×

ใช่คุณหรือเปล่า มูฟออนจากซีรีส์ที่จบไปแล้วไม่ได้ นี่คืออาการ Post-Series Depression

21.05.2021
  • LOADING...
ใช่คุณหรือเปล่า มูฟออนจากซีรีส์ที่จบไปแล้วไม่ได้ นี่คืออาการ Post-Series Depression

HIGHLIGHTS

2 mins. read
  • รู้จักอาการ Post-Series Depression หรือ PSD เป็นภาวะของคนที่รู้สึกอิน และผูกพันกับเรื่องราวหรือตัวละครในซีรีส์ จนทำใจไม่ได้เมื่อซีรีส์จบ ทำให้รู้สึกเศร้า เคว้งคว้าง ไร้จุดหมาย มีอาการเหมือนคนอกหัก แต่ภาวะนี้ไม่อันตราย เพราะไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นโรค และไม่ได้อยู่ในกลุ่มอาการผิดปกติทางการแพทย์ เป็นอาการที่สามารถหายไปได้เอง 

ต้องยอมรับว่าแพลตฟอร์มเพื่อความบันเทิงในโลกดิจิทัลอย่าง Netflix, Viu Thailand, WeTV ที่อัดแน่นไปด้วยซีรีส์มากมาย คือส่วนหนึ่งที่ช่วยชุบชูใจให้ใครหลายคนมีช่วงเวลาที่ดีไปกับการเลือกรับชมซีรีส์เรื่องโปรด แม้ทุกวันนี้จะมีผลงานซีรีส์เรื่องใหม่ๆ จ่อคิวมาฉายต่อจากซีรีส์เรื่องเดิมที่จบไป แต่เชื่อว่ามีคนจำนวนมากที่ไม่สามารถทำใจได้เมื่อซีรีส์เรื่องโปรดจบลง ส่งผลให้เกิดอาการซึมๆ รู้สึกเคว้งคว้างราวกับชีวิตนี้ไร้จุดหมาย จะมองไปทางไหนก็มีแต่ความหดหู่ มีแต่ความคิดถึง และโหยหาตัวละครที่ตัวเองผูกพัน เป็นอาการคล้ายๆ คนอกหัก ซึ่งอาการเหล่านี้มีชื่อเรียกว่าภาวะ Post-Series Depression หรือ PSD ที่ต้องบอกว่าถ้าจิตใจอ่อนไหวก็มีสิทธิ์เป็นกันได้ทุกคน แต่ไม่อันตรายเพราะไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นโรค และไม่ได้อยู่ในกลุ่มอาการผิดปกติทางการแพทย์ เพียงแต่เป็นภาวะทางอารมณ์ในช่วงเวลาหนึ่งที่สามารถหายไปได้เอง 

 

อะไรคือภาวะ Post-Series Depression  

Post-Series Depression หรือ PSD เป็นอาการที่คนเรามักจะเกิดความรู้สึกเศร้า หลังจากที่ได้อ่านหนังสือ หรือดูซีรีส์เรื่องยาวๆ จบลง แต่คุณไม่ต้องการให้มันจบ ทำให้เกิดความรู้สึกที่ยอมรับไม่ได้ ทำใจลำบากที่ต้องรู้ว่าซีรีส์เรื่องโปรด หรือตัวละครที่คุณผูกพันจะไม่มีตอนใหม่ๆ มาให้คุณดูอีกแล้ว หลายคนที่มีภาวะแบบนี้จึงมีอาการคล้ายๆ กัน คือเต็มไปด้วยความเศร้าอยู่ในใจลึกๆ ไม่สามารถมูฟออนได้ ได้แต่คิดถึง ผูกพัน และโหยหาความรู้สึกเดิมๆ เหมือนตอนที่ได้ดูซีรีส์เรื่องโปรด บางคนถ้าจิตใจอ่อนไหวมากๆ ก็ถึงขั้นร้องไห้ออกมาได้

 

ซึ่งทางโรงพยาบาลพญาไท ได้อธิบายภาวะของ Post-Series Depression ว่า อาการนี้ไม่เข้าข่ายเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตจึงไม่ต้องกังวลไป เพียงแต่อาการ Post- Series Depression นี้เป็นเพียงภาวะเศร้าเมื่อซีรีส์จบ ซึ่งไม่จัดว่าเป็นโรคหรือกลุ่มอาการผิดปกติ แต่เป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น นั่นเป็นเพราะ ระหว่างที่เรากำลังเพลิดเพลินกับการดูซีรีส์หรืออ่านนิยายอยู่นั้น ร่างกายจะหลั่งสารแห่งความสุขออกมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อจบลงสมองก็จะลดการหลั่งสารออกมา ทำให้เรารู้สึกว้าเหว่ โหวงเหวงขึ้นมาได้ 

 

We Say: จริงๆ ไม่ใช่แค่คนที่อินกับซีรีส์เท่านั้นที่จะมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้ เพราะในคนที่อินกับรายการประกวดนางงาม รายการแข่งขันกีฬาที่มีช่วงเวลาที่ยาวนาน เช่น โอลิมปิก หรือรายการเรียลิตี้ที่คุณติดตามมาตั้งแต่ตอนแรกจนถึงตอนสุดท้าย ยิ่งคุณอิน ชอบ และผูกพันกับสิ่งที่คุณดูมากๆ ก็จะยิ่งมูฟออนยาก ซึ่งเป็นอาการที่มีภาวะ Post-Series Depression นั่นเอง 

 

Post-Series Depression Syndrome อันตรายหรือไม่

จริงๆ แล้วภาวะ Post-Series Depression ไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นโรค และไม่ได้อยู่ในกลุ่มอาการทางการแพทย์ที่ต้องได้รับการรักษา อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น หากตั้งใจเยียวยาหัวใจตัวเอง และทำใจยอมรับว่าซีรีส์เรื่องโปรดได้จบลงแล้วก็อาจจะหายจากความรู้สึกเศร้าหรือเคว้งคว้างนี้ได้ภายใน 1-3 สัปดาห์ 

 

วิธีรับมือกับภาวะ Post-Series Depression  

  1. ยอมรับเถอะว่าซีรีส์เรื่องโปรดนั้นจบลงแล้ว หากคิดถึงตัวละครหรือพระเอกในเรื่องก็สามารถย้อนกลับไปเริ่มต้นดูใหม่ได้ จะได้หายคิดถึง 
  2. ลองเปลี่ยนแนวไปดูรายการวาไรตี้ที่ช่วยเยียวยาอารมณ์ของคุณให้กลับมาสนุกสนาน ได้ยิ้ม ได้หัวเราะบ่อยๆ ดีกว่าฟูมฟายและจมปลักอยู่กับความเศร้า ความหน่วงจากซีรีส์เรื่องเดิมที่จบไปแล้ว 
  3. เปลี่ยนจุดโฟกัสไปทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ออกกำลังกาย ฟิตร่างกายสร้างหุ่นเฟิร์ม ลองหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ เพื่อทำให้ตัวเองเบี่ยงเบนความสนใจออกไปจากซีรีส์ที่จบไปแล้ว 
  4. ทำงานอดิเรกใหม่ๆ ที่ช่วยให้ลืม เช่น แต่งห้องใหม่ ปลูกต้นไม้ สร้างบรรยากาศให้บ้านสดชื่น หรือจะลองเรียนคอร์สออนไลน์ที่สนใจ เพื่อเพิ่มทักษะใหม่ๆ ให้กับชีวิต
  5. โฟกัสกับงานปัจจุบันของตัวเองที่ต้องรับผิดชอบ อย่าปล่อยให้ภาวะ Post-Series Depression ทำให้เสียงานเสียการ ดึงสติ และกลับมาเป็นคุณคนเดิมที่สดใส และมีพลังในการดำเนินชีวิตอีกครั้ง 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง: 

  • phyathai hospital
  • Urbandictionary.com
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X