×

โปงลาง นฤมิต คีตทิพย์เสถียรสถิต ณ กาฬสินธุ์

10.01.2025
  • LOADING...
pong-lang-festival-kalasin

ตั้งชื่อบทความด้วยภาษาที่เลือกสรรประหนึ่งว่าเครื่องดนตรีชนิดนี้เสกสร้างขึ้นมาจากแดนสรวง กระนั้น​แท้จริงแล้วหาใช่ไม่ โปงลางเกิดจากผืนดิน จากวัวควาย ไร่นา หมากเกราะลอ กระดึงผูกคอวัว และกองฟางนั่นเอง​ 

 

​​เรียงรางเป็นรางเรียง​   เป็นสองร้อยกว่าโปงลาง

ลายเพลงเล่นเพลินพราง​   ณ พิพิธภัณฑ์กาฬสินธุ์

​วิหคเหินข้ามทุ่ง​   ตามราวรุ้งเหนือปถพิน 

ยามแล้งจึงย้ายถิ่น​​   หาอยู่กินในพงไพร

ลมพัดกระพือปีก​   รู้หลบหลีกตามครรไล

โปงลางประเลงใจ​​   ลายนกไซบินข้ามทุ่ง

 

โปงลาง นฤมิต คีตทิพย์เสถียรสถิต ณ กาฬสินธุ์

 

ฉากปิดงาน ‘เทศกาลมหัศจรรย์โปงลางกาฬสินธุ์’ Amazing Ponglang Festival เป็นการแสดงโปงลางด้วยลายเพลงที่ชื่อว่า นกไซบินข้ามทุ่ง (ลายน้อย) 

 

ดร.เกษร แสนศักดิ์ ปราชญ์ชาวบ้านสตรีด้านวัฒนธรรม อธิบายว่า การทำไร่ทำนาของชาวอีสานต้องพึ่งฟ้าพึ่งฝน บางปีฝนแล้งทำให้นกต้องอพยพย้ายถิ่น 

 

ศิลปินแห่งชาติของกาฬสินธุ์ชื่อ เปลื้อง ฉายรัศมี จับลีลาการกระพือปีกของนกไซ (นกหัวขวาน) แล้วนำมาเรียบเรียงเป็นลายเพลง นกไซบินข้ามทุ่ง ที่นำมาใช้ปิดเวทีเมื่อค่ำวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ที่พิพิธภัณฑ์หอศิลป์กาฬสินธุ์

 

วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ผนวกด้วยวงโปงลางจำนวน 232 ราง (เมืองกาฬสินธุ์มีอายุ 232 ปี) โดยมีเด็กนักเรียนชั้นอนุบาลและชั้นประถมศึกษาจาก 55 โรงเรียน เล่นประจำรางเป็น ‘ต้นกล้าโปงลาง’ ที่ร่วมบรรเลงอย่างยิ่งใหญ่อลังการ

 

​เป็นการนำเอาอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะโปงลางที่เลอค่า มาสร้างให้เป็นมูลค่าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน และหมายมุ่งให้โปงลางเป็นสัญลักษณ์ที่จำหลัก เป็นภูมิบ้านภูมิเมืองกาฬสินธุ์ไว้อย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป

 

​นี่เป็นงานสร้างภายใต้โครงการวิจัย เรื่อง การพัฒนาเมืองแห่งทุนวัฒนธรรมที่ยั่งยืนและเครือข่ายย่านวัฒนธรรมชุมชน โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งได้รับทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมี ดร.ธนภณ วัฒนกุล นักวิจัยหลัก เป็นผู้ดำเนินการขับเคลื่อนงานวิจัยในพื้นที่ และ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย เป็นประธานอนุกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อน วิทยสถาน ‘ธัชภูมิ’ เพื่อการพัฒนาพื้นที่

 

​เมื่อ สนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์, ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. และ รศ. ดร.สุพรรณี ฉายะบุตร หัวหน้าโครงการวิจัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ร่วมกันทำพิธีเปิดแล้ว 

 

‘มหัศจรรย์โปงลางกาฬสินธุ์’ โดย ‘เยาวชนต้นกล้า’ โปงลาง จำนวน 232 คน พร้อมนางรำและนักแสดงกว่า 500 คน สลับกันออกมาแสดงหลายชุด เช่น

 

  • การแสดงพื้นบ้านเป่า ‘โหวด’ โดย ครูทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ ศิลปินแห่งชาติประจำปี 2562 ครูทรงศักดิ์เป็นต้นคิดเอาโหวดผสมวงกับแคน ซึง และโปงลาง ครูเล่าว่าโหวดเป็นของเล่นของเด็กเลี้ยงควาย ใช้เป่าในช่วงปลายฤดูฝนก่อนฤดูเกี่ยวข้าว
  • การแสดงพื้นบ้านพิณ โดย ครูคำเม้า พิณพระอินทร์
  • ลาย ภูไทกาฬสินธุ์ ขับร้องโดย ดร.พรสวรรค์ พรดอนก่อ
  • ลาย กาฬสินธุ์แผ่นดินทอง ขับร้องโดย ครูจิ๋ม-ศิริวรรณ จันทร์สว่าง ซึ่งเป็นทั้งผู้แต่งเนื้อและเป็นนักร้อง

 

ครูจิ๋มเป็นคนนำเพลง เพื่อคุณ ของสุนทราภรณ์ ผสมผสานกับเซิ้งอีสาน เข้าประกวดในรายการ The Golden Song เวทีเพลงเพราะ ของช่อง one31 เมื่อปี 2563 จนได้เข้ารอบสุดท้าย สร้างชื่อเสียงไปทั่วประเทศ ค่ำวันนั้นครูจิ๋มนำชุด เพื่อคุณ มาแสดงสดอีกครั้งหนึ่งอย่างสนุกสนานสำราญใจยิ่งนัก

 

  • ลาย Jingle Bells ขับร้องโดยเด็กนักเรียนชั้นประถม โรงเรียนเทศบาล 1 กาฬสินธุ์พิทยาสิทธิ์ นี่ก็น่ารักด้วยลีลาของเด็กเล็ก 

 

การแสดงอันตื่นตาตื่นใจทั้งหมด เมื่อปิดท้ายด้วยลายเพลง นกไซบินข้ามทุ่ง เป็นลายเพลงยอดนิยมที่หาดูได้ใน Google และ YouTube ซึ่งมีลีลาสนุกสนาน เร้าใจ ชวนให้เกิดอารมณ์ร่วมอย่างคึกคัก ทำให้ สนั่น พงษ์อักษร, ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย, รศ. ดร.สุพรรณี ฉายะบุตร, ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา และ จารุวัฒน์ บุญเพิ่ม รวมทั้งผู้ชมที่มาร่วมงาน พากันออกมาฟ้อนรำเข้าจังหวะอย่างเป็นธรรมชาติ

 

โปงลาง นฤมิต คีตทิพย์เสถียรสถิต ณ กาฬสินธุ์

 

​ดนตรีโปงลางมีอานุภาพ มีเสน่ห์ และมีแรงดึงดูดใจ ถึงขั้นที่พอได้ยินโปงลางเล่นก็อยากออกมาเต้นออกมารำทันทีทันใด ทำให้งานค่ำวันนั้นจบลงอย่างตรึงจิตติดใจ

 

​ทำไมโปงลางต้องกาฬสินธุ์

 

​ในขณะที่จังหวัดร้อยเอ็ดเป็นเมืองหลวงของโหวด จังหวัดขอนแก่นเป็นเมืองหลวงของแคน ส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์นั้นเป็นเมืองหลวงของโปงลาง

 

​เพราะโปงลางมีประวัติและพัฒนาการควบคู่กันไปกับจังหวัดกาฬสินธุ์มายาวนาน ที่สำคัญคือมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างแนบแน่น

 

ก่อนที่โน้ตสากล 7 ตัวจะเข้ามามีบทบาทนั้น คนเล่นโปงลางจะคิดลายเพลงหรือทำนองเพลงขึ้นเอง เดิมจะมีเพียง 5 เสียง คือ โด, เร, มี, ซอล, ลา เพียง 5 ตัวนี้ก็สามารถเล่นลายเพลงอีสานและเพลงไทยเดิมได้เกือบทุกเพลง ต่อมาขยายเป็น 7 ตัว และขยายเพิ่มเป็นโน้ต 13 ตัว

 

เสียงกระดึงคอวัวที่กระทบกันเวลาวัวเดินหรือวิ่ง กลายมาเป็นลายเพลง ไล่วัวขึ้นภู

 

เมื่อกาเดินตามก้อนดินขณะไถนา ทำให้เกิดทำนองลายเพลง กาเต้นก้อน

 

​เมื่อสายลมพัดผ่านปลายยอดมะพร้าวพลิ้วไหว จึงกลายมาเป็นลาย ลมพัดพร้าว

 

เมื่อนกไซ (นกหัวขวาน) บินข้ามทุ่ง จึงกลายมาเป็นทำนองลายเพลง นกไซบินข้ามทุ่ง ที่มีจังหวะรวดเร็วสนุกสนาน

 

เมื่อเห็นแมลงภู่ตอมดอกไม้ จึงเกิดลายเพลง แมงภู่ตอมดอก

 

ทุกลายเพลงสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คน ซึ่งหาอยู่หากินกับท้องไร่ท้องนา ประเภท ‘หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน’

 

​เอกสารมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (2562) บันทึกไว้ว่า เปลื้อง ฉายรัศมี ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน – โปงลาง) ประจำปี 2529 ชาวกาฬสินธุ์โดยกำเนิด สังเกตเห็นหมากเกราะลอที่ใช้เคาะส่งสัญญาณในท้องนา จึงสนใจฝึกฝนและผลิตโปงลางจนชำนาญ และยังได้พัฒนายกโปงลางขึ้นสู่ระดับมาตรฐานสากลทั้งรูปแบบและองค์ประกอบ จัดระบบเสียงให้กลมกลืนไปด้วยกันกับเพลงพื้นบ้าน รวมถึงการให้กำเนิดการแสดงพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เรียกว่าวงโปงลาง

 

แทนที่จะเล่นอยู่เพียงลำพังด้วยเครื่องโปงลางเพียงตัวเดียว ครูเปลื้องนำเข้าประกอบวงร่วมกับแคน พิณ โหวด กลองยาว และกลองรำมะนา ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

 

โปงลาง นฤมิต คีตทิพย์เสถียรสถิต ณ กาฬสินธุ์

 

เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า สนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ จัดให้ศาลากลางจังหวัดหลังเก่าดั้งเดิมเป็นพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ และยังพิจารณาให้ศาลากลางจังหวัด 7 ชั้น ด้านหลังสร้างเป็นศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมอีสาน มีการเตรียมงบประมาณบูรณะไว้แล้ว โดยจะขอให้ จารุวัฒน์ บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ

 

เป็นบุญตาบุญใจ

 

เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์เพลง ส้มตำ ไว้ตั้งแต่ปี 2513 เมื่อครั้งพระองค์มีพระชนมายุ 15 พรรษา บรรเลงครั้งแรกโดยวงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ และทรงขับร้องด้วยพระองค์เอง ทรงถ่ายทอดสูตรส้มตำเป็นเนื้อหาและทำนองเพลงอันเสนาะใจยิ่ง

 

น้ำพระทัยเอื้ออาทรต่อวิถีชีวิตอีสานยังปรากฏจารึกไว้อีกครั้งในงานแสดงศิลปวัฒนธรรม 4 ภาค ที่จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นเจ้าภาพ โดยมีวิทยาลัยนาฏศิลปทั่วประเทศเข้าร่วม

 

โปงลาง นฤมิต คีตทิพย์เสถียรสถิต ณ กาฬสินธุ์

 

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2533 นับเป็นบุญตาและบุญใจของนักศึกษา ประชาชน เยาวชน และนักเรียนชาวกาฬสินธุ์ ที่ได้เห็นพระองค์ท่านทรงโปงลางร่วมกับวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์

 

เล่ากันว่า ก่อนถึงวันงานมีการส่งโน้ตลายเพลงโปงลาง 3 เพลงเข้าไปในวัง พอถึงวันแสดง ก่อนเวลาแสดงพระองค์ท่านทรงซ้อมลายเพลงกับนักแสดงของวิทยาลัยนาฏศิลป โดยมี ครูเปลื้อง ฉายรัศมี ศิลปินแห่งชาติ ถวายคำแนะนำ โดยใช้เวลาไม่มากนัก

 

3 ลายเพลงที่ทรงโปงลางในวันนั้นคือ

 

  1. ลาย โปงลาง เป็นลายดั้งเดิม
  2. ลาย ลมพัดพร้าว ให้อารมณ์ประหนึ่งสายลมพัดใบมะพร้าวพลิ้วไหว
  3. ลาย เต้ยโขง ให้ความสนุกสนานเบิกบานใจ

 

ผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า พระองค์ท่านทรงเล่นโปงลางกลมกลืนกับวงโปงลางของวิทยาลัยนาฏศิลปอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีโน้ตตัวไหนผิดเพี้ยน คงเป็นเพราะพระองค์ท่านทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านดนตรี เช่น ระนาดและซอ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

 

การทรงโปงลางครั้งนั้นเป็นหมุดหมายสำคัญ และเป็นก้าวกระโดดใหญ่ในการยกระดับโปงลางกาฬสินธุ์ให้เป็นกระแสขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ

 

โปงลาง นฤมิต คีตทิพย์เสถียรสถิต ณ กาฬสินธุ์

 

รศ. ดร.สุพรรณี ฉายะบุตร หัวหน้าโครงการวิจัย มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าว่า “เมื่อ 5 ปีที่แล้ว โครงการเปิดพื้นที่โดยเปิดตลาดวัฒนธรรมขึ้นที่บริเวณเมืองเก่าของกาฬสินธุ์ ได้รับความสนใจดีมาก มีร้านค้า อาหาร ขนม เสื้อผ้า พืชผัก และผลไม้ เอาสินค้ามาวางขายกันคึกคักเลย”

 

จารุวัฒน์ บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ เสริมว่า “กลางปี 2563 เจอโรคระบาดโควิด-19 ทำให้หยุดชะงักไป ที่ย่านเมืองเก่าเราต้องปิดถนน จึงย้ายไปทำตลาดริมน้ำที่ริมน้ำปาว วางขายสินค้าพื้นบ้านเป็นหลักเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ไปเต็มๆ ตอนหลังขยับมาจัดที่บริเวณหน้าศาลากลางเก่าคือที่เป็นหอศิลป์ในเวลานี้ เราจัดตลาดวัฒนธรรมทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลาหลังเลิกงานไปจนถึงราวประมาณ 20.00 น. มีร้านค้ามาเปิดขายประจำร้อยกว่าร้าน การที่พ่อค้าแม่ขายมาประจำแสดงว่าเขามีรายได้พอสมควร”

 

รศ. ดร.สุพรรณี พูดถึงเทศกาลสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจว่า “อย่างเช่น งานเทศกาลมหัศจรรย์โปงลางครั้งนี้มีร้านค้ามากมาย ที่เป็นเสื้อผ้าภูไทก็ขายได้แม้จะมีราคาสูง หรือเครื่องโปงลางนี้ต้องใช้ไม้มะหาดหรือไม้หมากเหลื่อม ซึ่งเป็นไม้พื้นบ้าน มีเนื้อไม้แข็งและทนทาน เวลาเคาะจะเสียงดังกังวานดีมาก ก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นรายได้โดยตรงของชาวบ้าน นี่คือมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เกิดจากการจัดกิจกรรมของโครงการ”

 

ในวันนี้โปงลางได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติประจำปี 2562 ไปแล้ว ถูกนำไปเผยแพร่ในหลายสิบประเทศ โลกดนตรียอมรับในคุณค่าทางคีตศิลป์ของเครื่องดนตรีชนิดนี้แล้ว

 

​เห็นได้ว่าเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่เกิดขึ้นและกล่อมเกลาจากผืนดิน ท้องทุ่ง และไร่นา สามารถผงาดขึ้นมาเป็นดนตรีที่ประกอบวงเข้ากับดนตรีตามมาตรฐานดนตรีสากล โดยรักษารากเหง้าดั้งเดิมไว้อย่างมั่นคง ผสานความทันสมัยและประยุกต์เข้ากับวิถีโลกยุคปัจจุบัน

 

‘โปงลาง’ นฤมิต ขณะนี้จึงเสถียรสถิตเป็นภูมิพลังทางวัฒนธรรม (Soft Power) ปักหลักประจำการ เป็นศักดิ์ศรีแห่งเมืองกาฬสินธุ์ไปแล้วอย่างน่าภาคภูมิ

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X