×

แคนดี้-กุลชญา ตันศิริ ความเท่าเทียมทางเพศในยุค 4.0 จะต้องไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้

06.07.2019
  • LOADING...
candy

แคนดี้-กุลชญา ตันศิริ สปีกเกอร์คนที่ 3 ของงาน THE STANDARD POP Talk Our Pride #แตกต่างเหมือนกัน วางภาพลักษณ์มั่นใจ โฉบเฉี่ยว ฟาดทุกแคมเปญจนได้กลายเป็นผู้เข้าแข่งขันทรานส์เจนเดอร์คนแรกของโลก ที่คว้าแชมป์ The Face Thailand ซีซัน 5 ได้สำเสร็จ 

 

แล้วเชิญชวนทุกคนย้อนมองไปเห็นถึงความสำคัญของแนวคิดเรื่องการเปิดกว้าง และเท่าเทียมทางเพศ ที่เชื่อมโยงเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจในยุค 4.0 เข้ากับการพัฒนาไปพร้อมๆ กับการ ‘ยอมรับ’ ความหลากหลายทางเพศ และการยอมรับในทุกสิ่ง 

 

1. แคนดี้เริ่มต้นด้วยการฉายภาพการพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ยุค 1.0 ที่เป็นช่วงเวลาของการพัฒนาด้านการเศรษฐกิจที่มีข้าว และไม้สักเป็นสินค้าหลัก ในวันนั้นผู้คนยังจินตนาการภาพไม่ออกว่าเรื่องความเท่าเทียมทางเพศนั้นสำคัญอย่างไร เพราะมองเห็นเพียงแค่การแบ่งหน้าที่ของเพศชาย และหญิงอย่างชัดเจน ว่าผู้ชายคือช้างเท้าหน้าออกไปทำงาน ส่วนผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ดูแลความเรียบร้อยในบ้าน ต่างฝ่ายต่างซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน 

 

2. เข้าสู่ยุค 2.0 การพัฒนาเศรษฐกิจเน้นที่เรื่องอุตสาหกรรมเบา ที่ให้ความสำคัญไปที่การพัฒนาแรงงานให้มีความรู้ความสามารถ ผู้หญิงเริ่มออกมาทำงานมากขึ้น ตามความต้องการแรงงานที่มากขึ้น และเมื่อคนเริ่มมีความสามารถ ความรู้ ความเข้าใจมากขึ้น นำไปสู่การมีความกล้าที่จะออกมาแสดงจุดยืน และตัวตนของตัวเองมากขึ้นตามไปด้วย คนที่เคยหลบซ่อน ปิดบังตัวของตัวเองเอาไว้ เริ่มกล้าเปิดเผยตัวเองมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งแคนดี้มองว่าคนที่มีความแตกต่างหลากหลายไม่ได้มีจำนวนมากขึ้น เพียงแต่โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เขามีพื้นที่แสดงตัวตนมากขึ้น 

 

4. เข้ายุค 3.0 ช่วงการพัฒนาอุตสาหกรรม ประเทศเริ่มขยายจากการส่งออกข้าวและไม้เหล็ก ไปเป็นสินค้าอุตสาหกรรม ที่มีการสื่อสารกับคู่ค้าต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งนอกจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น ยังนำมาซึ่งแนวคิด และทัศนคติที่ทำให้เรากลับไปมองประเด็นว่าต่างประเทศให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศอย่างไร ทำให้แนวคิดเปิดกว้างเรื่องเพศในประเทศไทยเติบโตขึ้นตามไปด้วย  

 

เส้นแบ่งทางเพศที่เคยชัดเจนเริ่มเลือนราง เราเริ่มมองเห็นผู้หญิงตัดผมสั้นมากขึ้น อย่างคุณแม่ของแคนดี้ที่ตัดผมสั้นตามนักร้องสาวมั่นอย่างนิโคล เทริโอ และทาทา ยัง, การเจาะหูเริ่มแพร่หลายไปสู่เพศชาย, หนุ่มๆ เริ่มหาเครื่องประดับมาใส่ตัวมากขึ้น, มีเสื้อผ้ายูนิเซ็กซ์ที่ใส่ได้ทุกเพศ, ชุดสูทที่เคยจำกัดเฉพาะผู้ชาย ก็มีผู้หญิงเริ่มมาใส่ได้อย่างเหมาะสม และมีภาพลักษณ์ที่ดี  

 

4. ล่าสุดในยุค 4.0 ที่มีนโยบายสำคัญคือการนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่ได้รับความนิยม มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนอย่างรวดเร็ว 

 

จากเดิมที่การแสดงความคิดเห็นทางเพศของใครสักคนถูกมองเห็นในวงจำกัด โซเชียลมีเดีย เปิดโอกาสให้ทุกคนมีโอกาสแสดงตัวตนและจุดยืนที่หลากหลาย โดยมีผู้คนจำนวนมากมองเห็น แสดงความคิดเห็น กดไลก์ แชร์ ติดตาม ฯลฯ ไปจนถึงสร้างการแลกเปลี่ยนถกเถียงในประเด็นที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน 

 

5. แน่นอนว่ามองในมุมนี้ เรื่องการเปิดรับทางเพศในสังคมกำลังเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง แต่แคนนี้อยากชวนให้ทุกคนมองลึกลงไปกว่านั้น ถ้าเราจะหยุดอยู่เพียงเท่านี้ไม่ได้ 

 

แคนดี้ชวนให้ทุกคนลองนึกภาพในฝัน ที่ถ้าเราเริ่มต้นตั้งแต่สถาบันครอบครัวที่เริ่มต้นปลูกฝังทัศนคติให้เด็กๆ เข้าใจว่าโลกนี้ประกอบสร้างขึ้นด้วยความหลากหลาย สิ่งที่เรามองเห็นนั้นเป็นเพียงแค่ความแตกต่าง ไม่ใช่เรื่องที่ควรถูกตีกรอบว่า ‘ผิด’ แต่อย่างใด 

 

เมื่อมีพื้นฐานจากครอบครัว ก็เริ่มขยายต่อไปในสังคมที่กว้างขึ้น ด้วยการใส่ประเด็นความรู้ ความเข้าใจ การยอมรับทุกความคิดเห็นที่แตกต่างลงไปในหลักสูตรขั้นพื้นฐานในระบบการศึกษา 

 

ปูพื้นฐานให้เด็กๆ เติบโตไปอยู่ในสังคมการทำงาน ด้วยแนวคิดที่วัดคุณค่าของคนด้วยความสามารถ ไม่ได้ตัดสินเพียงแค่เขาคนนั้นมีความคิดเห็นที่แตกต่างจนกลายเป็นห่วงโซ่ฝังรากลึก ที่ทุกคนมีส่วนร่วมปลูกฝังทัศนคติเปิดกว้างยอมรับความแตกต่างที่หลากหลาย ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นให้กับเยาวชนรุ่นต่อไป 

 

และท่ีสำคัญไม่ใช่การยอมรับความแตกต่างเฉพาะเรื่องเพศ แต่รวมไปถึงทุกสิ่งในชีวิตที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ สีผิว รูปร่างหน้าตา ความคิด และทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในฐานะ ‘มนุษย์’ คนหนึ่งบนโลกใบนี้ 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising