×

1917: Long Take สนามรบและบททดสอบครั้งใหญ่ของนักแสดง

17.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • แม้ว่าจะมีการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกเข้ามาช่วยในการตัดเป็นช่วงๆ แต่ด้วยลักษณะการถ่ายภาพยนตร์เรื่องนี้ เท่าที่พบข้อมูลมีอยู่ประมาณ 34 คัต ส่วนตัวรู้สึกว่า 34 คัต ยังถือว่าน้อยมากๆ สำหรับการทำภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง นั่นหมายความว่า นักแสดงจะต้องมี ‘ทักษะ’ การแสดงละครเวทีที่มีประสิทธิภาพในการแสดงสูง พวกเขาต้องเก็บรายละเอียดทั้งตัวละครและการทำงานกับกล้อง โดยถ่ายทอดอารมณ์ตั้งแต่ต้นซีนไปจนถึงท้ายซีนได้อย่างลื่นไหล ต่อเนื่อง และยาวนานที่สุด 
  • ผู้กำกับ แซม เมนเดส เลือกวิธีการในการนำเสนอภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาได้อย่างชาญฉลาด การเลือกใช้วิธีการแบบนี้ ทั้งคนดูและนักแสดงต่างก็อินเข้าไปในสถานการณ์ได้อย่างลึกซึ้งแบบถอนตัวไม่ขึ้น เพราะเหมือนจับคนดูอย่างเราเข้าไปร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 แบบมีอารมณ์ร่วมประหนึ่งไปถือปืนออกรบอยู่ข้างๆ ตัวละคร อยากจะก้มกราบงามๆ กับทุกอย่างที่ปรากฏในจอ เพราะมันไร้ที่ติมากสำหรับเรา

ตอนดูเทรลเลอร์ 1917 จากแอปพลิเคชันยูทูบบนมือถือนั้นไม่ได้ปลุกเร้าความอยากดูได้มากเท่ากับการได้ยินกระแสชื่นชมอันลือลั่น ถึงฝีมือการถ่ายทำแบบ Long Take ของ โรเจอร์ ดีกินส์ เจ้าของรางวัล Best Cinematography จากเวทีออสการ์ครั้งล่าสุดที่เพิ่งผ่านพ้นไป เราก็เลยไม่อยากจะตกเทรนด์ 

 

 

แต่แล้วเมื่อเข้าไปอยู่ในโรงภาพยนตร์ เรารู้สึกได้เลยว่า แพลตฟอร์มในการรับชมอย่าง ‘โรงภาพยนตร์’ เป็นตัวแปรสำคัญมากๆ ที่ช่วยขยายความเป็นภาพยนตร์ให้ขับเคลื่อนในความรู้สึกของผู้ชม โดยเฉพาะกับภาพยนตร์สงครามที่ใช้เทคนิคขั้นสูงทางด้านงานภาพอย่าง 1917 

 

ด้วยอาชีพแอ็กติ้งโค้ชที่ต้องทำงานร่วมกับนักแสดง ต้องเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่นักแสดงต้องเผชิญในกองถ่าย ทำให้การดูภาพยนตร์เรื่องนี้ เราได้เห็นมิติซึ่งมากกว่าการที่ตัวละครต้องเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ในระหว่างการถ่ายทำควบคู่ไปด้วย

 

 

หลังจากดูจบ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับนักแสดงมืออาชีพคนหนึ่งของเมืองไทย เขาแสดงความเห็นว่า ถ้านักแสดงที่มารับบทนำในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นคนมีชื่อเสียง คงเป็นไปได้ยากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะถูกถ่ายทำแบบ Long Take เพราะลักษณะการถ่ายทำแบบนี้ค่อนข้างโหดมากๆ กับนักแสดง ฉะนั้น นักแสดงส่วนใหญ่เลยแอบหวาดหวั่นและขยาด เพราะผิดอะไรนิดเดียวมันคือการเริ่มต้นใหม่ มีช่วงเสียแรงฟรีเยอะแน่ๆ

 

