×

Deutsche Bank ชี้สหราชอาณาจักรเสี่ยงเผชิญ ‘วิกฤตเงินปอนด์’ เพิ่มขึ้น หลัง Liz Truss ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

07.09.2022
  • LOADING...
Liz Truss

Deutsche Bank ชี้ความเป็นไปได้ที่จะเกิดวิกฤตเงินปอนด์ และการขาดดุลการชำระเงินกำลังเพิ่มขึ้น หลัง Liz Truss ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เนื่องจาก ผู้นำคนใหม่ของอังกฤษเคยแนะนำให้ยกเลิกพิธีสารว่าด้วยไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland Protocol) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของข้อตกลง Post-Brexit ทำให้นักวิเคราะห์มองว่า นโยบายการค้าที่ไม่แน่นอนมากขึ้น จะทำให้ภาพเศรษฐกิจมหภาคและความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง 

 

หลายฝ่ายพากันจับตาการประกาศนโยบายของ Liz Truss นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักร ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เนื่องจากนโยบายของผู้นำหญิงคนใหม่นี้จะมีความสำคัญอย่างมาก หากสหราชอาณาจักรต้องการหลีกเลี่ยงวิกฤตทางเศรษฐกิจมหภาคที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤตขาดดุลการชำระเงิน 

 

หลังจาก Liz Truss เอาชนะ Rishi Sunak ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำของพรรคอนุรักษนิยมต่อจาก Boris Johnson เงินปอนด์ก็แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในบ่ายวันจันทร์ที่ผ่านมา (6 กันยายน) โดยซื้อขายอยู่ที่ต่ำกว่า 1.15 ดอลลาร์ต่อปอนด์ อย่างไรก็ตาม Shreyas Gopal นักกลยุทธ์ FX จาก Deutsche Bank เตือนว่า ทุกฝ่ายไม่ควรมองข้ามความเป็นไปได้ที่จะเกิด ‘วิกฤตเงินปอนด์สเตอร์ลิง’

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 


 

โดย Deutsche Bank ระบุเมื่อวันจันทร์ว่า ด้วยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เงินปอนด์จึงต้องการเงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก ซึ่งต้องมาจากการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นนักลงทุน และคาดการณ์เงินเฟ้อที่ลดลง อย่างไรก็ตาม Deutsche Bank มองว่า เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรกำลังเผชิญสิ่งที่ตรงกันข้าม

 

ปัจจุบันสหราชอาณาจักรกำลังได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในกลุ่ม G10 และแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ การใช้นโยบายทางการคลังแบบขยายตัวอย่างไร้เป้าหมาย และความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางอังกฤษจะเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบาย ซึ่งอาจทำให้คาดการณ์เงินเฟ้อสูงขึ้น จนในที่สุดอาจนำไปสู่ Fiscal Dominance ซึ่งเป็นภาวะที่ประเทศมีหนี้รัฐบาลสูง แต่ธนาคารกลางต้องคงเป้าหมายทางการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลล้มละลาย ซึ่งอาจทำให้ประเทศไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจอื่นๆ ได้ เช่น เงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการจ้างงาน เป็นต้น

 

โดยระหว่างการหาเสียง Liz Truss เคยกล่าวโทษธนาคารกลางที่ปล่อยให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี และมีรายงานว่า กำลังพิจารณาทบทวนอำนาจของธนาคารกลาง

 

นอกจากนี้ Liz Truss ยังเคยแนะนำให้ยกเลิกพิธีสารว่าด้วยไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland Protocol) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของข้อตกลง Post-Brexit ระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะกระตุ้นให้มีการตอบโต้จากสหภาพยุโรป ทำให้ Shreyas Gopal มองว่า นโยบายการค้าที่ไม่แน่นอนมากขึ้นจะทำให้ภาพเศรษฐกิจมหภาค และความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง 

 

Deutsche Bank ประมาณการว่า เงินปอนด์ที่ถ่วงน้ำหนักการค้า (Trade-Weighted Sterling) ซึ่งเป็นตัวชี้มูลค่าของเงินปอนด์เทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศ อาจอ่อนค่าลงอีก 15% เพื่อทำให้การขาดดุลของสหราชอาณาจักรกลับสู่ค่าเฉลี่ย 10 ปี

 

Shreyas Gopal กล่าวอีกว่า แม้ว่าวิกฤตดุลการชำระเงินอาจฟังดูรุนแรง แต่สหราชอาณาจักรก็เคยเผชิญวิกฤตนี้มาก่อน จากการใช้จ่ายเงินคลังเชิงรุก วิกฤตด้านราคาพลังงาน และการอ่อนค่าของสเตอร์ลิง ส่งผลให้ในท้ายที่สุดสหราชอาณาจักรต้องขอเงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในช่วงกลางทศวรรษ 1970 และแม้วันนี้ สหราชอาณาจักรยังคงรักษาแนวป้องกันหลักบางประการได้ อย่างไรก็ตาม Deutsche Bank ยังกังวลว่า ความเสี่ยงดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising