ธุรกิจกลุ่มพลังงานโรงไฟฟ้ากลับมาคึกคักและมีความหวังในการสร้างการเติบโตของกำไรและรายได้อีกครั้ง หลังสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกประกาศว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ครั้งที่ 17/2566 (ครั้งที่ 845) วันที่ 5 เมษายน 2566 ได้พิจารณาเห็นชอบรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบ กกพ. สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือก 175 ราย ปริมาณเสนอขายรวม 4,852.26 เมกะวัตต์ (MW) จากรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ ตามเกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่าน (Pass/Fail Basis) รวมทั้งสิ้น 386 ราย
สำหรับเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาสำนักงาน กกพ. ได้ประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ ตามเกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่าน (Pass/Fail Basis) ตามระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับขยะอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผู้ผ่านการพิจารณา 18 ราย โดย กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 17/2566 วันที่ 5 เมษายน 2566 ได้พิจารณาเห็นชอบรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบ กกพ. สำหรับขยะอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือก 13 ราย ปริมาณเสนอขายรวม 100 เมกะวัตต์
โบรกเกอร์มองเป็นปัจจัยหนุนกำไรกลุ่มโรงไฟฟ้า
เบญจพล สุทธิ์วนิช ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า หลังจากที่ กกพ. ประกาศผลการประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือก 4,852 เมกะวัตต์
ทั้งนี้จะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกทราบและยอมรับเงื่อนไขการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในวันที่ 19 เมษายน 2566 โดยโครงการที่ผ่านการคัดเลือกทั้งหมดจะต้องเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในปี 2573
โดยจากข้อมูลการรายงานข่าวผ่านสื่อพบว่า GULF ได้โครงการมากที่สุด บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่ผ่านการประมูล ประกอบด้วย
- บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF จำนวน 2,500 เมกะวัตต์
- บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง หรือ GUNKUL จำนวน 832 เมกะวัตต์
- บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ หรือ BGRIM จำนวน 339 เมกะวัตต์
- บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น หรือ SSP จำนวน 170 เมกะวัตต์
- บมจ.เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ หรือ ETC จำนวน 80 เมกะวัตต์ โดยทั้งหมดเป็นโรงไฟฟ้าขยะ
- บมจ.ราช กรุ๊ป หรือ RATCH จำนวน 27 เมกะวัตต์
- บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC จำนวน 16 เมกะวัตต์
- บมจ.บีซีพีจี หรือ BCPG จำนวน 12 เมกะวัตต์
ส่วนบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้ารายใหญ่ คือ บมจ.ผลิตไฟฟ้า หรือ EGCO ไม่มีโครงการที่ชนะการประมูลในรอบนี้
อย่างไรก็ตาม จากผลการประมูลครั้งประเมินผลกระทบกำไรยังมีอย่างจำกัด โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ เช่น GULF, BGRIM, GPSC, RATCH, BCPG ภายในสมมติฐานกำไรของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 1.2 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ และโครงการพลังงานลมอีกประมาณ 3 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์
นอกจากนี้ ประเมินว่าโอกาสของกำไรเติบโตก้าวกระโดดมากที่สุดคือ ETC จากฐานกำไรที่ต่ำ และ GUNKUL จากโครงการรับเหมาก่อสร้างที่คาดว่าจะเข้ามาอย่างมากในอีก 7 ปี เตรียมการประมูลรอบใหม่เป็นแรงหนุนต่อเนื่อง หลังจากการประมูลรอบแรกผ่านไป คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เตรียมจัดประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ เพื่อเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดในประเทศไทย
ประกอบด้วยโซลาร์ฟาร์มแบบติดตั้งบนพื้นดินและระบบการเก็บพลังงาน 2,632 เมกะวัตต์, พลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์, ก๊าซชีวภาพ 335 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานขยะอุตสาหกรรม 30 เมกะวัตต์ การประมูลคาดว่าจะมีขึ้นในรัฐบาลชุดต่อไป โดยจะเป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญสำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้า และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการด้านพลังงานทดแทน
กลุ่มโรงไฟฟ้ากำไรปี 2566 โตแรง 40%
นอกจากนี้ ประเมินว่ากำไรของกลุ่มโรงไฟฟ้าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 4/65 ด้วยต้นทุนก๊าซที่ทยอยลดลง อีกทั้งยังมีดีมานด์การใช้ไฟฟ้าที่แข็งแกร่ง และไม่มีแผนการปิดซ่อมโรงไฟฟ้า ดังนั้นประเมินว่าจะเห็นการฟื้นตัวของกำไรของกลุ่มโรงไฟฟ้าตั้งแต่ไตรมาส 1/66 เป็นต้นไป
และคาดว่ากำไรของหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าในปี 2566 จะเพิ่มขึ้น 40% เป็นประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาท โดยได้รับแรงหนุนจากฐานกำไรปี 2565 ที่ต่ำ รวมทั้งต้นทุนก๊าซที่ลดลง และอุปสงค์ที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งหลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย
ดังนั้นยังคงมีมุมมองบวกต่อกลุ่ม และยังคงให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มโรงไฟฟ้าของไทยเป็นมากกว่าตลาด (Overweight) โดยปัจจัยบวกดังนี้
- ดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้จะถึงจุดสูงสุดในไม่ช้า
- ต้นทุนพลังงานลดลงในปี 2566
- กำไรของกลุ่มได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว
- กระทรวงพลังงานจะมีการเปิดประมูลพลังงานทดแทนรอบใหม่อีก 3,660 เมกะวัตต์ โดยรอรัฐบาลชุดใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการ
โบรกเกอร์พร้อมใจยก GULF เป็น Top Pick
เบญจพลกล่าวว่า แนะนำ GULF เป็น Top Pick ของกลุ่ม เพราะเป็นบริษัทที่ชนะการประมูลจำนวนเมกะวัตต์มาสูงสุด ซึ่งหลังจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ชนะการประมูลมาจำนวน 2,500 เมกะวัตต์ เริ่ม COD จะช่วยให้ระหว่างปี 2567-2573 มีกำไรสุทธิเพิ่มเข้ามาอีกประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อปี หรือมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอีกราว 1% ต่อปี
กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี พัฒนสิน กล่าวว่า หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ชนะการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของ กกพ. ถือว่าเป็นปัจจัยบวกที่มี Upside ต่อกำไรของกลุ่ม โดย GULF เป็นบริษัทที่ชนะการประมูลได้จำนวนเมกะวัตต์ที่สูงสุดเป็นอันดับที่ 1 รองลงมาคือ GUNKUL ที่ได้จำนวนเมกะวัตต์ที่สูงสุดเป็นอันดับที่ 2
อย่างไรก็ดี โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดขนาดกำลังผลิตรวมประมาณ 5,200 เมกะวัตต์ ยังต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างจึงจะเริ่มทยอย COD อย่างมีนัยสำคัญในระหว่างปี 2569-2573 ซึ่งเป็น Upside ต่อกำไรในระยะยาว
ขณะที่แนวโน้มการเติบโตของกำไรสุทธิของกลุ่มโรงไฟฟ้าในปี 2566-2567 มองว่า GULF มีความน่าสนใจ โดยแนะนำ GULF เป็น Top Pick ของกลุ่ม โดยให้ราคาเหมาะสมปี 2566 ที่ 55 บาท อีกทั้งมีโอกาสปรับขึ้นอีกจากปัจจัยบวกที่มีการชนะการประมูลได้เมกะวัตต์สูงสุดของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ขณะที่ฐานกำไรในปี 2566-2567 จะเติบโตเฉลี่ย 37% ต่อปีจากโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ที่ทยอย COD รวมถึงค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นจะเป็นบวกกับกลุ่มโรงไฟฟ้า
รวมถึง GPSC ที่มองว่าน่าสนใจในการลงทุน โดยให้ราคาเหมาะสมปี 2566 ที่ 84 บาท แม้ในการประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบนี้จะได้ชนะได้จำนวนเมกะวัตต์มาไม่มาก เนื่องจากประเมินว่าใน 2 ปีระหว่าง 2566-2567 กำไรสุทธิจะเติบโตสูงเฉลี่ยรวมประมาณ 600% เพราะเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำและมีผลการขาดทุนในปี 2565 อีกทั้งในปี 2566-2567 จะมีโครงการโรงไฟฟ้าจำนวนมากทยอย COD ในทุกไตรมาส
GUNKUL คาดกำไร-รายได้ธุรกิจไฟฟ้าโตกว่า 100%
โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร GUNKUL ให้สัมภาษณ์ THE STANDARD WEALTH ว่า บริษัทชนะการประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของ กกพ. ได้สัญญาขายไฟฟ้าขนาดรวม 832 เมกะวัตต์ ถือเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ เพราะปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตโรงไฟฟ้ารวมประมาณ 700 เมกะวัตต์
ดังนั้นประเมินว่าจากปัจจัยดังกล่าวจะส่งต่อกำไรและรายได้ของธุรกิจโรงไฟฟ้าของบริษัทมีโอกาสเติบโตขึ้นมากกว่า 100% ในช่วง 5 ปี มาจากการที่โครงการไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาด 832 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 4 หมื่นล้านบาท โดยสำหรับแหล่งเงินลงทุนบริษัทเตรียมความพร้อมไว้แล้ว โดยจะเงินลงทุนในรูปแบบสินเชื่อโครงการ (Project Finance) โดยคาดว่าโครงการไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาด 832 เมกะวัตต์ จะเริ่มทยอย COD ในปี 2569 และจะทยอย COD ครบทั้งหมดในปี 2573
นอกจากนี้บริษัทยังเตรียมความพร้อมในการยื่นเข้าประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ที่กระทรวงพลังงานจะเปิดให้เอกชนยื่นประมูลเพิ่มเติมอีกประมาณ 3,600 เมกะวัตต์ ซึ่งมีความคาดหวังว่าจะสัญญาขายไฟฟ้าเพิ่มเติม จากในรอบล่าสุดที่เปิดประมูลไปแล้ว 4,852.26 เมกะวัตต์ โดยการประมูลทั้ง 2 รอบมีขนาดการรับซื้อไฟฟ้ารวมกันประมาณ 8,452 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าการเปิดประมูลรอบใหม่จะเกิดขึ้นได้ภายหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งแล้วเสร็จ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- หุ้นอิเล็กทรอนิกส์ นำตลาดผันผวน หลัง IMF มองว่าความเสี่ยง Recession น้อยลง
- ตลท. ขยายกรอบ ‘Ceiling & Floor’ ใหม่ให้สอดคล้องกับตลาดหุ้นนอก พร้อมประกาศเพิ่มเครื่องหมาย P เตือนหุ้นที่ซื้อขายผิดปกติ เริ่มมีผลใช้ใน 1Q66
- ย้อนรอย ‘ออลล์ อินสไปร์’ ก่อนเบี้ยวดอกเบี้ยหุ้นกู้ ฟากผู้บริหารชิงขายหุ้น ก่อนราคาดิ่ง 90% จากจุดสูงสุด