หลังจาก รื่นวดี สุวรรณมงคล ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีของหน้าที่ เลขาธิการ คนที่ 7 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2566 ก็เป็นเวลายาวนานเกือบ 5 เดือนแล้วที่สำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนของไทยขาดผู้นำองค์กร
จนเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. คนใหม่เป็นคนที่ 8 จากรายชื่อแคนดิเดตของผู้ที่ผ่านคุณสมบัติทั้ง 2 รายชื่อ เฉือนเอาชนะคู่แข่งคนใน ก.ล.ต. อย่าง วรัชญา ศรีมาจันทร์ รองเลขาธิการ ก.ล.ต. ที่มีอาวุโสสูงสุดของคนใน ก.ล.ต. มาได้สำเร็จ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดมุมมองและวิสัยทัศน์ในการบริหารองค์กรในฐานะผู้นำอันดับ 1 ของสำนักงาน ก.ล.ต. ว่า หน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่สำคัญคือการกำกับดูแล เป็นการให้บริการกับสาธารณะ ดังนั้นต้องมีบทบาทในการสร้างความสมดุล ทั้งในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงินการลงทุนให้มีความหลากหลาย รวมถึงกำหนดเกณฑ์ให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ควบคู่ไปกับการกำกับดูแลเพื่อสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ขณะที่มีวิสัยทัศน์สำคัญเพื่อการขับเคลื่อนสำคัญในการสร้าง Trust and Confidence คือการทำให้ประชาชนเชื่อถือและวางใจในการทำงานของ ก.ล.ต. โดยเน้นใน 3 เรื่องสำคัญดังนี้
- บุคลากรของสำนักงาน ก.ล.ต. ต้องมีความเป็นมืออาชีพ และมีความสามารถ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
- รักษาองค์กรให้เป็นอิสระ สร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมองประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียและสร้างสมดุล เพื่อต่อระบบเศรษฐกิจและเสถียรภาพของตลาดทุน
- สื่อสารและการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก รวมถึงการรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่แผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. ฉบับใหม่ ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2567 ในขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดของแผนงานได้ เนื่องจากปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ของสำนักงาน ก.ล.ต. ให้พิจารณาในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้
พรอนงค์กล่าวว่า ภารกิจเร่งด่วนที่ทยอยทำหลังมารับตำแหน่งในช่วง 2 สัปดาห์แรกคือ การติดตามประเด็นที่เป็นสาธารณะและเป็นกระแสที่เป็นที่สนใจ และการสื่อสารข้อมูลในกรณีที่เกิดขึ้นให้สาธารณะรับรู้ ทั้งคดี บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK และ บมจ.มอร์ รีเทิร์น หรือ MORE ในบริบทของ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินการในระดับที่เต็มที่แล้ว และส่งเรื่องต่อไปยังหน่วยงานที่ต้องดำเนินการต่อคือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
เรื่องที่จะทำต่อเนื่องหลังจากนี้ยังต้องสื่อไปยังสาธารณะว่าความคืบหน้าเป็นอย่างไร โดยจากนี้ได้ประสานกับตลาดหลักทรัพย์ฯ และ DSI โดยมีแผนที่จะออกมาชี้แจงความคืบหน้าของการดำเนินคดีร่วมกัน
สำหรับกรณี STARK สำนักงาน ก.ล.ต. มีการกล่าวโทษต่อ DSI แล้วใน 3 ฐานความผิด ดังนี้
- การยื่นไฟลิ่งและหนังสือชี้ชวนขายหุ้นกู้เป็นเท็จ
- เรื่องการตกแต่งบัญชี
- เรื่องการทุจริต
สำหรับกรณีความผิดเรื่องการสร้างราคาและการใช้ข้อมูลภายในยังเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณา และยังไม่มีการกล่าวโทษผู้กระทำความผิด ส่วนเรื่องผู้ตรวจสอบบัญชีอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งมีการให้ส่งข้อมูลชี้แจงที่ ก.ล.ต. ตั้งข้อสงสัย โดยสำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างตรวจสอบเชิงลึกในกรณีของ STARK ซึ่งหากมีหลักฐานเพียงพอก็อาจมีการขยายผลฐานความผิดอื่นหรือผู้กระทำความผิดอื่นๆ เพิ่มเติมได้
แผนงานระยะยาวนั้น ก.ล.ต. อยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฉบับที่ 7 โดยจะให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. เป็นพนักงานสอบสวนได้ จากเดิมที่ต้องส่งข้อมูลให้พนักงานสอบสวนหรือตำรวจเป็นผู้ดำเนินการ และเพิ่มอำนาจ ก.ล.ต. ในการกำกับดูแลสำนักงานผู้สอบบัญชีได้ เช่น เรื่องการให้ใบอนุญาตหรือมีบทลงโทษสำหรับบริษัทที่กระทำความผิดได้
นอกจากนี้ยังแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อดึงสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับของการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกับหลักทรัพย์ประเภทอื่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำหรือมีช่องโหว่ในการหลบเลี่ยงเกณฑ์จากปัจจุบันที่สินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ภายใต้กฎหมายพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งความคืบหน้าขณะนี้ร่างกฎหมายอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
ศึกษาตั้งกองทุนเยียวยาผู้เสียหายในตลาดทุน
พรอนงค์กล่าวเพิ่มว่า กรณีผู้ลงทุนรายย่อยที่ได้รับความเสียหายจากการทุจริตที่เกิดขึ้นมาในหลายกรณี ของทั้ง STARK และความเสียหายจากกรณีอื่นๆ ปัจจุบันสำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้เสียหายจากตลาดทุน ซึ่งต้องรอผลสรุปการศึกษาก่อนว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และหากทำได้จะทำในลักษณะใด ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะได้ข้อสรุปผลการศึกษาภายในสิ้นปี 2566 หากได้ข้อสรุปผลการศึกษาออกมาแล้วจะมีการพิจารณารูปแบบและความเป็นไปได้ รวมถึงแหล่งเงินในการเยียวยา ซึ่งคาดว่าจะมาจากหลายแหล่ง
หนุนตลาดหลักทรัพย์ฯ ขยายเวลาเทรดหุ้น
สำหรับกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กำลังศึกษาขยายเวลาการซื้อ-ขายของตลาดหุ้น ในฐานะที่ตนเองเคยทำงานเป็นคณะกรรมการของตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) เคยศึกษาในเรื่องการขยายเวลาการซื้อ-ขาย ของตลาด AFET เพื่อให้มีความใกล้เคียงกับตลาดต่างประเทศ ซึ่งหากนำมาเทียบเคียงกันกับตลาดหุ้นไทยเชื่อว่าจะเป็นผลบวกกับตลาดหุ้นไทย เพราะจะช่วยสนับสนุนให้มีปริมาณธุรกรรมซื้อ-ขาย ให้มีโอกาสเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนจะมีเวลาในการลงทุนได้ยาวนานขึ้นจากเดิม
อย่างไรก็ดีต้องดูข้อจำกัดของผู้ประกอบธุรกิจ เช่น โบรกเกอร์ซึ่งจะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นซึ่งต้องนำมา Trade Off กับผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังเปิดรับฟังความเห็น(เฮียริ่ง) กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ขณะที่มุมมองส่วนตัวเห็นว่าการขยายเวลาเทรดหุ้นจะสร้างประโยชน์มากกว่าต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถใช้พัฒนาการที่มีของเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานเพื่อลดภาระของการทำงานของเจ้าหน้าแนะนำการลงทุน หรือ IC (เดิมเรียกว่าเจ้าหน้าที่มาร์เก็ตติ้ง) ลงได้ เพราะปัจจุบันการลงทุนในตลาดหุ้นสามารถทำผ่านรับระบบออนไลน์อยู่แล้ว ทั้งนี้สุดท้ายเห็นว่าต้องพิจารณาดูว่าช่วงระยะเวลาที่ขยายการเทรดสอดคล้องกับพฤติกรรมของนักลงทุนด้วยหรือไม่