×

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเสด็จเยือนประเทศไทย มีเรื่องอะไรบ้างที่ต้องจับตา

12.11.2019
  • LOADING...
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส

HIGHLIGHTS

6 MINS. READ
  • สำหรับคริสตชนคาทอลิก สมเด็จพระสันตะปาปาคือหัวหน้าครอบครัวที่ดูแลทุกข์สุขของผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกทั่วโลก พร้อมกับเทศน์ให้ข้อคิดตามหลักศาสนา ซึ่งคำว่า ‘สันตะปาปา’ และ ‘โป๊ป’ นั้นต่างหมายถึง ‘พ่อ’ หรือ ‘ปะป๊า’ 
  • เหตุผลหลักที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสตัดสินใจเลือกเสด็จเยือนประเทศไทยเป็นเพราะพระองค์ต้องการสื่อว่าศาสนจักรคาทอลิกไม่ได้จำกัดเพียงแค่ในยุโรป แต่เป็นศาสนจักรสากลที่ทุกประเทศทั่วโลกมีความสำคัญ แม้ว่าบางประเทศจะอยู่ห่างไกลและมีผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกอยู่ไม่มากนัก
  • เป็นที่ทราบกันดีว่าวาติกัน (Holy See) มีเครือข่ายการทูตที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก การเสด็จเยือนของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจึงถือเป็นโอกาสดีสำหรับประเทศไทยในการกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตกับวาติกันให้แน่นแฟ้นมากขึ้น ซึ่งสามารถส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ

ในระหว่างวันที่ 19-23 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจะเดินทางออกจากกรุงโรมเพื่อเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ก่อนที่จะทรงเดินทางต่อไปที่ประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 24-26 พฤศจิกายน 2019

 

หลายคนอาจตั้งคำถามมากมายตั้งแต่คำถามเบื้องต้นอย่าง สมเด็จพระสันตะปาปาคือใคร เสด็จมาไทยแล้วยังไง หรือเหตุการณ์นี้สำคัญแค่ไหน 

 

โดยทั่วไปแล้ว สมเด็จพระสันตะปาปาหรือที่เรียกกันว่าโป๊ปคือผู้นำทางศาสนา หัวหน้าสูงสุดของศาสนจักรโรมันคาทอลิก ซึ่งสำหรับคริสตชนคาทอลิก สมเด็จพระสันตะปาปาคือหัวหน้าครอบครัวที่ดูแลทุกข์สุขของผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกทั่วโลก พร้อมกับเทศน์ให้ข้อคิดตามหลักศาสนา ซึ่งคำว่า ‘สันตะปาปา’ และ ‘โป๊ป’ นั้นต่างหมายถึง ‘พ่อ’ หรือ ‘ปะป๊า’ (หากจะพูดแบบคนอิตาเลียน)

 

ในขณะเดียวกันสมเด็จพระสันตะปาปายังมีหน้าที่รับผิดชอบบริหารงานทั่วไปของศาสนจักรพร้อมกับ Roman Curia (คล้ายๆ กับคณะรัฐบาลที่มีสมเด็จพระสันตะปาปาเป็นหัวหน้าคณะ) และแต่งตั้งคาร์ดินัลเพื่อช่วยงานภายในศาสนจักรและบิชอป 

 

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส

 

ทั้งนี้ทั้งนั้นสมเด็จพระสันตะปาปาไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้นำทางศาสนา แต่ยังเป็นผู้นำประเทศและประมุขของรัฐ ซึ่งในที่นี้คือรัฐวาติกัน รัฐเอกราชที่ตั้งอยู่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี มีขนาดพื้นที่ที่เล็กที่สุดในโลก หรือประมาณ 275 ไร่ 

 

และในฐานะผู้นำรัฐ สมเด็จพระสันตะปาปาได้รับการยอมรับจากประชาคมนานาชาติ มีฐานะเป็นผู้สังเกตการณ์ในสหประชาชาติ นอกจากนี้สมเด็จพระสันตะปาปายังต้อนรับการมาเยือนของผู้นำประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นชาติมหาอำนาจหรือแม้กระทั่งประเทศไทย

