×

ปธ. ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดข้อกฎหมาย รับฟ้อง 7 กกต. ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ รับรองคุณสมบัติ ‘ประยุทธ์’ เป็นนายกฯ

โดย THE STANDARD TEAM
30.10.2019
  • LOADING...
ประยุทธ์ จันทร์โอชา

วันนี้ (30 ตุลาคม) ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนนครไชยศรี ศาลได้อ่านคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ในการชี้ขาดประเด็นข้อกฎหมายที่ วท.12/2562 ลงวันที่ 4 กันยายน 2562 

 

ในกรณีที่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง หมายเลขดำ อท.54/2562 ที่ สุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ และพวกรวม 2 คน ยื่นฟ้อง อิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ กกต. รวม 7 คน ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วย กกต. พ.ศ. 2560 มาตรา 25, 69, พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 23, 149 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ซึ่งขอให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ กกต. ทั้ง 7 คน มีกำหนด 20 ปีด้วย

 

โดยชั้นตรวจคำฟ้องของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเห็นว่ากรณีมีปัญหาคำฟ้องนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบหรือไม่ จึงได้ส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์เพื่อเสนอประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวตามอำนาจ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 11

 

โดยคำวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมาย ‘ประธานศาลอุทธรณ์’ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กกต. เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หมวด 12 ส่วนที่ 2 มีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 224 เมื่อจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งประธาน กกต. และจำเลยที่ 2-7 ดำรงตำแหน่ง กกต. จำเลยทั้ง 7 จึงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ 

 

การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้ง 7 จงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 23 ประกอบมาตรา 149 และ พ.ร.ป. ว่าด้วย กกต. มาตรา 21, 22, 38 ไม่ตรวจคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นบุคคลที่พรรคพลังประชารัฐแจ้งว่าจะเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และร่วมกันออกประกาศ กกต. เรื่องการแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ฉบับลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 ให้ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นบุคคลที่พรรคพลังประชารัฐแจ้งว่าจะเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 30 เพื่อให้เป็นคุณแก่พรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 17 มีนาคม 2562 (การเลือกตั้งล่วงหน้า) และในวันที่ 24 มีนาคม 2562 (การเลือกตั้งทั่วไป) 

 

ทั้งเมื่อ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นหนังสือเพื่อขอให้ตรวจสอบการคัดเลือก พล.อ. ประยุทธ์ จำเลยทั้ง 7 ก็ไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อโต้แย้งดังกล่าว ต่อมาเมื่อ วิญญัติ ชาติมนตรี ยื่นหนังสือคัดค้านการประกาศรายชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ และขอให้เพิกถอนชื่อบุคคลดังกล่าว จำเลยทั้ง 7 ยังคงให้มีการประกาศ กกต. เรื่องการแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ต่อไป 

 

เมื่อเรืองไกรยื่นหนังสือขอให้ กกต. วินิจฉัยว่า พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่เป็นครั้งที่ 2 จำเลยทั้ง 7 ก็ยังคงปล่อยให้มีการประกาศเรื่องการแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีก

 

ซึ่งจำเลยทั้ง 7 รับทราบข้อโต้แย้งแล้ว แต่ไม่ดำเนินการตามหน้าที่ สั่งให้ระงับยับยั้งหรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย กลับให้ พล.อ. ประยุทธ์ สามารถรณรงค์หาเสียงหรือขึ้นเวทีปราศรัยในฐานะที่เป็นผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐได้ ซึ่งความจริง พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็น ‘เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ’ ไม่มีคุณสมบัติ และ…ลักษณะต้องห้ามการเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 160 และ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 13, 14 การกระทำของจำเลยทั้ง 7 เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.ป. ว่าด้วย กกต. มาตรา 25, 69 และ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 23, 149 

 

จึงเป็นกรณีที่มูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ซึ่งหากจะฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามบทบัญญัติ พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 23 กำหนดว่าผู้มีอำนาจฟ้องคดี ได้แก่ อัยการสูงสุดและคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกำหนด ซึ่งใช้บังคับในกรณีที่อัยการสูงสุดและ ป.ป.ช. เป็นผู้ฟ้องคดี แต่คดีนี้ผู้ฟ้องคือโจทก์ทั้งสอง ไม่ใช่อัยการสูงสุด หรือ ป.ป.ช. ย่อมไม่อยู่ภายใต้บังคับของบทกฎหมายดังกล่าว 

 

‘ประธานศาลอุทธรณ์’ เห็นว่าเมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้ง 7 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วย พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 23, 149 และ พ.ร.ป. ว่าด้วย กกต. มาตรา 38 กำหนดว่าในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้ง 7 ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้นคดีนี้จึงเป็นคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ อยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 3 วรรคหนึ่ง (1) จึงวินิจฉัยว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

 

ผู้ข่าวรายงานว่าเมื่อประธานศาลอุทธรณ์ได้มีความเห็นชี้ขาดประเด็นข้อกฎหมาย ตามอำนาจที่กฎหมายบัญญัติแล้วว่าศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมีอำนาจจะพิจารณาคำฟ้องคดี กกต. ประพฤติมิชอบหรือไม่ ‘ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง’ จะพิจารณาชั้นตรวจฟ้องต่อไปว่าคำฟ้องสมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในชั้นตรวจฟ้อง (ฟังคำสั่งว่าจะรับคดีไว้ไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่) ในวันที่ 3 ธันวาคม 2562 เวลา 10.00 น.

 

สำหรับคดีนี้ สุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับ 1 และเป็นบุคคลที่พรรคเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และเกริกฤทธิ์ แจ้งพรมมา ผู้สมัคร ส.ส. เขต 7 จังหวัดขอนแก่น ได้ยื่นฟ้อง อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. และ กกต. รวม 7 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2562 

 

ทั้งนี้ในการมีคำวินิจฉัยประเด็นดังกล่าว เมื่อ วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ในฐานะที่เคยยื่นหนังสือคัดค้านการประกาศรายชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ และขอให้เพิกถอนชื่อบุคคลดังกล่าวต่อ กกต. ได้ทราบคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ ก็กล่าวว่าอาจถือว่าเป็นประเด็นข้อกฎหมายที่รับรองถึงการใช้สิทธิฟ้อง กกต. ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้โดยตรง ซึ่งคำวินิจฉัยนี้ก็จะเป็นบรรทัดฐานว่าด้วยผู้มีอำนาจฟ้องคดีที่สำคัญต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X