×

ทนร้อนทำไม! ชาวอเมริกันกำลังทำเงิน ‘หลักล้าน’ จากสระว่ายน้ำที่ปล่อยทิ้งร้างไว้หลังบ้าน

23.07.2021
  • LOADING...
สระว่ายน้ำ

ถือได้ว่าสหรัฐอเมริกาก้าวเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มตัวนับตั้งแต่เดือนที่แล้ว โดยอุณหภูมิเริ่มระอุขึ้นเรื่อยๆ จนทะลุไปเกิน 45 องศา ส่งผลให้ขณะนี้หลายรัฐทางภาคตะวันตกต้องเผชิญกับสภาวะ Heat Wave หรือคลื่นความร้อนที่รุนแรง สังเวยผู้คนไปแล้วกว่าร้อยชีวิต 

 

ทว่าผลของอุณหภูมิที่สูงจัดเช่นนี้ทำให้ผู้คนหันไปคลายร้อนด้วยการกระโดดลงสระว่ายน้ำส่วนตัวเพื่อคงความปลอดภัย เห็นทีคราวนี้จะเป็นโอกาสทองของธุรกิจ ‘ให้เช่าสระว่ายน้ำหลังบ้าน’ โดยเจ้าบ้านที่ผันสระว่ายทิ้งร้างมาเปลี่ยนเป็นเงิน ปล่อยให้เช่าบนแพลตฟอร์มจองที่พักกันอย่างคึกคัก 

 

อย่างในกรณีของ จิม บัตตัน หลังลูกสาวย้ายออกไปได้ 2 ปี ก็ได้รื้อฟื้นสระว่ายน้ำอันรกร้างหลังบ้านที่สร้างไว้เมื่อ 8 ปีก่อน ด้วยมูลค่า 110,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.61 ล้านบาท ลงโพสต์ให้คนมาเช่าเป็นครั้งคราวเมื่อฤดูร้อนปีก่อน

 

ปรากฏว่าภายใน 2 ชั่วโมงแรกที่โพสต์ ก็มีการกดจองเข้ามาถึง 3 ครั้ง จนปัจจุบันจิมต้อนรับแขกมาแล้วกว่า 2,700 คน และคาดว่าภายในฤดูร้อนปีนี้จะทำเงินได้ถึง 111,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.64 ล้านบาท 

 

“ฉันคิดว่า ว้าว นี่มันบ้าไปแล้ว” บัตตันกล่าว “มันรู้สึกดีนะที่เราไม่ต้องเสีย 110,000 ดอลลาร์สหรัฐไปโดยเปล่าประโยชน์”

 

จิมนับเป็นหนึ่งในเจ้าของสระว่ายน้ำจำนวน 13,000 คน ใน 125 แห่งทั่วสหรัฐฯ รวมถึงเมืองใหญ่อย่างลอสแอนเจลิสและออสติน ที่นำสระว่ายน้ำที่ไม่ได้ใช้งานมาโพสต์ผ่าน Swimply แพลตฟอร์มให้เช่าสระว่ายน้ำที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ ขนาดที่ว่าสื่อหลายสำนักขนานนามให้เป็น ‘Airbnb สำหรับสระว่ายน้ำหลังบ้าน’ เลยทีเดียว

 

Swimply ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2020 บรรดาเจ้าของสระว่ายน้ำบนแพลตฟอร์มมียอดการจองเข้ามาแล้วประมาณ 122,000 ครั้งได้ โดยการเติบโตของ Swimply สวนทางกับธุรกิจอื่นๆ เพราะในขณะที่หลายธุรกิจทยอยฟื้นตัวจากช่วงสาหัสของการแพร่ระบาดโควิด แต่ Swimply กลับมาได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงที่สระว่ายน้ำสาธารณะปิดให้บริการ

 

“เราเห็นครอบครัวและเพื่อนฝูงหลายคนหันมาใช้บริการ Swimply อีกครั้ง”  Bunim Laskin ผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งกล่าว 

 

Asher Weinberger ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้อํานวยการฝ่ายปฏิบัติการ Swimply เผยว่า โดยเฉลี่ยเจ้าของสระว่ายน้ำจะทำเงินได้ประมาณ 5,000-10,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.6-3.2 แสนบาทต่อเดือน โดยจะคิดค่าบริการอยู่ที่ 35-50 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,149-1,642 บาทต่อชั่วโมง ซึ่งบริษัทจะได้ส่วนแบ่งจากเจ้าของสระ 15% และจากแขกอีก 10%

 

อย่าไรก็ดี เงินที่เจ้าของสระได้มานั้นส่วนหนึ่งต้องนำมาต่อทุนเป็นค่าซ่อมบำรุงสระที่มีราคาสูงขึ้นกว่าเมื่อก่อน อันมาจากช่วงล็อกดาวน์ที่ภาคธุรกิจชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตเคมีภัณฑ์สำหรับสระว่ายน้ำ ทำให้เกิดความล่าช้าและมีต้นทุนสูงขึ้น 

 

Weinberger กล่าวว่า ปัจจุบันเขาต้องใช้เงินถึง 85 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2,792 บาท ไปกับค่าเติมน้ำยาเคมีและดูแลสระในทุกสัปดาห์ จากเดิมที่เคยจ่ายเพียงแค่ 45 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,478 บาทเท่านั้นเอง 

 

“มันคือการตามล่าหาคลอรีนที่ถูกที่สุด” Shanon Zoellers หนึ่งในเจ้าของสระที่ให้เช่าผ่าน Swimply ที่เมืองโอคลาโฮมากล่าว พร้อมเสริมว่า เขาสามารถทำเงินได้ ประมาณ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.2 แสนบาท ทั้งที่เพิ่งเริ่มปล่อยให้เช่าเมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง โดยแขกที่มาจะเป็นครอบครัวในท้องถิ่นเสียเป็นส่วนใหญ่ ครั้งละ 5-7 คน  

 

ทั้งนี้เจ้าของสระสามารถกำหนดราคาเช่าเองได้ เพียงแค่อัปโหลดรูปถ่ายสระของตนและระบุสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ลงไป เช่น เตาย่าง เตาบาร์บีคิว หรือระบบเครื่องเสียง ก็สามารถปล่อยเช่าได้แล้ว 

 

ทว่าการจะปล่อยเช่านั้นไม่ใช่แค่นอนรอรับเงินอยู่ในบ้านอย่างเดียว “มันงานเยอะใช้ได้เลย” จิมกล่าว โดยปกติแล้วเขาต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อมาตักใบไม้ในสระเกือบทุกวัน ขณะที่ภรรยาเขามีหน้าที่ทำความสะอาดห้องอาบน้ำและจัดระเบียบของเล่นในสระให้เรียบร้อยก่อนแขกรายใหม่จะมาเยือน

 

อย่างไรก็ตาม Swimply ไม่ใช่เจ้าเดียวในวงการนี้ ยังมี Peerspace แพลตฟอร์มรวมสถานที่จัดงานหรือถ่ายรายการเข้ามาแบ่งสัดส่วนตลาดอีกด้วย โดย Peerspace มีสถานที่ที่มีสระว่ายน้ำให้เช่ากว่าพันแห่ง และคิดอัตราค่าบริการเป็นรายชั่วโมง เรียกได้ว่าเป็นคู่แข่งที่ตีตื้นกันมาติดๆ

 

“เราเห็นความต้องการใช้พื้นที่กลางแจ้งมีมากขึ้น โดยเฉพาะสระว่ายน้ำ ในช่วงนี้ที่อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ” Matt Bendett ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้อํานวยการฝ่ายปฏิบัติการ Peerspace กล่าว 

 

ขณะที่บริษัทให้เช่าที่พักระยะสั้นชื่อดังอย่าง Airbnb และ Expedia ต่างก็มีบริการให้เช่าบ้านพักพร้อมสระว่ายน้ำเหมือนกัน โดยคิดค่าบริการเป็นรายวัน แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็น Airbnb หรือธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้อื่นๆ อย่าง Swimply ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยและความรับผิดชอบมาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะหากแขกจมน้ำหรือเป็นพวกอันธพาลก็อาจสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของโฮสต์ได้ 

 

ซึ่งกว่า 80% ของเจ้าของสระที่ให้เช่าผ่าน Swimply เลือกที่จะอยู่ในบ้านไปพร้อมๆกับแขกที่ใช้งานสระอยู่ เพื่อบรรเทาความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยบริษัทก็มีประกันภัยคุ้มครองเจ้าของสระกรณีได้รับความเสียหายสูงสุด 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 32 ล้านบาท ควบคู่ไปกับนโยบายป้องกันความเสียหายในทรัพย์สินที่จะเกิดขึ้นด้วย

 

“มีความเสี่ยงมากเกินจะรับได้กับแขกที่ไม่มีผู้ดูแล” จิมเล่าว่างานที่เยาวชนมามั่วสุมดื่มสุราและเปิดเสียงดังกระหึ่มเปรียบเสมือน ‘เรื่องเขย่าขวัญ’ เลยก็ว่าได้ 

 

ดังนั้นหากต้องรับแขกจำนวนมาก เจ้าของสระต้องเข้มงวดเรื่องกฎระเบียบและสื่อสารกับแขกให้ชัดเจน เช่น ที่จอดรถหรือความดังของเสียงเพลง เพื่อไม่เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านละแวกนั้นด้วย 

 

ภาพ: Sean M. Haffey / Getty Images 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising