POP MART บริษัทค้าปลีกของเล่น ‘กล่องสุ่ม’ (Blind Box) ชั้นนำของจีน ประเมินว่ารายได้ในไตรมาส 3 จะเติบโตมากถึง 120-125% สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจจีนที่กำลังชะลอตัว ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนมองว่าได้รับแรงหนุนจาก Gen Z ที่นิยมซื้อสินค้าที่ตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ แม้ว่าสินค้าเหล่านั้นอาจดู ‘ไร้ประโยชน์’ และมีราคาแพงก็ตาม
รายงานของ South China Morning Post ระบุว่า Gen Z ในแดนมังกรซึ่งมีจำนวนประมาณ 280 ล้านคน กำลังขับเคลื่อนเทรนด์ ‘Emotional Consumption’ หรือ ‘การบริโภคเพื่อตอบสนองอารมณ์’ โดยพวกเขายินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าที่สร้างความสุข ความบันเทิง หรือสะท้อนตัวตนของพวกเขา เช่น ของเล่น, กล่องสุม, เครื่องประดับ และของตกแต่ง
“พวกเขามีความอ่อนไหวทางอารมณ์มาก เนื่องจากต้องใช้ชีวิตและทำงานด้วยจังหวะที่เร่งรีบและอยู่ภายใต้ความกดดันสูง” Mo Daiqing นักวิเคราะห์จาก China e-Commerce Research Centre กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- กล่องสุ่ม POP MART เล่นกับจิตวิทยา! นักสะสมไทย ‘เสพติด’ ความตื่นเต้น จน ‘อาร์ตทอย’ ไม่ใช่แค่ของเล่น!
- สายจุ่มเตรียมตัว! POP MART สาขา 2 ที่เทอร์มินอล 21 อโศก พร้อมเปิด 29 พฤศจิกายนนี้
- EXCLUSIVE: พาชม POP MART สาขาแรกของไทยที่ centralwOrld จัดเต็มด้วยอาร์ตทอยสุดคิวต์!
POP MART เป็นที่รู้จักในด้านการขาย ‘โมเดลของเล่นจากนักออกแบบ’ ที่มักจะขายในรูปแบบกล่องสุ่ม ซึ่งสร้างความตื่นเต้นและความอยากรู้อยากเห็นให้ผู้ซื้อ โดยในไตรมาสที่ 3 บริษัทมียอดขายที่แข็งแกร่งทั้งในช่องทางอีคอมเมิร์ซและร้านค้าออฟไลน์ รวมถึงรายได้จากตลาดต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น
กล่องสุ่มขนาดเล็กของ POP MART มีราคาปกติอยู่ที่ประมาณ 69-79 หยวน (ราว 327-373 บาท) ส่วนกล่องสุ่มขนาดใหญ่อาจมีราคาสูงถึงหลายพันหยวน
‘เศรษฐกิจกล่องสุ่ม’ เติบโตจากการขายสินค้าในบรรจุภัณฑ์ทึบแสงที่ปิดบังรูปลักษณ์หรือดีไซน์เฉพาะของสินค้าไว้ สร้างความตื่นเต้นและความอยากรู้อยากเห็นให้ผู้ซื้อ ซึ่งจะเห็นสินค้าจริงก็ต่อเมื่อเปิดกล่องเท่านั้น
นอกจาก POP MART แล้ว Jellycat แบรนด์ตุ๊กตาจากอังกฤษ ก็ประสบความสำเร็จในตลาดจีนเช่นกัน แม้ว่าจะมีราคาสูง แต่ร้านค้าของ Jellycat ยังคงมีลูกค้าแน่นขนัดและต้องจองคิวล่วงหน้า
จากผลสำรวจของ Seashell Finance พบว่า เกือบ 30% ของคนรุ่นใหม่ในจีนยินดีจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าที่ให้ผลทางใจหรือคุณค่าทางอารมณ์
ด้านสมาคมผู้บริโภคจีน (CCA) ชี้ให้เห็นว่า นอกจากการแสวงหาความคุ้มค่าแล้ว การปลดปล่อยทางอารมณ์จะกลายเป็น ‘ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค Gen Z’
อ้างอิง: