วันนี้ (19 กุมภาพันธ์) อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ประจำเดือนมกราคม 2566 จากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
โดยพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 49.7 เป็น 51.7 โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 26 เดือน จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นทั้ง 3 รายการ เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจเดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนมกราคม 2566 เกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ปรับตัวจากความเชื่อมั่น ระดับ 43.9 สู่ระดับ 46.0
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม ปรับตัวจากระดับ 47.0 สู่ระดับ 49.0 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ปรับตัวจากระดับ 58.1 สู่ระดับ 60.2 ซึ่งทั้งหมดแสดงให้เห็นว่ามีการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจกำลังกลับมาฟื้นตัวเร็วขึ้น และจะเริ่มจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นในเดือนแรกของปีนี้
อนุชากล่าวต่อไปว่า ผลสำรวจดังกล่าวยังระบุถึงปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2566 จากภาครัฐ เช่น มาตรการช้อปดีมีคืน มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตรา 15% มาตรการการช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงิน
- การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งของคนไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยมีจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น
- SET Index ในเดือนมกราคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.80 จุด
- ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้เกษตรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดปรับตัวดีขึ้น
“แนวโน้มของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกรายการ ถือเป็นสัญญาณเชิงบวก นายกรัฐมนตรีขอบคุณเสียงสะท้อนที่แสดงให้เห็นว่า ประชาชนให้ความเชื่อมั่นกับสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศที่กำลังฟื้นตัว สอดรับกับการทำงาน นโยบาย และมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน ออกมาตรการช่วยเหลือภาคประชาชน ควบคู่กับการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เปิดรับการลงทุน เพื่อช่วยส่งเสริมภาคธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งการแก้ไขปัญหามาตลอดตั้งแต่ระดับเศรษฐกิจฐานราก รวมไปถึงการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน” อนุชากล่าว