 

สมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จเยือนไทยครั้งแรกในรอบ 35 ปีท่ามกลางความ ‘เซอร์ไพรส์’ 

สำหรับการเสด็จเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสในปีนี้ นับว่าเป็นการเสด็จเยือนครั้งแรกในรอบ 35 ปี หลังจากการเสด็จเยือนไทยของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ในปี 1984 

 

อันที่จริงการเสด็จเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเป็นเรื่องที่ค่อนข้าง ‘เซอร์ไพรส์’ โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาในวันที่ 23 มกราคม 2019 ระหว่างที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเดินทางไปประเทศปานามาเพื่อเข้าร่วมงานวันเยาวชนโลก สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้บอกเป็นนัยแก่นักข่าวที่ร่วมเดินทางมาด้วยบนเครื่องบินถึงความปรารถนาส่วนตัวที่จะเสด็จไปประเทศญี่ปุ่น และหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง อเลสซานโดร จิโซต์ตี (Alessandro Gisotti) ผู้อำนวยการชั่วคราวของสำนักงานข่าววาติกัน (Holy See Press Office) จึงออกมาประกาศว่าการเสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่นของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา 

 

ในขณะนั้นไม่มีการเอ่ยถึงประเทศไทยแต่อย่างใด จนกระทั่งในวันที่ 17 กรกฎาคม 2019 สำนักข่าวท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับวาติกัน อิล ซิสโมกราโฟ (Il Sismografo) เปิดเผยว่าสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสน่าจะเสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยระหว่างสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน โดยสมเด็จพระสันตะปาปาได้รับคำเชิญจากศาสนจักรท้องถิ่นและรัฐบาลจากทั้งสองประเทศตั้งแต่ปี 2013 

 

คำเชิญจากฟากรัฐบาลไทยนั้นเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของไทยได้ส่งคำเชิญโดยตรงแก่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสในระหว่างการเข้าพบที่รัฐวาติกันเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2013 ทั้งนี้สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสแทบจะตอบรับคำเชิญทันที แต่ทว่ายังไม่มีการกำหนดวันอย่างชัดเจน โดยประมาณ 8 เดือนหลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันซึ่งทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องสิ้นสภาพ และโครงการต่างๆ ของรัฐบาลมีอันต้องหยุดชะงัก

 

หลายคนเชื่อว่าข่าวการเสด็จเยือนไทยเป็นเพียงข่าวลือ เนื่องจากไม่มีการรายงานความคืบหน้าใดๆ ในขณะที่สื่อหลายสำนักของประเทศญี่ปุ่นได้เปิดเผยว่าสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจะเสด็จเยือนฮิโรชิม่าและนางาซากิ และความเป็นไปได้ที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจะเสด็จเยือนญี่ปุ่นดูเหมือนจะมีน้ำหนักมากกว่า เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสอยากไปเป็นมิชชันนารีสมัยที่ยังเป็นเพียงแค่นักบวชหนุ่มในคณะเยสุอิต แต่ด้วยเหตุผลทางสุขภาพจึงถูกปฏิเสธ 

 

นอกจากนี้การเสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่นยังสื่อให้โลกเห็นว่าสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสต่อต้านการผลิต พัฒนา ครอบครอง และใช้อาวุธนิวเคลียร์ แต่สนับสนุนให้มีการปลดอาวุธนิวเคลียร์ในทุกประเทศที่มีอาวุธทำลายล้างนี้ ซึ่งพระองค์เคยตรัสไว้ว่า “อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาวุธนิวเคลียร์ มีแต่จะสร้างให้เกิดความรู้สึกที่หวาดระแวง และไม่สามารถเป็นรากฐานสำหรับการอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติระหว่างสมาชิกของมวลมนุษยชาติ

 

ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายนเป็นช่วงที่แต่งตั้งคาร์ดินัลในโรม และนั่นก็ทำให้น้ำหนักของเรื่องการที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจะเสด็จเยือนไทยมีความเป็นไปได้น้อยมาก 

 

