×

‘แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง’ Pose ซีรีส์ที่สอนให้รู้ว่า ‘แม่ก็คือแม่’ แม้ไม่มีค่าน้ำนม

01.10.2021
  • LOADING...
Pose

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  •  Pose ในซีซันต่างๆ เน้นย้ำประเด็นที่แตกต่างกันตั้งแต่การปูพื้นฐานให้รู้จักวัฒนธรรม Drag Ball และความสัมพันธ์ของตัวละครในซีซันแรก การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อสิทธิของชาว LGBTQ+ ในซีซันที่ 2 และการเปิดประตูต้อนรับวัฒนธรรม ความเป็น LGBTQ+ ในซีซันสุดท้าย 


  • แต่สิ่งที่เหมือนๆ กันก็คือการนิยามความหมายของคำว่าครอบครัวผ่านตัวละครหญิงทั้งในเพศสภาพปกติ และหญิงข้ามเพศในบทบาทความเป็น ‘แม่’ ที่สร้างทั้งความขัดแย้งและความอบอุ่นในเวลาเดียวกัน 

 

เดินทางมาถึงซีซันสุดท้ายแล้วสำหรับ Pose ซีรีส์ว่าด้วยเรื่องชีวิตเหล่าผู้หญิงข้ามเพศผิวสีในนิวยอร์กช่วงกลางยุค 80-90 ที่ทำให้ได้เข้าไปสัมผัสชีวิตชนชั้นล่างสุดที่มักจะถูกพูดถึงเป็นลำดับสุดท้ายในกลุ่ม LGBTQ+ โดยมีแกนกลางอยู่ที่ ‘งานบอล (Drag Ball)’ งานประจำสัปดาห์ที่ให้เหล่าคนข้ามเพศแต่งตัวเลิศหรูมาประชันกันแลกกับถ้วยรางวัลที่ดูไม่มีค่าในสายตาใคร แต่สำหรับพวกเธอมันคือชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ และกลายเป็นเครื่องหมายแห่งการยอมรับที่เธอไม่เคยได้รับจากโลกแห่งความเป็นจริง

 

Pose

 

สำหรับผู้เขียนได้ดูรายการ Rupaul’s Drag Race แต่ไม่เคยเข้าใจคำว่าบ้าน (House) จนกระทั่งดูซีรีส์เรื่องนี้จึงรู้ว่าความผูกพันดั่งครอบครัวของชาว Drag หรือ LGBTQ+ เกิดขึ้นได้อย่างไร แม้ในยุคปัจจุบันความหมายของคำว่า ‘บ้าน’ อาจไม่เข้มข้นเท่ายุคบุกเบิกที่ประกอบขึ้นจากความแหว่งวิ่นด้วยเพศสภาพของชาว LGBTQ+ ผู้ถูกปฏิเสธจากครอบครัวตัวเอง จนต้องสร้างครอบครัวใหม่เพื่อให้ไออุ่นกันและกัน Pose ในซีซันต่างๆ เน้นย้ำประเด็นที่แตกต่างกันตั้งแต่การปูพื้นฐานให้รู้จักวัฒนธรรม Drag Ball และความสัมพันธ์ของตัวละครในซีซันแรก การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อสิทธิของชาว LGBTQ+ ในซีซันที่ 2 และการเปิดประตูต้อนรับวัฒนธรรม ความเป็น LGBTQ+ ในซีซันสุดท้าย แต่สิ่งที่เหมือนๆ กันก็คือการนิยามความหมายของคำว่าครอบครัวผ่านตัวละครหญิงทั้งในเพศสภาพปกติ และหญิงข้ามเพศในบทบาทความเป็น ‘แม่’ ที่สร้างทั้งความขัดแย้งและความอบอุ่นในเวลาเดียวกัน 

 

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์

 

เพราะโลกนี้ไม่มีคู่มือสำหรับคุณแม่ที่มีลูกเป็น LGBTQ+ 

 

Pose

 

ที่นี่ไม่มีใครสอนให้เลี้ยงลูกที่เป็นเกย์ คุณจะโทษตัวเองเรื่องที่ไม่รู้ไม่ได้” Elektra แม้ความขัดแย้งส่วนใหญ่ของลูกชายเกย์มักเกิดขึ้นกับพ่อ แต่ความเจ็บปวดที่ร้าวลึกกว่าคือความรู้สึกของเด็กเหล่านั้นที่มีต่อแม่ หากไม่ยอมรับในตัวตนของพวกเขา ซึ่งในซีรีส์เรื่องนี้ก็เน้นย้ำไปที่ความขัดแย้งเหล่านั้นที่กว่าจะถูกคลี่คลายก็หมายถึงการจากลากันอย่างไม่มีวันกลับ อย่างในฉากแม่ไปงานศพของ ‘Candy’ เธอก็ยังไม่อาจยอมรับตัวตนแท้จริงของลูกชาย และยังเรียกชื่อเดิมของ Candy อยู่ แต่เมื่อมาทบทวนความรู้สึกก็ได้รู้ว่าสิ่งที่เธอมองข้ามไปคือข้อดีหลายๆ อย่างของลูกสาวในร่างลูกชายผู้นี้ไป หรือในฉากที่เด็กชาย Mateo ถามว่า “แม่จะรักผมตลอดไปไหม” แล้วแม่ก็ตอบว่า “รักสิ แม่จะรักหนูตลอดไป” แต่เมื่อโตขึ้นตัวตนข้างในของ Mateo กลับผลิบานเป็นสาวน้อย ‘Blanca’ นั่นคือความท้าทายของคนเป็นแม่ว่าจะรับตัวตนที่แท้จริงของลูกได้แค่ไหน และคำว่า ‘ตลอดไป’ มีจริงหรือเปล่า 

 

Pose

 

อย่างที่บอกว่าเพราะโลกนี้ไม่มีคู่มือสำหรับแม่ที่มีลูกเกย์ จึงไม่มีใครบอกได้ว่าอะไรผิดหรือถูก จนบางครั้งสิ่งแม่คิดว่าเป็นความห่วงใย กลัวลูกจะใช้ชีวิตลำบาก กลายเป็นความก้าวร้าว รุนแรง ตาต่อตาฟันต่อฟัน แต่มันยิ่งกลับผลักลูกให้ออกห่างจากตัว แบบเดียวกับที่แม่ ‘Elektra’ ใช้ความดุดันจนทำให้เธอขอออกไปยอมรับความอัปยศตามข้างถนนเสียยังดีกว่าจะถูกแม่ที่ให้กำเนิด แต่ไม่ยอมรับตัวตนที่แท้จริงของลูกข่มแหงจิตใจ หรือแม้แต่แม่ที่รู้อยู่เต็มอกว่าลูกชายหัวใจเป็นหญิงมีดีแค่ไหน แต่ก็อาจดึงศักยภาพเหล่านั้นออกมาใช้ได้ เพราะกลัวแรงต้านของสังคมจนกลายเป็นปมในใจของ ‘Pray Tell’ ที่กว่าจะได้รับการสะสางก็อาจจะถึงช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตแล้วเหมือนกัน 

        

ประเด็นเรื่องความสัมพันธ์แม่ลูกในเรื่องเป็นภาพสะท้อนกลับมายังครอบครัวที่มีสมาชิกมีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดว่า การยอมรับและเข้าใจคือคำตอบที่ดีที่สุด และสิ่งที่ต้องย้ำในใจคนเป็นพ่อเป็นแม่ก็คือเวลาบนโลกนี้ของเราเหลือน้อยกว่าลูก ดังนั้นชีวิตต่อจากนั้นเขาต้องเป็นคนเลือกเอง

 

Pose

 

‘แม่ก็คือแม่’ แม้ไม่มีค่าน้ำนม 

“เมื่อเราไม่ได้รับการยอมรับจากแม่หรือพ่อตัวเอง เราจะคอยมองหาใครสักคนที่จะเข้ามาแทนที่ความรักที่ขาดหายไป” Blanca

 

เมื่อครอบครัวที่แท้จริงไม่ยอมรับ LGBTQ+ จะเลือกครอบครัวของตัวเอง ซึ่งบ้านต่างๆ ในเรื่องก็คือครอบครัวของเด็กหนุ่มสาวที่ไม่เคยมีบ้านของตัวเอง นอกจากจะเพื่อแข่งขันความเลิศหรูในงาน Drag Ball แล้ว ยังให้ไออุ่นกันและกัน หรือแม้แต่ตัว ‘แม่’ ซึ่งหมายถึงผู้ที่รวบรวมสมาชิกต่างๆ ก็ยังต้องการความยอม เพราะเราต่างก็อยากเป็นคนสำคัญของใครสักคน

 

ในเรื่องเราได้เห็นการทำหน้าที่ ‘แม่’ ที่ไม่แตกต่างจาก ‘แม่’ แบบครอบครัวปกติของ Blanca ที่คอยดูแลความเป็นอยู่ และสั่งสอนให้ลูกๆ ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ยิ่งไปกว่านั้นยังสอนเรื่องเพศศึกษาที่ครอบครัวปกติไม่กล้า หรือไม่เข้าใจถึงวิถีของเพศทางเลือกให้กับลูกๆ ที่จริงๆ แล้วอายุเท่าๆ กัน แต่สำนึกในเรื่องนี้อาจจะต่างกัน ในขณะที่  Elektra เป็นแม่อีกแบบคือใช้อำนาจข่มเห่งลูกๆ ให้อยู่ในโอวาท โดยได้รับผลพวงจากการเลี้ยงดูของแม่แท้ๆ ของตัวเอง แม้จะดูเป็นแม่ที่ไม่ดี แต่ในซีซันต่อๆ มาก็เผยให้เห็นถึงความเสียสละ ห่วงใย เอื้ออาทรไม่ต่างกัน อย่างที่เราได้เห็นในเรื่อง ที่บ่อยครั้งๆ ริอ่าน ‘ปีนเกลียว’ แต่สุดท้ายก็ยังวนเวียนมาสร้างความรู้สึกดีๆ ให้กัน เหมือนผู้สร้างต้องการจะย้ำว่า ‘เรามีกันอยู่เท่านี้’ ซึ่งอธิบายสังคมแบบ LGBTQ ได้เป็นอย่างดี 

 

Pose

POSE — “On The Run” — Season 3, Episode 1 (Airs May 2) Pictured (l-r): Dyllón Burnside as Ricky, Hailie Sahar as Lulu, Mj Rodriguez as Blanca, Indya Moore as Angel, Angel Bismark Curiel as Lil Papi. CR: Eric Liebowitz/FX

 

ด้วยสองมือแม่นี้ที่สร้างโลก

“ลูกต้องได้อยู่ในโลกที่ดีกว่าโลกที่ฉันเติบโตมา“ Blanca

 

Pose ฉายภาพให้เห็นว่าชาว LGBTQ+ เดินทางมาไกลแค่ไหนจากจุดเริ่มต้น ตั้งแต่การเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง จนกระทั่งถึงวันที่โลกเริ่มเปิดประตูต้อนรับความแตกต่างหลากหลาย ณ จุดนี้ก็ต้องขอบคุณ ‘แม่ๆ’ ที่ไม่ใช่แค่คำเรียกเพื่อตลกขบขัน แต่คือคำยกย่องต่อชาว LGBTQ+ รุ่นใหญ่ที่กล้าเปิดเผยตัวตน ท้าทายแรงเสียดทานของสังคม จนกระทั่งกลุ่มเพศทางเลือกมีพื้นที่ยืนอยู่ในสังคมในปัจจุบันนี้ และไม่ว่าคุณจะอยู่ในกลุ่ม LGBTQ+ หรือไม่ อยากแนะนำให้ลองเปิดไปดูเพื่อเรียนรู้และเข้าใจเพื่อนผู้ร่วมอยู่ในสังคมเดียวกัน รับชมได้ทาง Netflix 

 

Pose

 

ภาพ: Netflix

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising