×

บ.ก. ประชาไท ยื่นฟ้องศาลปกครองเพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. เหตุขาดความเป็นตัวแทน

โดย THE STANDARD TEAM
29.04.2024
  • LOADING...

วันนี้ (29 เมษายน) เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท เปิดเผยว่า ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ถึงประเด็นต่างๆ ได้แก่ การขาดการมีส่วนร่วม ขาดความเป็นตัวแทน กระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพของ 2 กลุ่มอาชีพ

 

เทวฤทธิ์ระบุว่า ด้วยประธาน กกต. ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ซึ่งหมวดที่ 2 ว่าด้วยวิธีแนะนำตัว ข้อ 7 และข้อ 8 นั้นทำให้กระบวนการเลือกนี้ขาดการมีส่วนร่วม และไม่สามารถสร้างกระบวนการรับผิดรับชอบ และข้อ 11 (2) ยังกระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพของ 2 กลุ่มอาชีพชัดเจน 

 

เทวฤทธิ์ชี้ว่า ในขณะที่ตนเองเป็นผู้ประกอบอาชีพในกลุ่มที่กระทบและประสงค์สมัครรับเลือกดังกล่าว จึงใช้ช่องทางยื่นคำร้องคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชนนี้เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนระเบียบดังกล่าว และขอให้มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองก่อนการพิพากษา

 

ทั้งนี้ เทวฤทธิ์ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ รหัสอ้างอิง 240429-TRIN โดยมีประเด็นฟ้อง ประกอบด้วย

 

1. ขาดการมีส่วนร่วม

 

ระเบียบดังกล่าวที่ห้ามแนะนำในทางสาธารณะนั้นขาดการมีส่วนร่วมตรวจสอบข้อมูลการแนะนำตัว และส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทั้งที่ตามเอกสารความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญนี้ ระบุใส่ส่วนมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญ ต้องการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง และมีนัยสำคัญตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 

 

อีกทั้งการไม่ให้เผยแพร่การแนะนำตัวต่อสาธารณะยังทำให้ ‘การเลือกกันเองของบุคคล’ ที่มีลักษณะร่วมทั้ง 20 กลุ่มนั้นยังไม่ได้รับรู้อย่างทั่วถึง เพราะคำว่า เลือกกันเอง ก็บอกอยู่แล้วว่ามีผู้เข้ามาเลือก ไม่ได้มีแค่ผู้ที่สมัครว่าจะเป็น สว. เท่านั้น และผู้ที่จะเข้ามาเลือกนอกจากค่าใช้จ่ายแล้วย่อมมีกลุ่มก้อนที่ต้องประเมินความเหมาะสม ก็เป็นธรรมดาที่อาจจะไม่ได้มาทั้งหมด แต่ส่งคนมาเลือก การที่ระเบียบจำกัดให้ส่งได้เฉพาะผู้สมัครนั้น สะท้อนการไม่เข้าใจระบบความสัมพันธ์ของคนในกลุ่มที่มีลักษณะร่วมทั้ง 20 กลุ่มนั้น

 

2. ขาดความเป็นตัวแทน และไม่เอื้อให้เกิดความรับผิดชอบของผู้ดำรงตำแหน่ง

 

แม้ประธาน กกต. จะบอกว่าระบบเลือก สว. ต่างจาก สส. โดยบอกว่า สว. มีที่มาจาก ‘การเลือก’ กันเองของผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ก็ต้องเป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพหรือลักษณะร่วมเหล่านั้น อีกทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 114 ก็บัญญัติไว้ให้ สว. เป็นผู้แทนปวงชนเหมือนกับ สส. ดังนั้นการเป็นตัวแทนย่อมหมายถึงต้องมีพันธสัญญากับสิ่งที่ตนแทนมา การที่ระเบียบไม่ให้ผู้สมัครบอกว่าจะเข้าไปทำอะไรบ้าง หากได้รับเลือกเป็น สว. ย่อมทำให้พันธสัญญาของความเป็นผู้แทนไม่เกิดขึ้น และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไปเรียกร้องความรับผิดรับชอบตามสัญญาที่ให้ไว้แก่ประชาคมหรือแม้แต่กลุ่มอาชีพหรือลักษณะร่วมที่เลือกเข้ามา 

 

3. กระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพของกลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม และกลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดง และบันเทิง นักกีฬา 

 

ตามระเบียบ กกต. ดังกล่าวในหมวด 3 ข้อห้ามในการแนะนำตัว ข้อ 11 (2) บัญญัติไว้ว่า “ผู้ประกอบอาชีพทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน สื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร เป็นต้น ใช้ความสามารถหรือวิชาชีพดังกล่าวเพื่อเอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว” ขณะที่ตามระเบียบนี้ ข้อ 7 ที่ระบุสิ่งที่เรียกว่าการแนะนำตัวไว้เป็นข้อความเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว รูปถ่าย ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงานหรือประสบการณ์ในการทำงาน แต่ผู้ประกอบวิชาชีพตามข้อ 11 (2) นี้ ซึ่งเข้าลักษณะกลุ่มอาชีพ 2 ใน 20 กลุ่มที่จะมีการเลือก สว. ในครั้งนี้ โดยในการทำงานหรือประกอบอาชีพก็มักต้องใช้ข้อมูลที่อยู่ในลักษณะเดียวกับการแนะนำตัวดังกล่าว 

 

ดังนั้น ข้อห้ามนี้จะกระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพของ 2 กลุ่มนี้อย่างชัดเจน ทั้งที่ต้องการสมัครเพื่อรับเลือกเป็น สว. หรือสมัครเพื่อเข้ามาใช้สิทธิเลือกตัวแทนกลุ่มที่เหมาะสม และทั้งที่จะสมัครเข้ามาตรวจสอบสังเกตการณ์กระบวนการเลือกนี้ ย่อมขัดกับหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนและความมุ่งหมายในรัฐธรรมนูญมาตรา 107 ที่ระบุในเอกสารความมุ่งหมายฯ ที่อ้างถึงข้างต้นด้วย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X