วันนี้ (26 ก.ค. 2562) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ยืนขึ้นอภิปรายเกี่ยวกับนโยบายทางการเกษตร เผยว่า จากที่อ่านนโยบายที่วางไว้ตามกรอบ 12 นโยบายเร่งด่วน และ 12 นโยบายหลักนั้น พบว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะปฏิบัติได้ เพราะแต่ละนโยบายไม่ได้เชื่อมโยงกันแต่อย่างใด แต่ละประเด็นและแต่ละปัญหานั้น มีความเกี่ยวเนื่องและเชื่อมโยงกันเหมือนการติดกระดุม ที่หากติดผิดตั้งแต่เม็ดแรกก็จะผิดตลอดไป
อีกทั้งเมื่อดูที่นโยบายฉบับนี้ก็จะเห็นว่า ไม่ได้อยู่ในระนาบเดียวกัน เนื่องจากบางปัญหาเป็นต้นเหตุ ส่วนบางปัญหาเป็นปลายเหตุ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญในการที่จะอภิปรายในครั้งนี้ คือการเรียงลำดับความสำคัญของนโยบายเร่งด่วน
อย่างไรก็ตาม ทิม พิธา ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ยกโมเดล ‘กระดุม 5 เม็ด’ ที่จะช่วยแก้ปัญหาเกษตรกร พร้อมอธิบายโดยเริ่มจาก
กระดุมเม็ดที่ 1 คือเรื่องของที่ดิน ซึ่งปัญหาที่พบก็คือ ที่ดินของประเทศไทยมีความกระจุก เหลื่อมล้ำ และไม่ชอบธรรมในการใช้กฎหมาย โดย 90% ของที่ดินในประเทศไทย ถูกครอบครองโดยคนเพียง 10% ส่วนอีก 75% ของประชาชนในประเทศไทย ไม่มีโฉนดของตัวเอง ชาวนากว่า 45% ยังมีความจำเป็นที่จะต้องเช่าที่ดินอยู่ ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่ระบบทุนนิยมได้
“ที่ดินคือคอขวดของปัญหาเกษตรกรรมเกือบทั้งหมด ที่ดินคือชีวิต ที่ดินคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่ดินคือกระดุมเม็ดแรก เมื่อเราติดให้ถูกต้อง ปัญหาที่เหลือจะแก้ได้ง่ายมาก แต่ถ้าเกิดเราติดผิด ปัญหาอื่นที่เราพยายามที่จะแก้ก็จะไม่สามารถแก้ได้อย่างยั่งยืน เพราะเกษตรกรเหล่านี้ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง เขาจึงไม่มีทรัพย์สินที่จะสามารถค้ำประกัน และไม่สามารถที่จะเข้าสู่ระบบทุนนิยมได้ พวกเขาไม่มีโฉนดที่จะเข้าไปจำนองในธนาคาร ทำให้เขาไม่สามารถที่จะเข้าสู่ระบบการเงินได้ หมายความว่ามีความจำเป็นที่จะต้องออกไปกู้นอกระบบ ซึ่งเป็นกระดุมเม็ดที่ 2 ซึ่งในเรื่องของหนี้สินเกษตรกร เมื่ออยู่ในวงจรหนี้สิน เขาจดจ่อกับความจำเป็นที่จะต้องรีบใช้หนี้ให้ได้ ทำให้เขาต้องการความแน่นอนในการทำงาน มีความจำเป็นที่จะต้องทำวิธีเดิมๆ ปลูกพืชเดิมๆ ใช้วิธีที่ถูกที่สุด เพราะมันมีต้นทุนจากค่าเช่าที่ดิน และต้นทุนจากดอกเบี้ยนอกระบบอยู่แล้ว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สารเคมีเยอะๆ เพื่อที่จะให้สินค้าออกมามีคุณภาพ เวลาจะปลูกอะไรก็ต้องปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกซ้ำ ทำให้มีปัจจัยในการโดนกดดันราคาอีก ซึ่งนั่นก็คือกระดุมเม็ดที่ 3 เรื่องของสารเคมีการเกษตร เรื่องของการประกันราคา
“ในขณะที่เราต้องการจะพัฒนาเศรษฐกิจให้กับนักลงทุน ไม่ว่าจะไทยหรือเทศ ในการดึงพวกเขาเข้ามา แต่ในขณะเดียวกันทำไมเราถึงไม่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับประชาชนคนไทยด้วยกัน ที่พยายามจะมีที่ดินเป็นของตัวเองมาตลอด 50 ปี ทั้งที่อยู่ห่างจากเขตเศรษฐกิจไม่ถึง 1 ชั่วโมง”
ส่วนกระดุมเม็ดที่ 2 คือปัญหาหนี้สิน หากเกษตรกรอยู่ในวงจรหนี้สิน สิ่งแรกที่จะนึกถึงคือการรีบใช้หนี้ให้ได้ และทำให้ติดลูปการปลูกพืชซ้ำๆ เดิมๆ จนเป็นปัจจัยกดดันราคาพืชผลการเกษตร
เม็ดที่ 3 คือต้นทุนสูง เกษตรกรทำงานด้วยต้นทุนสูง แต่ได้ราคาต่ำ ทำให้ไม่สามารถเก็บออม และไม่มีเงินทุนเป็นของตัวเอง จึงไม่สามารถเข้าถึงการแปรรูป และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้
กระดุมเม็ดที่ 4 คือนวัตกรรม การแปรรูปสินค้าเกษตร โดยเฉพาะกัญชามีคุณค่ามากกว่ามูลค่า และห่วงว่าคนไทยต้องนำเข้ากัญชา และมีทุนใหญ่ผูกขาดผลประโยชน์ คำถามคือจะผลักดันกัญชาทางการแพทย์ให้เป็นเบอร์หนึ่งของเอเชียได้อย่างไร
และกระดุมเม็ดที่ 5 คือการท่องเที่ยวเชิงเกษตร หลายคนต้องการพัฒนาตัวเองจากผู้ผลิต เป็นผู้ให้บริการเกษตรเชิงท่องเที่ยว แต่ติดปัญหาที่กระดุมเม็ดที่ 1 เหมือนเดิม
“สุดท้ายนี้การติดกระดุมเม็ดที่ 5 ต้องเริ่มจากการปลดล็อกกระดุมทุกเม็ดเสียก่อน” พิธา กล่าวทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์