THE STANDARD POP ขออุ่นเครื่องก่อนงานประกาศรางวัลออสการ์ 2020 ด้วยการสรุปความคิดเห็นจากงาน POPcorn Talk ตอน And the oscar goes to… ที่ THE STANDARD POP ร่วมมือกับ SF Cinema ชวนผู้คนในแวดวงภาพยนตร์มาแบ่งทีมวิเคราะห์และพูดคุยถึง 1917, Parasite และ The Irishman ภาพยนตร์ 3 เรื่องที่หลายคนเอาใจเชียร์มากที่สุดในปีนี้
ประกอบไปด้วย อ.ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์ภาพยนตร์, เอิร์ธ ออสการ์, แชมป์ (ทะกิด) และเจอร์รี่ เอชที จาก JUSTดูIT., ณัฐนันท์ เฉลิมพนัส Content Creator ภาพยนตร์จาก THE STANDARD POP, เต๋อ-รัฐนันท์ จรรยาจิรวงศ์ และโดม-สิทธิศิริ มงคลศิริ ผู้กำกับ แสงกระสือ (Inhuman Kiss)
ก่อนที่ทุกคนจะได้ร่วมลุ้นว่าจะมีผลงานใดบ้างที่คว้า ‘ตุ๊กตาทองคำ’ ไปครอง และสามารถติดตามการอัปเดตสถานการณ์และการประกาศรางวัลได้ที่เพจ THE STANDARD POP พร้อมกันในเช้าวันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์นี้
“หนังเรื่องนี้พูดสิ่งที่ใกล้ตัวผมมากที่สุด พูดถึงการร่วงโรยของวัย พูดถึงความตาย ในบรรดาหนังเข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมทั้งหมด ผมว่าเรื่องนี้ทะเยอทะยานมากในแง่การพยายามเล่าเรื่องราวโดยที่ยุคสมัยเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง เพราะพูดตั้งแต่สมัยจอห์น เอฟ. เคนเนดี (ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี 1961-1963) ถึงสงครามโคโซโว (1998)
“แล้วพูดผ่านตัวละครต่างๆ ที่มีทั้งดราม่า มีทั้งการแสวงหา การชำระล้างความผิดบาปต่างๆ ผมว่าความซับซ้อนมันสูงมาก ใครเป็นแฟนมาร์ติน สกอร์เซซี ก็จะรู้ว่าในเชิง Cinematic มันคมคายมาก เป็นหนังแก๊งสเตอร์ที่มันดิบ เถื่อน ถึงเลือดถึงเนื้อ แล้วมันก็สะท้อนถึงด้านลบของมนุษย์ มันสะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์เป็นอย่างนั้น
“ประโยคหนึ่งที่ดีมากคือเราดูหนังเรื่องนี้แล้วเราจะแก่ไปพร้อมๆ กับตัวละคร เราจะตกผลึกไปพร้อมๆ ตัวละคร แล้วยิ่งถ้าได้ดูในโรงภาพยนตร์ เราอาจจะออกจากโรงพร้อมกับความรู้สึกที่แตกต่างออกไป
“The Irishman มันจะสอดคล้องกับบทความที่สกอร์เซซีเคยเขียนว่า ภาพยนตร์มันคือการเปิดเผยธาตุแท้ของความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ธีมพาร์ก และนี่คือหนังที่จะพาเราไปเจอด้านต่างๆ ของความเป็นมนุษย์ ไม่เหมือนกับที่เราดูหนังมาร์เวลทั้งหลาย
“เพราะฉะนั้นขอโทษนะครับ ถ้าในโรงหนังเราได้ดูแต่หนังมาร์เวลตลอด 52 สัปดาห์ เราก็จะต้องการแต่หนังมาร์เวล แต่พอมีหนังแบบนี้เข้ามา มันทำให้เราเห็นความแตกต่าง ทำให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น เข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น เข้าใจประวัติศาสตร์มากขึ้น หนังมันพาเราไปมากกว่าการเป็นธีมพาร์ก ผมรู้สึกว่าสำหรับใครที่ไม่ได้ดูก็อาจจะใช้โอกาสนี้ในการทดลองดู มันไม่ใช่หนังดูง่าย แต่ว่ามันก็ท้าทาย”
“เราชอบ The Irishman มากที่สุด เป็นหนังที่ให้ 10 เต็ม 10 แต่ไม่น่าจะได้ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และการเข้าชิง 10 รางวัล ผมว่าอาจจะนกทั้งหมดเลย
“แต่ที่ชอบมากๆ เพราะโชคดีได้ดูบนจอใหญ่ในโรงภาพยนตร์จริงๆ เป็นหนังที่เราไม่น่าจะอินกับเนื้อหา เพราะเป็นโลกของผู้ชายสูงวัย เรื่องมาเฟียในอเมริกา แต่ด้วยบทที่ยอดเยี่ยม การกำกับระดับปรมาจารย์ของมาร์ติน สกอร์เซซี มันตรึงให้เราอยู่กับหนังได้ตลอด
“2 ชั่วโมงแรกของหนังเรารู้สึกว่ามันยาวนานจริงๆ ไม่แปลกที่หลายคนรู้สึกว่าหนังไม่เป็นมิตร เพราะยาวมาก แล้วเรื่องราวมันก็จะไปเรื่อยๆ เล่าเรื่องชีวิตตัวละคร มีการเปลี่ยนผ่านเรื่องราว ประวัติศาสตร์ การเมือง ขั้วอำนาจ ที่ตรึงเราได้ตลอด
“แต่ชั่วโมงสุดท้ายของ The Irishman ดูแล้วเหมือนการชำระล้างจิตวิญญาณ ความรู้สึกตอนเข้าโรงกับออกจากโรงมันต่างกันอย่างสิ้นเชิง เราเข้าใจชีวิต ตกผลึกในชีวิต เป็น 1 ชั่วโมงที่พูดถึงความเป็นมนุษย์ได้อย่างเต็มอิ่ม โดยเฉพาะเรื่องเกิดแก่เจ็บตายของมนุษย์ ซึ่งมันเป็นสัจธรรม แล้วก็ทำได้อย่างทรงพลัง”
“หนังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งไม่ได้ถูกสร้างขึ้นบ่อยๆ ที่ถูกจดจำมากๆ ก็จะมี Wings หนังที่ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเรื่องแรกในปี 1929 ทุกครั้งที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ มันจะมีประวัติศาสตร์บางอย่างเกิดขึ้น
“ย้อนไปที่เรื่อง Wings เขาใช้เครื่องบินจริงในการถ่ายทำ ซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน และที่เกิดขึ้นใน 1917 คือเราไม่เคยเห็นหนังสงครามลองเทกที่ยาวนาน ยิ่งใหญ่ แล้วก็ตราตรึงอย่างนี้มาก่อน
“ผู้กำกับอย่างแซม เมนเดส เขาเลือกทำในสิ่งที่คนอื่นจะไม่ทำในหนังแบบนี้ มันท้าทาย มันใช้เวลาและงบประมาณสูง”
“ถ้าพูดถึง 1917 เรื่องแรกที่เด่นมาเลยก็คือเทคนิคการถ่ายทำแบบวันช็อต ซึ่งไม่ได้แปลว่าทั้งเรื่องถ่ายเทกเดียวนะครับ ไม่สามารถลัดเลาะอะไรได้ขนาดนั้น แต่มันทำให้หนังดูเป็นแบบนั้นได้ด้วยการตัดต่อและการถ่ายภาพที่เหนือชั้นมาก
“ผู้กำกับภาพของ 1917 คือโรเจอร์ ดีกินส์ ซึ่งอย่างที่รู้กัน คุณพ่อดีกินส์ของเราก็เข้าชิงมาเยอะมาก นกไปเยอะ แล้วเพิ่งมาได้รางวัลผู้กำกับภาพยอดเยี่ยมเรื่อง Blade Runner 2049 เมื่อปี 2018 พอได้รางวัลแล้วเขาก็ไม่หยุดเท่านั้น เขาขอเพิ่มดีกรีเข้าไปอีก เขาขอถ่ายแสงจริง ถ่ายลองเทก 7 นาที
“บอกเลยว่าผมเป็นคนบ้าหนังเทคนิคมาก พอได้ดู 1917 ครั้งแรก ผมน้ำตาไหลจริงๆ น้ำตาไหลในความงดงามของภาพ ในอารมณ์ของมัน ขณะที่มีความงดงามด้านภาพ แต่อารมณ์ที่แฝงมาอย่างฉากตอนมืดแล้วลงไปใต้ดิน โอ้โห ทั้งเรื่องไม่คิดว่าจะมาเจอตรงนี้ เหมือนดีดนิ้วปุ๊บแล้วเปลี่ยนอารมณ์ได้เลย มันเวิร์กมากๆ”
ตอนประกาศผลรางวัล Golden Globes 2020 ว่า 1917 ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประเภทดราม่า แล้วรู้ว่าแซม เมนเดส เป็นผู้กำกับ ซึ่งแซมเป็นผู้กำกับที่ผมชอบมากๆ มาตั้งแต่ American Beauty กับ Jarhead ซึ่งเป็นหนังสงครามที่ชอบที่สุด ทั้งที่ปกติไม่ชอบหนังสงครามเลย เมนเดสทำหนังสงครามที่นำเสนอความว่างเปล่า ความสูญเสีย ความไร้ประโยชน์ได้ตรงจริตเรามาก
แล้วยิ่งต้องหาข้อมูลเพื่อเขียนอธิบายว่า 1917 น่าสนใจอย่างไร ได้เห็นเบื้องหลังเทคนิควันช็อตที่บ้าคลั่งมากๆ แต่ตอนได้ดูครั้งแรกผมเข้าโรงช้าไป 10 นาที เป็นตอนที่เขากำลังเริ่มทำภารกิจ แอบกลัวว่าจะดูไม่รู้เรื่อง กลายเป็นว่าด้วยเทคนิค การเคลื่อนกล้อง โปรดักชันดีไซน์ ซาวด์ ทุกอย่างทำให้หนังดึงเราเข้าไปอยู่ร่วมกับตัวละครได้ทันทีโดยไม่ต้องมีแบ็กกราวด์มาก่อน”
“จะบอกว่าผมเป็นแฟนหนังของบงจุนโฮก็ไม่ได้ เพราะดูไม่ครบทุกเรื่อง ได้ดูแค่ Mother กับ The Host อย่าง OKJA หรือ Snowpiercer ก็ไม่ได้ชอบด้วยซ้ำ แต่ใน Parasite มันมีความกลมกล่อมอะไรบางอย่างที่ต้องกับรสนิยมของเรา
“ทั้งชีวิตของคนที่แตกต่างกัน ต่างชนชั้นกัน แล้วที่ทำให้อินมากขึ้นคือผมกำลังทำบ้านด้วยครับ สิ่งหนึ่งที่ชอบคือบ้านเขาสวยมาก เสียดายอย่างเดียว เพราะสถาปนิกบอกว่าทำได้ทุกอย่างนะครับ แต่ถ้ามีห้องลับจะไม่รับทำ เพราะผิดกฎหมายในบ้านเรา (หัวเราะ)
“ปกติผมแทบไม่เคยสงสัยเรื่องการแสดงของนักแสดงเกาหลีอยู่แล้ว น้อยมากนะครับที่ดูแล้วรู้สึกว่าคนนี้หลุดจากสิ่งที่เขาเป็น หรือหลุดจากคาแรกเตอร์ของเขา การเป็นนักแสดงที่เราชอบ จริงๆ มันไม่ต้องแสดงด้วยซ้ำ มันแค่เป็นคนคนนั้น แล้วคุณเป็นได้จนรู้สึกว่าเราไม่มีคำถาม เราไม่มีข้อสงสัยแล้วว่าคุณคือคนคนนั้นจริงหรือเปล่า
“อย่างซงคังโฮใน Parasite เล่นเป็นหัวหน้าครอบครัวคิมได้โคตรจนเลย ไม่ใช่แค่ดูจนด้วย แต่ท่าทาง ความสกปรกตอนกินข้าว แคะขี้มูก นั่งคุย เราเหมือนได้กลิ่นตัวเขาจริงๆ รู้เลยว่าเป็นคนที่มาจากอีกชนชั้นหนึ่งจริงๆ”
“ผมว่าหนังปีนี้ดี ใครได้รางวัลก็ไม่โกรธ ส่วนตัวแค่เชียร์ Parasite ง่ายๆ เลยเพราะเป็นหนังเอเชีย แล้วก็เป็นทีมงานจากเกาหลี 100% หนังสนุกมากนะครับ มีกลไก ตัวละครครบเครื่องมาก
“แล้วก็เป็นหนังที่ทำให้ได้เห็นการเดินทางของบงจุนโฮมาตลอด เหมือนที่เขาพัฒนาตัวเองมาตลอด แล้วเขาก็ทำ Parasite ออกมาได้ด้วยทีมงานที่เป็นคนเกาหลีจริงๆ ยากมากเลยนะครับที่คุณจะชนะรางวัลปาล์มทองคำได้ แล้วก็ประสบความสำเร็จด้านรายได้ ถ้าเขาได้ เราจะยินดีไปด้วย
“ถ้าถามว่าเราจะไปถึงจุดนั้นได้ไหมก็น่าจะยากนะครับ เพราะคนทำหนังก็จะเป็นคนดูหนังด้วย ผมเห็นว่ามันยังห่างไกลในหลายๆ อย่าง ทั้งเชิงตัวเราที่คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ผมว่าหนังที่ดีไม่ใช่แค่ผู้กำกับต้องเก่งหรือนักแสดงเก่งอย่างเดียว Parasite ที่เขาไปทั้งระบบเพราะดีตั้งแต่นักแสดงนำ เอ็กซ์ตร้า อุปกรณ์ประกอบฉาก ยันคนจัดไฟ”
“ความสำเร็จของอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น เขาพัฒนามา 20 ปีแล้ว แต่ก่อนเขาด้อยกว่าเรานะครับ เขาต้องบินมาดูงานที่บ้านเรา
“แต่ 20 ปีที่เขาเริ่มพัฒนา และช่วงที่อีชางดงมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (2003) ซึ่งพอได้คนที่เป็นศิลปิน เป็นคนทำหนัง (ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Burning) มาดูแลระบบ ดูแลเรื่องนโยบาย เขาก็สามารถช่วยเกื้อหนุน ผลักดัน ส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีทั้งเพลงและภาพยนตร์จนไปถึงระดับโลก
“มันคือกรณีศึกษาที่เราควรมองและทำให้ได้ เพราะผมคิดว่าศิลปินไทย ผู้กำกับไทย นักแสดงไทย ครีเอทีฟไทย ทีมงานของไทยเก่งหมดเลย เราแค่ต้องการวิสัยทัศน์ เราต้องการแรงสนับสนุนอย่างจริงจัง และไม่ใช่การสนับสนุนแบบผักชีโรยหน้า”