อย่างไรก็ดี สื่อใกล้ชิดวาติกันรวมทั้งผู้ที่อยู่ในแวดวงมองว่าเหตุผลที่วาติกันยังไม่ออกประกาศใดๆ เกี่ยวกับการเสด็จเยือนไทยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเป็นเพราะว่าช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทยเพิ่งมีการเลือกตั้ง และทางวาติกันต้องการรอให้ประเทศไทยมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จเรียบร้อยก่อน

 

เหตุผลหลักที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสตัดสินใจเลือกเสด็จเยือนประเทศไทยเป็นเพราะพระองค์ต้องการสื่อว่าศาสนจักรคาทอลิกไม่ได้จำกัดเพียงแค่ในยุโรป แต่เป็นศาสนจักรสากลที่ทุกประเทศทั่วโลกมีความสำคัญ แม้ว่าบางประเทศจะอยู่ห่างไกลและมีผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกอยู่ไม่มากนัก และเมื่อย้อนกลับไปดูการเสด็จเยือนต่างประเทศของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสนับตั้งแต่ได้รับเลือกเป็นสมเด็จพระสันตะปาปา จะเห็นได้ว่าสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์นี้ให้ความสำคัญกับประเทศที่ชาวคริสตชนเป็นส่วนน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคตะวันออก 

 

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส

 

ภารกิจเยี่ยมเยือนคริสตชนไทยในวาระครบรอบ 350 ปีของศาสนจักรคาทอลิก

การเสด็จเยือนครั้งนี้ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสในประเทศไทยจัดว่าเป็นการเดินทางเยี่ยมเยือนคริสตชนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย หากพูดภาษาเทคนิคแล้วนี่คือ Pastoral Visit ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างคริสตชนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคริสตชนที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่ห่างไกล มีภาษา วัฒนธรรม หรือประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง 

 

อย่างที่ จอห์น คริสซอสตอม (John Chrysostom) เคยกล่าวในยุคเริ่มแรกของศาสนาคริสต์ว่า “ให้คนที่อยู่ในโรมรู้ว่าผู้คนที่อาศัยอยู่ในอินเดียเป็นสมาชิก (ในครอบครัว) ของเขา” (John Chrysostome, In Io., Hom. 65, 1 : PG 59, 361) 

 

ดังนั้นจุดประสงค์แรกของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณของเหล่าบรรดาคริสตชนคือการร่วมเฉลิมฉลอง 350 ปีของการก่อตั้งศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา (สมัยสมเด็จพระนารายณ์)

 

อย่างไรก็ดี เนื่องจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสมีสถานะเป็นผู้นำรัฐ/ประมุขแห่งรัฐ การพูดคุยพบปะกับผู้นำประเทศจึงมีลักษณะที่เป็นการเมืองร่วมอยู่ด้วย และเมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเสด็จเยือนประเทศที่ศาสนาคริสต์ไม่ได้เป็นรากฐานทางวัฒนธรรม เรื่องเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาและเสรีภาพในการปฏิบัติกิจต่างๆ ตามความเชื่อส่วนตัวจะกลายเป็นประเด็นสำคัญของการเข้าพบทันที แต่ทว่าสถานการณ์ในไทยถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวหรือเวียดนาม

 

ในขณะที่ประเทศไทยอาจจะมีข้อติดขัดทางเทคนิคบ้าง เช่น สิทธิการถือครองที่ดินในนามศาสนจักรคาทอลิกที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ไม่อาจตอบโจทย์จำนวนคริสตชนไทยในปัจจุบันที่มีมากขึ้น แต่ทว่าอุปสรรคดังกล่าวไม่ได้ขัดขวางการเลือกนับถือหรือการปฏิบัติตามความเชื่อทางจิตวิญญาณแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยพร้อมด้วยศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยกำลังพูดคุยหารือเพื่อบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับพระราชบัญญัติการถือครองที่ดินของศาสนจักรคาทอลิกฉบับใหม่ เพื่อให้การครอบครองที่ดินของศาสนจักรมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน 

 

และถึงแม้ว่าสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจะมีฐานะเป็นบิชอปแห่งโรม เป็นผู้นำทางศาสนาของชาวคริสตชนนิกายโรมันคาทอลิก แต่การเสด็จเยือนของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสไม่ได้เกี่ยวข้องกับคริสตชนในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยและคนไทยทุกคนในฐานะ ‘เจ้าบ้าน’ และเจ้าของประเทศ

 

ทั้งนี้ก็เป็นเพราะสมเด็จพระสันตะปาปาเป็นบุคคลที่โลกตะวันตกใช้อ้างอิงสำหรับเรื่องทางจริยธรรมและจรรยาบรรณ พร้อมกับเป็นบุคคลที่มีความเป็นกลางและมีความน่าเชื่อถือสูง เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชาติตะวันตก ที่ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาค่อนข้างมีอิทธิพลต่อทัศนคติของประชาชน นอกจากนี้ตำแหน่งสมเด็จพระสันตะปาปาถือว่าเป็นตัวแทนแห่งสันติภาพและความยุติธรรม ซึ่งสำหรับคนไทยและประเทศไทยแล้ว สิ่งที่สมเด็จพระสันตะปาปากล่าวในระหว่างการเสด็จเยือนประเทศไทยในครั้งนี้จะสะท้อนถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยในประชาคมโลก

 

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าวาติกัน (Holy See) มีเครือข่ายการทูตที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก (วาติกันมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับ 183 รัฐทั่วโลก) การเสด็จเยือนของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสถือเป็นโอกาสดีสำหรับประเทศไทยในการกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตกับวาติกันให้แน่นแฟ้นมากขึ้น ซึ่งสามารถส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ แม้ว่าวาติกันจะเป็นเพียงแค่ผู้สังเกตการณ์ใน UN ก็ตาม

 

นอกจากนี้สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสยังมีบทบาททางการทูตที่สำคัญ ซึ่งช่วยให้สหรัฐฯ และคิวบากลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์กันอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ทั้งสองประเทศได้ตัดขาดความสัมพันธ์มานานกว่า 50 ปี โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้นำคิวบาในขณะนั้น ซึ่งได้แก่ บารัก โอบามา และราอูล คาสโตร ต่างออกมากล่าวขอบคุณสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสอย่างเปิดเผย

 

จับตาถ้อยแถลงระหว่างเสด็จเยือนประเทศไทย

ทั้งนี้สิ่งที่น่าจับตามองในระหว่างการเยือนในของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสคงหนีไม่พ้น ‘ถ้อยคำของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส’ ที่จะถ่ายทอดออกมาสู่สาธารณชน ไม่ว่าจะเป็นคริสตชนที่อยู่ในประเทศไทย ประชาชนชาวไทย หรือประชาคมโลก

 

โดยประเด็นหลักๆ ที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสน่าจะกล่าวถึงสามารถสรุปเป็นหัวข้อดังนี้

 

1. ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสไม่เห็นด้วยกับระบบเศรษฐกิจที่คำนึงเพียงแค่ระบบเศรษฐกิจที่เน้นความสำเร็จทางการเงินของคนกลุ่มเล็กๆ ในเอกสาร Evangelii Gaudium (EG) สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสมองว่า “ในปัจจุบันทุกอย่างถูกจัดอยู่ในเกมการแข่งขัน เกมที่มีกฎว่าใครแกร่งที่สุดชนะ เกมที่ผู้ที่แข็งแรงจะกำจัดผู้ที่อ่อนแอที่สุด” (EG 53) โดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ปฏิเสธระบบทุนนิยมสุดโต่งและประกาศอย่างชัดเจนว่า “ไม่เอาเศรษฐกิจแห่งการกีดกันและความเหลื่อมล้ำทางสังคม” (ES 35)

 

2. คอร์รัปชัน การต่อต้านคอร์รัปชันเป็นหนึ่งในเรื่องที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสให้ความสำคัญ โดยในระหว่างการเยือนประเทศมาดากัสการ์ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ตำหนิถึงเรื่องคอร์รัปชันในหมู่ชนชั้นนำของประเทศ นอกจากนี้ในคำนำหนังสือของ คาร์ดินัลปีเตอร์ เทิร์กสัน (Peter Turkson) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นสมณมนตรี (เทียบได้กับรัฐมนตรี แต่อยู่ใน Roman Curia) ในกระทรวงที่ดูแลเรื่องการส่งเสริมการพัฒนามนุษย์ (Dicastery for the Promotion of Integral Human Development) สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสพูดถึงเรื่องคอร์รัปชันว่าเป็นการใช้ชีวิตที่ไม่มีกฎเกณฑ์ของมนุษย์ที่อยู่ในภาวะเสื่อมถอย

 

3. สิ่งแวดล้อม วิกฤตสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่สร้างความกังวลให้กับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ความห่วงใยที่มีต่อธรรมชาติเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ว่าทำไมสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจึงเลือกชื่อนักบุญฟรานซิสหลังจากได้รับเลือกเป็นสมเด็จพระสันตะปาปา ทั้งนี้สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเขียนเอกสารที่มีชื่อว่า Laudato si’ (LS) ซึ่งเป็นเอกสารที่ว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม และเหตุผลที่ทุกคนต้องช่วยกันปกป้อง ‘บ้านของพวกเราทุกคน’ (LS 13) โดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเห็นว่าวิกฤตสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคน ทุกประเทศ ทุกความเชื่อทางจิตวิญญาณ ซึ่งจำเป็นต้องร่วมมือช่วยกันอย่างเร่งด่วน 

 

4. ความร่วมมือระหว่างศาสนา ความสมานฉันท์สามัคคีระหว่างศาสนาคือสิ่งที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเชื่อว่าเป็นหนทางที่จะแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ความรุนแรงในนามศาสนา ซึ่ง “การรับรู้ถึงความแตกต่างไม่ได้เป็นสิ่งที่ดีเท่านั้น แต่มันคือสิ่งที่จำเป็น” ยิ่งไปกว่านั้น การพูดคุยแลกเปลี่ยนถือว่าเป็น “การค้นหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน […] หาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน”

 

5. เยาวชน-คนรุ่นใหม่ ระหว่างการประชุมสมัชชาที่กรุงโรมในปี 2018 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเชื่อว่าคนรุ่นใหม่เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและศาสนจักรให้ก้าวไปข้างหน้า หากไม่ฟังเสียงคนรุ่นใหม่ นั่นหมายความว่าเป็นการ “ปิดกั้นต่อสิ่งใหม่ๆ และไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้อีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนรุ่นใหม่ที่กำลังจะตีตัวออกห่างมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นอกจากนี้สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสยังเห็นว่า “คนรุ่นใหม่รู้จักที่จะวิพากษ์วิจารณ์ […] สามารถวิเคราะห์อนาคต” “แต่ทว่าเหล่าบรรดาผู้ใหญ่นั้นโหดร้าย และมองข้ามพลังของเยาวชนนี้”

 

สุดท้ายนี้ เป็นที่แน่นอนว่าการเสด็จเยือน 3 วันของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสนั้นค่อนข้างสั้นและจำกัดอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งส่งผลให้สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสไม่อาจเห็นภาพที่แท้จริงของประเทศไทย 

 

ถึงกระนั้นสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสน่าจะรู้จักประเทศไทยพอสมควรจากการได้รับรายงานและข้อควรปฏิบัติของสมณทูตวาติกัน (Apostolic Nunciature) รวมทั้งศาสนจักรท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจะรับรู้ถึงสภาพความรู้สึกของผู้คนที่ต้องเผชิญกับปัญหาปากท้อง ความเหลื่อมล้ำ คอร์รัปชัน และความไม่สงบทางการเมือง เนื่องจากบริบทดังกล่าวคล้ายคลึงกับสภาพสังคมของประเทศอาร์เจนตินา ประเทศบ้านเกิดของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประเทศที่ทำให้สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้รับฉายาว่าเป็น ‘Pope of the Poor’

 

Dear Papa Francesco : Romans 15:1-2 “So, we may not meet each other here…”

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising