้าราชการพลเรือนเข้ามาอยู่ใต้การนำของกองทัพอีกด้วย

 

3. เนติบริกรชั้นครู อุตสาหกรรมการปฏิรูปประเทศ สภาตรายางและองค์กรอิสระสีเขียว – ระบอบประยุทธ์จะอยู่ได้ยาวนานขนาดนี้ไม่ได้ถ้าไม่มี ‘อภินิหารทางกฎหมาย’ คอยอุ้มชูโดย ‘เนติบริกรชั้นครู’ 3 รายคือ มีชัย วิษณุ บวรศักดิ์

 

ชื่อแรก มีชัย เป็นพลเรือนเพียงรายเดียวที่ได้เป็นสมาชิกในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตัวเขาคุมการร่างรัฐธรรมนูญ คุมการคลอดกฎหมายลูกทุกฉบับ จะเลื่อนหรือขยับการเลือกตั้ง มีชัยทำได้ ผลงานสุดท้ายที่จะฝากไว้คือปฏิรูปตำรวจ กฎหมายซึ่งนายกฯ ตั้งใจใช้เป็นบทพิสูจน์การปฏิรูปประเทศว่า ‘กล้าปฏิรูปพวกเดียวกันเอง’

 

ชื่อที่สอง วิษณุ เป็นหนึ่งในพลเรือนที่นั่งในคณะที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รั้งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี คุมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลแทบทั้งหมด รวมถึงนั่งหัวโต๊ะการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศอยู่ตลอด

 

ชื่อที่สาม บวรศักดิ์ กำลังจะนั่งเป็นหัวโต๊ะคณะกรรมการออกกฎหมายเร่งด่วน บวรศักดิ์ทิ้งคำคมล่าสุด “ถ้านายกรัฐมนตรีคนต่อไปเป็น พล.อ. ประยุทธ์จะไหลลื่น แต่ถ้าเป็นธนาธร อภิสิทธิ์ สุดารัตน์ จะดูไม่จืด”

 

เครือข่ายวงวารที่ค้ำยัน คสช. ยังรวมถึง ‘คณะกรรมการปฏิรูป 11 คณะ’ ตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ 2560 ซึ่งจะอยู่ยาว 5 ปี เพื่อทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ เช่น อเนก คุมปฏิรูปด้านการเมือง, กฤษฎา รัฐมนตรีนกหวีด คุมปฏิรูปด้านการบริหารราชการแผ่นดิน, บวรศักดิ์ คุมด้านกฎหมาย, ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ คุมด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ, ประสาร ไตรรัตน์วรกุล คุมด้านเศรษฐกิจ และอื่นๆ ทั้งหมดนี้ต้องเรียกว่าเป็น ‘อุตสาหกรรมการปฏิรูปประเทศ’ เมื่อทำเสร็จจะได้แผนกล่องใหญ่ ส่วนจะนำไปปฏิบัติจริงและได้ผลหรือไม่เป็นอีกเรื่อง ที่ซ้ำรอยเดิมกับการปฏิรูปครั้งก่อนๆ ก็คือ ในอุตสาหกรรมนี้ผู้รับจ้างแสดงมีหน้าเดิมๆ ทั้งนั้น

 

นอกจาก ‘สภาตรายาง’ ที่นำทีมโดย ‘พรเพชร’ แล้ว ที่น่าจับตาต่อไปยาวๆ คือ ความพยายามในการล้วงลูกองค์กรอิสระ ยุบชุดเก่า แต่งตั้งชุดใหม่ให้เป็นองค์กรอิสระสีเขียว เช่น ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งปลดนายสมชัย ศรีสุทธิยากร พ้นจากตำแหน่ง กกต. หนักไปกว่านั้น ล่าสุด วิษณุ เดินหน้าร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเทียบตำแหน่งของข้าราชการทหารกับข้าราชการพลเรือนเผยบ้างแล้ว ทำนอง “ใครเป็นพลตรีก็เทียบเท่าระดับอธิบดีแล้วกัน”

 

ถ้าใช้มาตรฐานแบบนี้ ต่อไปเราจะได้เห็นทหารตบเท้าในองค์กรอิสระกันพรึ่บ เพราะอธิบดีมีไม่มาก แต่นายพลยศพลตรีมีหลักหลายร้อย มาแนวนี้คือวางแนวทางเพื่อการอยู่ยาวแบบราบรื่น และวางยารัฐบาลอื่นๆ ที่ นายกฯ ไม่ได้ชื่อประยุทธ์

 

อ่านต่อตอนที่ 2

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X