สิ่งที่อยากจะพูดเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้หลักๆ เลยคือ เรื่องของ Director’s Choice ในการใช้วิธีการถ่ายทำแบบ Long Take ที่นักแสดงต้องมีความสามารถในการแสดงประหนึ่งเล่นละครเวทีความยาว 3 ชั่วโมง 

 

และแม้ว่าจะมีการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกเข้ามาช่วยในการตัดเป็นช่วงๆ แต่ว่าด้วยลักษณะการถ่ายภาพยนตร์เรื่องนี้ เท่าที่พบข้อมูลมีอยู่ประมาณ 34 คัต ส่วนตัวรู้สึกว่า 34 คัต ยังถือว่าน้อยมากๆ สำหรับการทำภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง นั่นหมายความว่า นักแสดงจะต้องมี ‘ทักษะ’ การแสดงละครเวทีที่มีประสิทธิภาพในการแสดงสูง พวกเขาต้องเก็บรายละเอียดทั้งตัวละครและการทำงานกับกล้อง โดยถ่ายทอดอารมณ์ตั้งแต่ต้นซีนไปจนถึงท้ายซีนได้อย่างลื่นไหล ต่อเนื่อง และยาวนานที่สุด 

 

นักแสดงจะต้องมีชีวิตอยู่เป็นตัวละครตลอดเวลาตั้งแต่ต้นจนจบ ถ้าพลาดเพียงนิดเดียวมันคือการเริ่มต้นใหม่ของทุกฝ่ายในการถ่ายทำ นักแสดงคงต้องอยู่ภายใต้ความกดดันตลอดเวลา ประหนึ่งความรู้สึกของตัวละครที่อยู่ในสงคราม และชีวิตของเขานั้นแขวนอยู่บนเส้นด้ายบางๆ ถือว่าผู้กำกับ แซม เมนเดส เลือกวิธีการในการนำเสนอภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาได้อย่างชาญฉลาด การเลือกใช้วิธีการแบบนี้ ทั้งคนดูและนักแสดงต่างก็อินเข้าไปในสถานการณ์ได้อย่างลึกซึ้งแบบถอนตัวไม่ขึ้น เพราะเหมือนจับคนดูอย่างเราเข้าไปร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 แบบมีอารมณ์ร่วมประหนึ่งไปถือปืนออกรบอยู่ข้างๆ ตัวละคร อยากจะก้มกราบงามๆ กับทุกอย่างที่ปรากฏในจอภาพยนตร์ เพราะมันไร้ที่ติมากสำหรับเรา

 

 

คราวนี้นอกเหนือจากความรู้สึกชื่นชมยกย่องบูชาผู้กำกับคนนี้ในฐานะคนทำภาพยนตร์แล้ว อีกก้อนความรู้สึกในฐานะแอ็กติ้งโค้ช กลับวิ่งไปในทิศทางตรงข้าม เพราะรู้สึกว่าการถ่ายทำด้วยวิธีนี้มันมีความโหดความใจร้ายกับนักแสดงมากๆ เพราะเหมือนเอานักแสดงเข้าไปอยู่ในสงครามโลกครั้งที่ 1 จริงๆ พร็อพเหมือนจริงมาก คนตาย วัวตาย ม้าตาย คือเหมือนมากๆ ทั้งทางภาพ เสียง และวิธีการทำงานที่สุดจะกดดัน พอนักแสดงจะต้องทำอะไรแบบนี้อยู่เป็นเวลานานๆ เขาจะเชื่อเลยนะว่ามันเกิดขึ้นจริง เหมือนเป็นกลอย่างหนึ่งสำหรับนักแสดง แต่ว่าอีกมุมหนึ่ง สำหรับนักแสดงเอง เหมือนได้รับบาดแผลในชีวิตจริงๆ ของตัวละครไปด้วยจากวิธีการถ่ายทำแบบนี้ สงครามไม่ดีต่อใครหรอก เต็มไปด้วยบาดแผลและความเจ็บปวด การถ่ายภาพยนตร์สงครามเองก็เช่นกัน…  

 

ซีนที่รู้สึกว่าอยากพูดถึงในภาพยนตร์เรื่องนี้ อาจไม่ใช่การแสดงที่ดีที่สุด แต่มันเป็นการแสดงที่สร้างความรู้สึกมากที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้ 

 

ขอเกริ่นก่อนว่า 1917 เป็นภาพยนตร์ที่อัดแน่นไปด้วยความรู้สึกอยู่ตลอดทุกช่วงเวลา ลักษณะของภาพยนตร์สงครามมันทำให้คนดูรู้สึกเกร็งกระดูกสันหลังอยู่แล้วโดยธรรมชาติ แต่ซีนที่ทำให้เรารู้สึกว่าเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกคือ ซีนที่ วิลล์ สกอฟิลด์ (จอร์จ แม็กเคย์) ไปเจอผู้หญิงฝรั่งเศสกับเด็กทารก มันเป็นซีนเล็กๆ ที่ดูเหมือนจะไม่มีความสำคัญอะไรมากต่อเนื้อเรื่อง เป็นฉากที่ทั้งสองคุยกันด้วยภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสกันแบบงูๆ ปลาๆ ถามถึงสถานที่ที่เขาจะต้องเดินทางไป แต่มันกลับเป็นฉากที่น่าจดจำมากๆ เพราะงดงามทางความรู้สึก อ่อนโยน และโรแมนติก ทั้งที่ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มันเป็นฉากที่มีผู้หญิงและเด็กฉากเดียวในภาพยนตร์ ที่ทำให้ภาพยนตร์มีจุดพักทางความรู้สึก จากที่หนักหน่วงได้ผ่อนคลาย

      

 

 

ส่วนช็อตที่อยากพูดถึงมากที่สุดคือ ตอนที่วิลล์ไหลไปตามแม่น้ำ แล้วตกหน้าผา ซึ่งต้องลอยขึ้นมาจากน้ำ ด้วยความสูงที่ดูสูงมาก กล้องก็ไปรอจนกว่าเขาจะลอยขึ้นมา 

 

เราเชื่อว่า ซีนนี้คงซ้อมมาหลายครั้งมากๆ มากเสียจนเกิดความมั่นใจว่า อย่างไรเสียคงไม่ออกมาผิดไปจากที่วางแผนไว้ แต่ส่วนตัวเรากลับเห็นว่า นี่ต้องทำถึงขนาดนั้นเลยเหรอ มีความเสี่ยงมากเลยนะ ตอนดูช็อตนี้รู้สึกว่าตัวเองหลุดออกมาจากการดูตัวละครแล้ว เป็นห่วงนักแสดงอย่าง จอร์จ แม็กเคย์ ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง

 

เพราะสำหรับเรามันน่าจะเป็นความรู้สึกเหมือนตอนถ่ายภาพยนตร์ แล้วผู้กำกับบอกให้นักแสดงตบหน้ากันจริงๆ ในฉาก เรารู้สึกไม่สบายใจในการดู เหมือนถูกดึงออกจากโลกแห่งจินตนาการ แต่ก็นะ ลางเนื้อชอบลางยา แต่ละคนก็คิดไม่เหมือนกัน เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็น่าจะอินและสนุก ไม่ได้สะดุดอะไรแบบนี้ แต่ว่าพอเราแทนค่าเป็นความรู้สึกของนักแสดง เรารู้สึกว่าในแง่การถ่ายทำภาพยนตร์ มันมีวิธีการสร้างที่ให้ความรู้สึกเต็มเปี่ยมด้วยวิธีการอื่นๆ อยู่อีกเหมือนกัน  

 

 

การถ่ายทำแบบ Long Take เป็นบททดสอบความสามารถอันท้าทายสำหรับทุกฝ่ายในการผลิตภาพยนตร์ โดยเฉพาะสำหรับนักแสดงที่คิดว่า ประสบการณ์ของตัวละครน่าจะหลอกหลอนเขาไปอีกนาน และน่าจะเป็นประสบการณ์การทำงานที่ติดตัวทุกคนไปตลอดชีวิต แต่ที่แน่ๆ ผลผลิตสุดท้ายมันออกมาอย่างสวยงาม จนเชื่อว่า ทุกฝ่ายคงคิดว่าทุกเม็ดเหงื่อที่เสียไป คุ้มค่าแล้วอย่างแน่นอน เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ออกสู่สายตาผู้ชม

 

 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising