×

‘ประสาร ไตรรัตน์วรกุล’ ปาฐกถาพิเศษ มอง กสศ. ร่วมมือธนาคารโลก ผลักดันโอกาสการศึกษา คือกุญแจแก้ปัญหายากจนข้ามรุ่น

โดย THE STANDARD TEAM
05.04.2023
  • LOADING...
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

วันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ปาฐกถาพิเศษในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กับธนาคารโลก โดยมีคำกล่าวดังนี้

 

เรียน ผู้บริหารธนาคารโลก และคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน 

 

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ในการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กสศ. กับธนาคารโลก และการเข้าร่วมประชุมเสวนาวิชาการในวันนี้

 

“ผมอยากจะเริ่มด้วยการกล่าวถึงข้อสังเกตที่ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศกับการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำเป็นเหมือนเหรียญสองด้านที่อยู่คู่กับการพัฒนาประเทศไทยและนานาประเทศมาโดยตลอด สำหรับประเทศไทยเองตั้งแต่ที่เราได้ก้าวสู่การเป็นประเทศรายได้ปานกลาง เมื่อปี พ.ศ. 2519 หรือกว่า 47 ปีมาแล้ว เป้าหมายการก้าวขึ้นสู่สถานะประเทศรายได้สูง เป็นหนึ่งในความตั้งใจสำคัญของประเทศไทยมาโดยตลอด หลายๆ ท่านอาจจะเคยจำกันได้ว่าในยุคทศวรรษ 80-90 ประเทศไทยมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจนสื่อต่างๆ ในภูมิภาคนี้ได้กล่าวขานกันว่าประเทศไทยน่าจะเป็นเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย ตามประเทศเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกงได้”

 

จนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ซึ่งทำให้ประเทศไทยยังคงติดอยู่ในสถานะที่ทางธนาคารโลกเรียกประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีต่ำกว่า 12,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 34,000 บาทต่อเดือน ว่ากับดักรายได้ปานกลาง หรือ Middle Income Trap มาจนถึงปัจจุบันนี้ (รายได้เฉลี่ยคนไทยปัจจุบันอยู่ที่ 7,260 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 20,000 บาทต่อเดือน)

 

เป้าหมายการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทยสู่การเป็นประเทศรายได้สูงได้กลับมาถูกพูดถึงกันอีกครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ตามที่รัฐบาลมีการวางเป้าหมายที่จะออกจากกับดักรายได้ปานกลางและก้าวไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูงภายใน 20 ปีข้างหน้า ซึ่งหมายความว่ารายได้เฉลี่ยของคนไทยจะต้องเติบโตมากขึ้นกว่าร้อยละ 40 จากรายได้ 25,000 บาทต่อเดือน คำถามที่สำคัญที่พวกเราทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศไทยในเรื่องนี้คือ เราจะทำอย่างไรให้หนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่เรารอคอยมานานมากกว่า 40-50 ปีนี้บรรลุผลสำเร็จได้ภายในช่วงชีวิตของเราทุกคน

 

“ท่านผู้มีเกียรติครับ จากรายงาน World Competitiveness Yearbook ของ IMD ในปี 2022 ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดในการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ยังคงเป็นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ของประชากรวัยแรงงานไทย ซึ่งจากข้อมูลของ UNESCO Institute for Statistics (UIS) รายงานในปี 2019 ว่าประชากรวัยแรงงานในประเทศไทยในปัจจุบันยังคงมีระดับการศึกษาเฉลี่ยอยู่เพียงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือเพียงราว 8.7 ปีเท่านั้น”

 

หากเราพิจารณาข้อเท็จจริงในตลาดแรงงานปัจจุบันจะพบว่าผู้ที่มีระดับการศึกษาเทียบเท่าวุฒิ ม.3 หรือต่ำกว่านั้น มีโอกาสสูงมากที่จะมีรายได้เพียงระดับค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้น (วันละ 354 บาท x 30 วัน = 10,620 บาท) ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายการเป็นประเทศรายได้สูงกว่า 3.4 เท่า และจากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ประเมินว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Hyper-Aged Society) ในอัตราที่เร็วกว่าประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะถือว่าไทยกำลังจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่แก่ก่อนรวย การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์จึงถือเป็นโจทย์สำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย ให้สามารถก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ทันเวลาก่อนที่หน้าต่างแห่งโอกาสจะปิดลงในอนาคตอันใกล้นี้

 

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

 

ด้วยเหตุนี้ กสศ. และธนาคารโลก ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันในการส่งเสริมความเสมอภาคและยุติความยากจนอย่างยั่งยืนผ่านการวิจัยพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-Based Policy) ทั้ง 2 องค์กรจึงเห็นพ้องต้องกันว่า หนึ่งในหนทางที่สำคัญของประเทศไทยในการขจัดปัญหาความยากจนข้ามรุ่น และการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศไทยให้ออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้สำเร็จในช่วงชีวิตของพวกเราทุกคนในที่นี้ คือการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา และการยกระดับศักยภาพทุนมนุษย์ (Human Capital) ของประชากรวัยแรงงานไทย ให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นวัตถุประสงค์สำคัญของการลงนามความร่วมมือระหว่าง กสศ. และธนาคารโลกในโอกาสนี้

 

หนึ่งในโจทย์การทำงานร่วมกันระหว่าง กสศ. และธนาคารโลกเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาที่สำคัญคือการดำเนินการวิจัยพัฒนาและทดลองนวัตกรรมการยกระดับคุณภาพสถานศึกษา และโอกาสทางการเรียนรู้ที่มีคุณภาพของนักเรียนในชนบทของประเทศไทย สืบเนื่องจากการวิเคราะห์ข้อมูลของธนาคารโลกที่พบว่าพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของนักเรียนในโรงเรียนชนบทของไทย มีผลการเรียนรู้ที่ล่าช้ากว่านักเรียนในเขตเมืองถึง 2 ปีการศึกษา โดยตัวอย่างโรงเรียนที่มีสถานการณ์วิกฤตที่สุด ได้แก่ โรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ซึ่งธนาคารโลกเรียกว่าโรงเรียนขนาดเล็กที่ควรได้รับการคุ้มครอง (Small Protected Schools) ซึ่งมีอยู่มากกว่า 1,500 โรงเรียนทั่วประเทศที่ไม่สามารถยุบและควบรวมได้เนื่องจากมีระยะทางห่างไกลจากโรงเรียนข้างเคียงมากกว่า 6-10 กิโลเมตร โดยปัจจุบันสถานศึกษาที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าวจัดการศึกษาให้กับนักเรียนมากกว่า 100,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กเยาวชนในครัวเรือนที่ติดอยู่ในกับดักความยากจนมาหลายชั่วรุ่น และมีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดจากระบบการศึกษาหลังสำเร็จการศึกษาเพียงระดับประถมศึกษาหรือภาคบังคับเท่านั้น

 

ด้วยวิธีจัดสรรงบประมาณของรัฐในรูปแบบที่ผูกสูตรการจัดสรรงบประมาณในแทบทุกรายการกับจำนวนหัวเด็ก ทำให้งบประมาณ อาคารสถานที่ และกำลังคนที่จัดสรรให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กในชนบทกลุ่มนี้ไม่เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและเสมอภาคเทียบเท่าโรงเรียนในเขตเมืองหรือโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่กว่าได้ ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้และความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษา ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดการศึกษาแก่เด็กเยาวชนในโรงเรียนกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก

 

จากประสบการณ์การทำงานด้านการวิจัยและจัดทำนโยบายด้านการศึกษาของธนาคารโลกพบว่า ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กอย่างเวียดนาม ได้ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า มาตรฐานคุณภาพขั้นต่ำของโรงเรียน (Fundamental School Quality Level: FSQL) ในการแก้ไขปัญหาเชิงระบบของการจัดสรรงบประมาณการศึกษาด้วยหลักความเสมอภาค (Equity-Based Budgeting) ให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลที่มีการขาดแคลนโอกาสและทรัพยากรทางการศึกษา รัฐบาลเวียดนามได้ร่วมกับธนาคารโลกในการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำด้านทรัพยากรทางการศึกษาที่ทุกโรงเรียนพึงบรรลุ พร้อมทั้งจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อทำให้เกิดมาตรฐานทางด้านการเปรียบเทียบทรัพยากรระหว่างโรงเรียนชนบทกับโรงเรียนในเมืองที่ใกล้เคียงกันภายในระยะเวลา 10 ปี และส่งผลต่อภาพรวมพัฒนาการในผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนเวียดนามจนเป็นที่ประจักษ์จากผลการประเมิน PISA ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

 

ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กสศ. และธนาคารโลกนี้ ทั้ง 2 องค์กร และหน่วยงานด้านการศึกษาของไทยจะร่วมกันศึกษาวิจัยแนวทางการใช้ FSQL ที่สอดคล้องกับบริบทของระบบการศึกษาไทย ในการออกแบบสูตรการจัดสรรงบประมาณรูปแบบใหม่ด้วยหลักความเสมอภาคในโรงเรียน Protected Schools รวมทั้งประเมินผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นต่อนักเรียน ครู โรงเรียน และชุมชน เพื่อประกอบการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายแก่รัฐบาลต่อไป

 

“ท่านผู้มีเกียรติครับ อีกหนึ่งโจทย์การทำงานร่วมกันระหว่าง กสศ. และธนาคารโลก คือการยกระดับศักยภาพทุนมนุษย์ของเยาวชนวัยแรงงานช่วงต้น โดยเฉพาะประชากรกลุ่มที่เรียกว่าเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในการทำงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม (Youth Not in Employment, Education or Training: NEET) ซึ่งในปัจจุบันจากการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย พบว่า ประเทศไทยมีเยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปี เกือบ 1.4 ล้านคน อยู่ในกลุ่ม NEET หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของเยาวชนทั้งหมด”

 

สอดคล้องกับรายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูลของเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาในประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดย กสศ. ร่วมกับเครือข่ายด้านเด็กและเยาวชน 67 องค์กร สำรวจกลุ่มตัวอย่างเด็กเยาวชนนอกระบบจำนวน 35,003 คนจากทุกภูมิภาค พบว่า เด็กและเยาวชนนอกระบบมีความต้องการได้รับการช่วยเหลือด้านการศึกษามากที่สุด รองลงมาคือด้านการฟื้นฟูสุขภาพกาย ด้านที่พักอาศัย ด้านการฟื้นฟูทางด้านจิตใจ โดยเด็กเยาวชนมากกว่าร้อยละ 78 ไม่มีเป้าหมายทั้งด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพที่ชัดเจน ดังนั้นโจทย์สำคัญของประเทศไทยในการพัฒนาประชากรเยาวชนกลุ่มนี้คือการส่งเสริมให้ระบบการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ของไทยมีเป้าหมายที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งมีความยืดหยุ่นและมีทางเลือกในการสร้างทักษะใหม่ (Reskill) การยกระดับทักษะ (Upskill) และการส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) สำหรับเยาวชนทุกคนที่มีศักยภาพและความถนัดที่หลากหลายอย่างแท้จริง

 

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

 

ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ กสศ. และธนาคารโลกจะร่วมกับหน่วยงานด้านการศึกษา แรงงาน และผู้ประกอบการในการวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (Adult Skills Assessment in Thailand) เพื่อพัฒนาการสำรวจและประเมินทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ (Foundational Skills) เช่น ทักษะการรู้หนังสือ ทักษะทางสังคมที่ใช้เพื่อปฏิสัมพันธ์กับผู้คน และทักษะด้านดิจิทัล ซึ่งเป็นทักษะที่มีความสำคัญในการยกระดับทุนมนุษย์ และตอบโจทย์ความต้องการแรงงานมีฝีมือในประเทศ โดยในปี 2566 นี้ กสศ. และธนาคารโลก จะเผยแพร่ผลการวิเคราะห์ข้อมูลผลสำรวจประชากรจาก 9,000 ตัวอย่าง เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาการพัฒนากำลังคนวัยแรงงานช่วงต้นที่ต้องการการยกระดับทุนมนุษย์อย่างเสมอภาค ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค เพื่อให้หน่วยงานและภาคีทั้งระดับพื้นที่และระดับประเทศ สามารถออกแบบมาตรการในการลงทุนเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์และเติมเต็มทักษะแรงงาน รวมไปถึงการบ่มเพาะทักษะฝีมือ สร้างขีดความสามารถในการปรับตัว และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

 

“ท่านผู้มีเกียรติครับ กสศ. และธนาคารโลกหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือด้านวิชาการ และการขับเคลื่อนนโยบายครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญในการใช้พลังของข้อมูลและองค์ความรู้ เพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบของประเทศ ทั้งด้านคุณภาพสถานศึกษาและโอกาสการเข้าถึงการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างเสมอภาค ทั้งในกลุ่มเด็กวัยเรียนและเยาวชนวัยแรงงาน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้สังคมไทยได้เห็นทางเลือกที่สำคัญในการลงทุนเพื่ออนาคตของประเทศ ด้วยการลงทุนที่ถูกที่ ถูกเวลา และถูกวิธี พวกเราจะสามารถรักษาเด็ก เยาวชน และแรงงานทุกคน ให้มีโอกาสที่เสมอภาคในการพัฒนาประเทศไทยได้เต็มศักยภาพและความถนัดของพวกเขา ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญให้สามารถหยุดปัญหาความยากจนข้ามรุ่น และพาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ภายในชั่วชีวิตของพวกเราทุกคนในที่นี้ครับ ขอบพระคุณครับ”

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising