จากกรณีกระแสข่าวประชาชนซื้อบัตรสมาร์ทการ์ดคล้ายบัตร ATM พร้อมอ้างว่า เป็นบัตรพลังงานมีสรรพคุณในการรักษาโรค โดยเฉพาะอาการปวดเมื่อยต่างๆ ตามร่างกาย โดยใช้วิธีการนำบัตรไปแกว่งในแก้วน้ำแล้วนำมาดื่ม หรือนำแก้วน้ำวางทับบนบัตรแล้วดื่ม รวมทั้งมีการนำบัตรสัมผัสกับร่างกายในจุดที่ปวดเมื่อย ตามที่ได้เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้
ล่าสุด วันนี้ (17 มิ.ย.) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ หรือ ปส. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีของประเทศ ได้เดินทางรับตัวอย่างจาก รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมเร่งตรวจสอบด้วยกระบวนการและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย ซึ่งได้เผยผลการวิเคราะห์สารจากบัตรพลังงานดังกล่าว ดังนี้
1. ไม่พบการเปรอะเปื้อนทางรังสีที่วัสดุห่อหุ้มและพื้นผิวของแผ่นการ์ดสำหรับการ์ดตัวอย่างที่สมบูรณ์ไม่แตกหัก
2. การวัดธาตุองค์ประกอบของแผ่นการ์ดด้วยเทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์ (X-Ray Fluorescence: XRF) พบธาตุยูเรเนียมและทอเรียม
3. การวิเคราะห์ไอโซโทปรังสีในแผ่นการ์ดด้วยระบบวิเคราะห์แกมมาสเปคโตรสโคปี (Gamma Spectroscopy) พบนิวไคลด์กัมมันตรังสีของอนุกรมทอเรียมและยูเรเนียม
4. การวัดค่าระดับรังสี (Dose Rate) เทียบกับค่ารังสีพื้นหลัง พบว่า ระดับรังสีของแผ่นการ์ดสูงกว่าระดับรังสีพื้นหลังประมาณ 200 เท่าที่ระยะห่างจากแผ่นการ์ด 1 เซนติเมตร ซึ่งระดับรังสีที่วัดได้อยู่ที่ประมาณ 40 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง หรือเทียบเป็น 350 เท่าของขีดจำกัดการได้รับปริมาณรังสีสำหรับประชาชนทั่วไปในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงความปลอดภัยทางรังสี พ.ศ. 2561
5. การวัดค่าการกระจายตัวของสารกัมมันตรังสีในแผ่นการ์ดด้วยเทคนิค Imaging Plate พบว่า สารกัมมันตรังสีกระจายอยู่ทั่วทั้งแผ่นการ์ดอย่างสม่ำเสมอ
6. การถ่ายภาพเพื่อดูลักษณะภายในของแผ่นการ์ดด้วยรังสีเอกซ์ ไม่พบชิ้นส่วนอื่นใดประกอบอยู่ภายในแผ่นการ์ด
ทั้งนี้ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ระบุว่า หากยูเรเนียมและทอเรียมเข้าสู่ร่างกาย จะก่อให้เกิดการแผ่รังสีต่ออวัยวะภายใน และเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเตรียมวิเคราะห์การปนเปื้อนของวัสดุกัมมันตรังสี เมื่อนำแผ่นการ์ดแช่น้ำในลำดับต่อไป และเมื่อมีข้อมูลครบถ้วน ทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติอาจดำเนินคดีกับบริษัทผู้จำหน่ายต่อไป
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติจึงขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการครอบครองและใช้สินค้าที่มีส่วนผสมของวัสดุกัมมันตรังสี วัสดุนิวเคลียร์ หรือวัตถุอันตราย และหากมีข้อกังวล สามารถประสานไปยังสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เพื่อจัดการต่อไป
ภาพ: สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: