วันนี้ (10 กรกฎาคม) สมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรม ฝ่ายการเมือง, พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), พ.ต.ต. วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ วิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมาย ในฐานะโฆษกสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินคดีและการติดตามทรัพย์สินในคดีทุจริตหุ้น STARK คดีพิเศษที่ 57/2566
สำหรับกรณีดังกล่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นทางคดีและส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษไปยังพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 และต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องบุคคลที่เกี่ยวข้องรวม จำนวน 11 ราย ได้แก่
- ชนินทร์ (สงวนนามสกุล) อดีตประธานกรรมการบริษัท
- วนรัชต์ (สงวนนามสกุล) อดีตกรรมการบริษัท
- ศรัทธา (สงวนนามสกุล) อดีตกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงิน
- กิตติศักดิ์ (สงวนนามสกุล) อดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด
- ยสบวร (สงวนนามสกุล) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลและกรรมการบริษัทย่อย
- นาตยา (สงวนนามสกุล) อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชี
- บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
- บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด
- บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด
- บริษัท ไทยเคเบิ้ล อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด
- บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
โดยภายหลังจากที่มีการจับกุมชนินทร์ ผู้ต้องหาคนสำคัญ ทำให้ปัจจุบันพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลอาญาครบถ้วนแล้ว ซึ่งผู้ต้องหาทุกรายอยู่ในการควบคุมตัวในเรือนจำเพื่อรอการพิจารณาคดีในชั้นศาล โดยกำหนดวันนัดพิจารณาคดีนัดแรกในวันที่ 14 มกราคม 2568 จนถึงนัดสุดท้ายในเดือนธันวาคม 2568
ในส่วนของความเสียหายในคดีอาญาคดีนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 14,778 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้จำนวน 9,198 ล้านบาท และหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 5,580 ล้านบาท
ที่ผ่านมากรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงาน ปปง. ได้ยึดและอายัดทรัพย์สินรวมจำนวนประมาณ 3 พันกว่าล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา และศาลอาญาก็มีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทที่เกี่ยวข้องไว้แล้วตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อีกส่วนหนึ่ง
ทั้งนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษอยู่ระหว่างการดำเนินคดีในความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 กรณีที่มีการโอนหรือรับโอนทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดมูลฐานฉ้อโกงประชาชน โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบและพิจารณาดำเนินคดีกับบุคคลที่โอนและรับโอนโดยมิได้มีมูลหนี้ตามกฎหมาย โดยเฉพาะการรับโอนเงินจากอดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงินคือ ศรัทธา (สงวนนามสกุล) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อยึดอายัดทรัพย์สินเพิ่มเติมร่วมกับสำนักงาน ปปง. เป็นคดีพิเศษที่ 32/2567 รวมทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษยังมีการพิจารณาดำเนินคดีกับกรรมการบางรายเพิ่มเติมตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. มีการกล่าวหา
สำหรับประเด็นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีคำสั่งแต่งตั้ง พิชัย นิลทองคำ เป็นประธานคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรม กรณีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) หรือ STARK นั้น เนื่องจากพิชัยแจ้งความประสงค์ขอถอนตัวจากการเป็นประธานคณะทำงานดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจึงได้มีคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 171/2567 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ยกเลิกคำสั่งเดิม และมีคำสั่งแต่งตั้ง พงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานคณะทำงานแทน และมีการเพิ่มเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นายกสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เข้ามาเป็นคณะทำงานเพื่อทำหน้าที่ศึกษาแผนประทุษกรรมกรณีดังกล่าวต่อไป