รมว.คลัง ปัดตอบคลังจะเสนอชื่อ ‘พงษ์ภาณุ’ เป็น ‘ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’ คนใหม่แทน ‘กิตติรัตน์’ หรือไม่ พร้อมโยนเป็นอำนาจของปลัดกระทรวงคลัง ชี้ต้องคุยกันอีกทีก่อน
วันนี้ (4 พฤศจิกายน) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่า การกระทรวงการคลัง ปัดตอบว่า คลังจะเสนอชื่อ ‘ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’ คนใหม่แทน กิตติรัตน์ ณ ระนอง หรือไม่ โดยระบุว่า ต้องมีการหารือกันอีกทีก่อน แต่อะไรที่ทำให้ประเทศเดินหน้าได้และทุกคนพอใจจะดีที่สุด
สำหรับกระแสข่าวที่ระบุว่า กระทรวงการคลังอาจเสนอชื่อ พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง เข้าไปเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) หรือ ‘บอร์ดแบงก์ชาติ’ แทนกิตติรัตน์ โดยพิชัยกล่าวว่า ตนยังไม่ทราบ พร้อมระบุว่า การเสนอชื่อใหม่เป็นอำนาจของปลัดกระทรวงการคลัง
พิชัยยืนยันอีกว่า แม้การสรรหาประธานกรรมการ ธปท. มีความล่าช้าก็จะไม่กระทบกับการทำงาน เนื่องจากคณะกรรมการ ธปท. มีอำนาจหน้าที่เท่ากฎหมายกำหนด โดยการตัดสินใจเรื่องสำคัญอยู่ที่คณะกรรมการชุดย่อยต่างๆ
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากช่วงเช้าที่ผ่านมา วิเรขา สันตะพันธุ์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประธานกรรมการคัดเลือกหารือกับกรรมการคัดเลือก และเห็นร่วมกันว่าต้องใช้เวลาในการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านครบถ้วน เพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงให้เลื่อนกำหนดการประชุมที่จะมีขึ้นในวันนี้ออกไปเป็นวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ท่ามกลางกระแสต่อต้านกิตติรัตน์ โดยเฉพาะจากนักวิชาการ อดีตผู้บริหาร และพนักงาน ธปท.
รมว.คลัง มองว่า ไม่ว่าทรัมป์หรือแฮร์ริสชนะก็มีผลต่อไทย
พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ไม่ว่าใครได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไทยก็ได้รับผลกระทบทั้งนั้น แต่มีความหนักแรงไม่เท่ากัน เนื่องจากผู้ชนะย่อมยึดหลักผลประโยชน์ของประเทศตนเองมากขึ้นเมื่อเทียบกับสมัยก่อน
อย่างไรก็ดี พิชัยกลับมองภายใต้ผลกระทบเหล่านี้ หากพิจารณาให้ดีในอีกแง่หนึ่งไทยอาจได้รับผลประโยชน์
“สงครามการค้าในระยะต่อไปจะรุนแรงขึ้น ทำให้มีผู้ประกอบการจำนวนมากย้ายเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น เห็นได้จากยอดคำขอลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก” พิชัยกล่าว พร้อมย้ำว่า ในระยะต่อไปไทยต้องเร่งเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ Local Content ให้มากขึ้น เพื่อฉกฉวยผลประโยชน์จากยอดคำขอลงทุนนี้
บาทไทยต้อง ‘อ่อนค่า’ ให้แข่งกับประเทศส่งออกอื่นได้
พิชัยกล่าวอีกว่า ในระยะสั้นเงินบาทในบางช่วงอาจ ‘แข็งค่า’ หรือ ‘อ่อนค่า’ ไม่สอดคล้องกับภูมิภาค แต่ความผันผวนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเป็นสิ่งที่ทุกประเทศพบเจอ โดยเมื่อดอลลาร์สหรัฐแข็งเงินทุนก็จะไหลกลับเข้าสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม พิชัยเชื่อว่า วันนี้ประเทศไทยมีสภาพคล่องและเงินทุนสำรองที่เพียงพอที่จะดูแลเรื่องเหล่านี้ได้
พิชัยกล่าวอีกว่า เงินบาทไทยไม่ควรอ่อนค่าน้อยกว่าประเทศส่งออกคู่แข่งเพื่อไม่ให้เสียเปรียบ พร้อมกับอยากเห็นการยกระดับความสามารถในการส่งออกของไทยไปพร้อมๆ กันด้วย