ความศิวิไลซ์ของมนุษย์มักต้องแลกมาด้วยต้นทุนทางธรรมชาติอันประเมินค่าไม่ได้ จากอดีตกาลจนถึงปัจจุบัน เราพบว่ามนุษย์ยังคงทำผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่เรียนรู้บทเรียนจากผลเสียของการทำลายธรรมชาติ
ท่ามกลางปัญหาหมอกพิษที่กำลังรุมเร้าหลายภูมิภาคทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ หลายประเทศเพิ่งตระหนักกับปัญหามลพิษอย่างจริงจัง ขณะที่หลายประเทศเพิ่งเริ่มตระหนักและกดดันภาครัฐให้งัดมาตรการต่างๆ เพื่อทวงคืนอากาศบริสุทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรก ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น
อาจถือได้ว่านี่เป็นสัญญาณที่ดีที่ทั่วโลกพร้อมใจกันยกประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงการแก้ปัญหาโลกร้อนและมลพิษเป็นวาระสำคัญของประเทศ ซึ่งทำให้โลกนี้ยังไม่หมดหวังเสียทีเดียวที่จะมีอากาศสะอาดให้คนรุ่นหลังได้สูดเข้าไปอย่างเต็มปอด
ไม่ไกลจากประเทศไทย จีนซึ่งเป็นชาติที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลกสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก และครองแชมป์แหล่งต้นตอของมลพิษทางอากาศมานานหลายปี เวลานี้กำลังก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกในด้านการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้จีนยังรับบทหัวเรือใหญ่ในการผลักดันมาตรการแก้ปัญหาโลกร้อนบนเวทีโลก ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดในอดีตสำหรับประเทศที่ทำลายธรรมชาติจนบอบช้ำ ถึงแม้ว่ากว่าที่จีนจะเริ่มตระหนักและแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง พวกเขาต้องแลกมาด้วยคุณภาพชีวิตของประชากรและต้นทุนสิ่งแวดล้อมที่มากมายมหาศาล
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าจีนมีผู้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากปัญหามลพิษในอากาศมากกว่า 1 ล้านคนต่อปี ขณะที่นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ได้วัดดัชนีความสุขโดยใช้อัลกอริทึมวิเคราะห์อารมณ์ของผู้ใช้เว่ยป๋อ (Weibo) แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของจีนที่คล้ายทวิตเตอร์) ใน 144 เมือง นับตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งพบว่าเมื่อระดับฝุ่น PM2.5 (ฝุ่นขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน) สูงขึ้น ข้อความที่สะท้อนความสุขของประชาชนจะลดลง ซึ่งถือเป็นสหสัมพันธ์เชิงลบระหว่างระดับมลพิษกับความสุข
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนมีการสอดส่องโซเชียลมีเดียเพื่อศึกษาความต้องการของประชาชนมาตลอด บ่อยครั้งนโยบายระดับชาติที่กำหนดออกมาบังคับใช้ก็มาจากเสียงโอดครวญในโลกออนไลน์ มาตรการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เช่นเดียวกัน และเมื่อรัฐตระหนักถึงปัญหานี้อย่างจริงจังก็เป็นตัวเร่งให้ต้องทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อวิจัยและพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือก จนกระทั่งจีนก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้นำโลกภายในช่วงเวลาไม่กี่ปี ขณะที่ค่ามลพิษก็ลดลงจนน่าพอใจ ซึ่งถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับไทย
เราไปดูกันว่ายุทธศาสตร์การทำสงครามกับมลพิษทางอากาศของจีนเป็นอย่างไร ได้ผลมากน้อยแค่ไหน เราสามารถยึดเป็นแบบอย่างได้เพียงใด
กรณีศึกษา: สงครามต่อสู้มลพิษของจีน
หลังจีนเปิดประเทศและเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมในทุกๆ ด้าน ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลายสวนทางกับความเจริญ เนื่องจากจีนพึ่งพาพลังงานจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นหลัก ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษมหาศาล เช่นเดียวกับการขยายตัวของตัวเมืองก็เป็นอีกตัวเร่งให้ปัญหามลพิษเลวร้ายลง กระทั่งจีนกระโดดขึ้นมาเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก แซงหน้าสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (EU) รวมกัน
เมื่อปัญหามลพิษหนักขึ้นจนทำให้ประชาชนไม่มีความสุข รัฐบาลจึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเร่งด่วน และได้กำหนดยุทธศาสตร์แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นระบบตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งถือเป็นแผนแม่บทในการต่อสู้กับมลพิษที่ชัดเจนที่สุดของจีน
ในแผนปฏิบัติการลดมลพิษทางอากาศที่คลอดเมื่อเดือนกันยายน ปี 2013 ช่วยให้จีนปรับปรุงคุณภาพอากาศได้อย่างมีนัยสำคัญ หลังกำหนดเป้าหมายลดค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงปักกิ่งและเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงลง 33% และ 15% ตามลำดับ ภายในช่วงระหว่างปี 2013-2017
ในช่วงเวลาดังกล่าว กรุงปักกิ่งต้องลดค่าฝุ่น PM2.5 จากระดับ 89.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรให้เหลือ 60 ไมโครกรัม ซึ่งมาตรการฉุกเฉินที่ทางการงัดมาใช้ในตอนนั้นมีตั้งแต่การสั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วกรุงปักกิ่ง และห้ามประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงและพื้นที่รอบข้างเผาถ่านหินเพื่อให้ความอบอุ่น ซึ่งแม้จะมีกระแสต่อต้านจากหลายๆ ฝ่าย แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือปักกิ่งสามารถลดค่าฝุ่น PM2.5 ลงเหลือเฉลี่ย 58 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือลดลงถึง 35% ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้เสียอีก
สำหรับมหานครเทียนจินที่อยู่ติดกับปักกิ่ง รวมถึงมณฑลข้างเคียงอย่างเหอเป่ยต่างก็ดำเนินมาตรการต่อสู้กับมลพิษเช่นกัน โดยพื้นที่แถบนี้จัดอยู่ในกลุ่มเมืองขนาดใหญ่ (Clusters) เช่นเดียวกับกลุ่มเมืองในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงและแยงซีที่ใช้มาตรการต่างๆ จนสามารถลดระดับมลพิษได้ตามเป้าเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้หลายเมืองของประเทศจีนจะทำได้ตามเป้า แต่ก็ยังไม่มีเมืองไหนที่ผ่านเกณฑ์คุณภาพอากาศตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรสำหรับฝุ่นละอองขนาด PM2.5 ขณะที่สิ้นปี 2017 มีเพียง 107 เมืองจากทั้งหมด 338 เมืองใหญ่ที่ทำได้ตามมาตรฐานระดับพอรับได้ขององค์การอนามัยโลกที่ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
หลังแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปีฉบับแรกของรัฐบาลจีนสิ้นสุดลง จีนมีโจทย์ใหญ่ที่ต้องทำต่อคือปรับปรุงคุณภาพอากาศให้ได้มาตรฐานโลก เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้นและยั่งยืน
ดังนั้นแผนปฏิบัติการฉบับใหม่ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ต่อสู้กับมลพิษทางอากาศเฟสที่ 2 จึงกำหนดขอบเขตควบคุมให้กว้างขวางขึ้นทั่วประเทศ และเพิ่มความท้าทายด้วยกรอบเวลาที่สั้นลงเหลือเพียง 3 ปี (2018-2020) โดยรัฐบาลเรียกมันว่า ‘แผนปฏิบัติการทำสงครามเพื่อท้องฟ้าที่สดใส’
แผนปฏิบัติการใหม่นี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทว่าด้วยการปกป้องสิ่งแวดล้อมระยะ 5 ปีฉบับที่ 13 ของจีน ซึ่งมีข้อบังคับสำหรับเมืองขนาดใหญ่หรือเขตพื้นที่ที่อากาศไม่ได้มาตรฐานคุณภาพให้ลดค่าฝุ่น PM2.5 ลงอย่างน้อย 18% เมื่อเทียบกับระดับมลพิษในปี 2015
ข้อมูลจาก หวงเหว่ย หัวหน้าแผนกภูมิอากาศและพลังงานแห่งองค์กรสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ อีสต์เอเชีย ระบุว่าแผนปฏิบัติการใหม่มีการควบคุมการปล่อยมลพิษในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น ส่งผลให้หลายเมืองที่ไม่เคยถูกควบคุมเรื่องมลพิษมาก่อนถูกกดดันให้ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ จากเดิมที่เคยเป็นเป้าหมายเฉพาะสำหรับกลุ่มเมืองปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย รวมถึงเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงและแยงซีเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทางการระบุว่าในบรรดาเมืองขนาดใหญ่จำนวน 338 เมืองที่อยู่ในข่ายถูกควบคุม มีถึง 231 เมืองที่ไม่ได้มาตรฐานคุณภาพอากาศตามเกณฑ์ค่า PM2.5 ซึ่งอนุญาตให้มีปริมาณฝุ่นขนาดเล็กไม่เกิน 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือเทียบเท่ากับมาตรฐานที่พอรับได้ขององค์การอนามัยโลก
มีการตั้งข้อสังเกตว่าหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การควบคุมมลพิษตามแผนปฏิบัติการฉบับ 3 ปีไม่ได้ผลมากนักเป็นเพราะส่วนกลางไม่ได้กำหนดเป้าหมายให้ลดฝุ่นละอองโดยเทียบจากระดับมลพิษในปี 2017 ทว่ากลับใช้ตัวเลขของปี 2015 เป็นเส้นฐานแทน ซึ่งดูไม่สมเหตุสมผลนัก
มีเสียงวิจารณ์ว่าเป้าหมายลดค่าฝุ่น PM2.5 ลง 18% ภายในปี 2020 เป็นเรื่องที่ง่ายดายเกินไปสำหรับบางเมือง ส่งผลให้มาตรการควบคุมการปล่อยมลพิษในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนในหลายเมืองไม่เข้มข้นมากนัก
ก่อนหน้านี้มีกว่า 70 เมืองที่ลดมลพิษในอากาศได้เกินเป้าของแผนปฏิบัติการฉบับแรก ซึ่งเป็นฉบับที่มีการกำหนดเป้าหมายใหม่ แต่สำหรับเฟสที่ 2 กลับไม่จูงใจให้เมืองเหล่านี้ดำเนินมาตรการมากขึ้น เพราะเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนระยะ 3 ปีไม่ท้าทายเพียงพอ
และแม้ว่าทุกเมืองจะทำได้ตามเป้าโดยลดฝุ่น PM2.5 ลง 18% แต่ก็จะมีกว่า 200 เมืองที่ไม่ได้มาตรฐานคุณภาพอากาศที่ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในปี 2020
อย่างไรก็ตาม หวังจินหนาน ผู้อำนวยการสถาบันวางแผนด้านสิ่งแวดล้อมในสังกัดกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของจีน ชี้แจงว่าการกำหนดเป้าหมายโดยแยกจากแผนแม่บทว่าด้วยการปกป้องสิ่งแวดล้อมระยะ 5 ปี (2016-2020) ของรัฐบาลอาจสร้างความสับสนให้กับรัฐบาลท้องถิ่นผู้รับแผนไปปฏิบัติ เพราะตัวเลขต้องสอดคล้องกับเป้าหมายที่ประกาศไปในปี 2016 ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถกำหนดเป้าหมายด้านปริมาณใหม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือเพียงตอกย้ำถึงความจำเป็นในการบรรลุเป้าหมายใหญ่ของแผนแม่บทว่าด้วยการปกป้องสิ่งแวดล้อมฉบับที่ 13 ของจีน
โฟกัสโอโซนระดับพื้นดินมากขึ้น
นอกเหนือจากฝุ่นละอองขนาดเล็กแล้ว โอโซนที่เป็นพิษซึ่งส่งผลเสียต่อระบบหายใจเมื่อสูดเข้าไปในร่างกายก็เป็นสิ่งที่ทางการจีนวิตกกังวลและถูกบรรจุลงในแผนปฏิบัติการฉบับใหม่ของรัฐบาลด้วย โอโซนที่ว่านี้อยู่ในระดับพื้นดิน ซึ่งเกิดจากสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds) หรือสาร VOCs ที่ทำปฏิกิริยากับไนโตรเจนออกไซด์ โดยทางการได้กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยสาร VOCs และไนโตรเจนออกไซด์ลง 10% และ 15% ตามลำดับ โดยใช้ตัวเลขปี 2015 เป็นฐาน
ปัจจุบันมีสัญญาณบ่งชี้ว่าปัญหามลพิษโอโซนในจีนเลวร้ายลงเรื่อยๆ เพราะอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อนจะทำให้โอโซนในระดับพื้นดินเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ ขณะกรีนพีซเคยคำนวณไว้ว่าระดับโอโซนเฉลี่ยทั่วประเทศจีนในเดือนมิถุนายน ปี 2018 สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 11%
โมเดลระบบนิเวศรถยนต์ไฟฟ้า
หนึ่งในกรณีศึกษาน่าสนใจเกี่ยวกับมาตรการต่อสู้กับปัญหามลพิษ นอกเหนือไปจากการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ย้ายที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมออกนอกเขตเมือง และควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมแล้ว รัฐบาลจีนยังโดดเด่นในเรื่องการส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ดีเซลและเบนซินที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
หนึ่งในแรงผลักดันสำคัญก็คือถึงแม้รัฐบาลจีนพบว่าพวกเขาประสบความสำเร็จในการปรับปรุงคุณภาพอากาศในกรุงปักกิ่ง แต่ความสำเร็จส่วนใหญ่มาจากการย้ายที่ตั้งอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษให้ไกลออกไปจากเมืองหลวง ซึ่งหากจีนต้องการบรรลุเป้าหมายคุณภาพอากาศทั่วประเทศภายในปี 2035 รัฐบาลจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบ
การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้จึงต้องมาจากอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย
เพราะรถยนต์เป็นอีกหนึ่งต้นตอของมลพิษทางอากาศที่ใหญ่ที่สุดในเขตเมืองใหญ่ของจีน
ในบทวิเคราะห์ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของนิตยสาร Forbes เมื่อปี 2018 มีการคาดการณ์ว่าจีนจะกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่มีระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด
เรื่องนี้อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมเลยสำหรับจีน เพราะภาครัฐได้กำหนดยุทธศาสตร์ถนนสีเขียวและสนับสนุนให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจังมานานแล้ว โดยเมื่อเร็วๆ นี้เราได้เห็นความเคลื่อนไหวที่มีนัยสำคัญคือบริษัท Tesla ของ อีลอน มัสก์ ได้ทำพิธีลงเสาเข็มเพื่อเดินหน้าสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ Tesla แห่งแรกในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จจะเป็นฐานผลิตรถ Model 3 ที่สำคัญของ Tesla
หากคุณยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนพอ ลองดูข้อมูลจาก Forbes ประกอบก่อน
Forbes ระบุว่าในปี 2017 จีนผลิตรถเก๋ง รถบัส และรถบรรทุกที่เป็นระบบไฟฟ้าจำนวน 680,000 คัน ซึ่งมากกว่าทั่วโลกผลิตรวมกันเสียอีก นอกจากนี้จีนยังมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วกว่าประเทศที่เหลือทั่วโลกด้วย
ขณะที่เมืองใหญ่อย่างเซินเจิ้นก็ประสบความสำเร็จในการยกเครื่องรถบัสโดยสารให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEVs) ทั้งหมด ซึ่งเป็นต้นแบบให้เมืองอื่นๆ ดำเนินรอยตาม ขณะที่ยานยนต์ลูกผสมอย่างรถไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEVs) ก็กำลังหายไปจากท้องถนนในจีนอย่างรวดเร็ว
ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าก็เป็นอีกตัวสะท้อนความนิยมที่มีต่อยานยนต์ทางเลือก โดยข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตยานยนต์จีนเผยว่า จีนมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทะลุ 800,000 คันในปี 2017 พุ่งขึ้นจากตัวเลขไม่ถึง 100,000 คันในปี 2014
แต่ปัญหาการใช้รถ BEVs ก็ยังมีอยู่ รัฐบาลจีนได้ส่งเสริมการพัฒนาแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนานขึ้น ทำให้รถวิ่งได้ไกลขึ้นต่อการชาร์จแบตครั้งเดียว โดยเป้าหมายคือการทำให้รถ BEVs วิ่งได้ไกลเกิน 160 กิโลเมตร (100 ไมล์) ต่อการชาร์จแบต 1 ครั้ง
และเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ จีนตั้งเป้าเพิ่มสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะให้ได้ 500,000 จุดภายในปี 2020 จากที่มีอยู่ 214,000 จุดในปี 2017
เฉพาะบริษัทการไฟฟ้าแห่งชาติของจีน (State Grid) ก็มีแผนจะเพิ่มจุดชาร์จแบตรถยนต์ไฟฟ้า 120,000 จุด จากจำนวน 10,000 จุดในปัจจุบัน โดยจะมีการติดตั้งเพิ่มตามเมืองใหญ่ต่างๆ เช่น เซินเจิ้น ซึ่งทดลองติดตั้งอยู่ริมถนนในบริเวณที่จอดรถ ทั้งหมดนี้ถือเป็นโมเดลสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า BEVs เพราะยิ่งมีจุดชาร์จแบตกระจายไปทั่วมากเท่าใดก็ยิ่งเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ขับขี่มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับผู้ที่กำลังชั่งใจว่าจะเลือกรถ BEVs หรือไม่ เพราะแทนที่พวกเขาจะขับรถไปเติมน้ำมันตามปั๊มแบบเดิม พวกเขาก็สามารถเสียบปลั๊กชาร์จแบตขณะจอดรถตามที่ต่างๆ ได้
ดังนั้นหากคุณเดินทางไปจีนในอีก 10 ปีข้างหน้า คุณอาจเห็นท้องฟ้าที่สดใสปลอดโปร่งขึ้นในเมืองใหญ่ๆ เพราะปัญหาแหล่งมลพิษจากรถเชื้อเพลิงฟอสซิลอาจค่อยๆ หมดไปจากถนนในจีน
ความหวังใหม่
ความหวังใหม่สำหรับกรุงปักกิ่งที่เผชิญปัญหาหมอกพิษมานานหลายปี วันนี้ประชาชนได้เห็นท้องฟ้าที่สดใสขึ้น พร้อมกับความหวังใหม่ที่จะสามารถสูดอากาศได้เต็มปอดอย่างสบายใจในสักวันหนึ่ง
เมื่อเดือนมกราคม ปี 2018 ปักกิ่งวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในอากาศเฉลี่ยทั้งเดือนได้ 34 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งได้มาตรฐานคุณภาพอากาศระดับชาติที่ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเป็นครั้งแรก
สิ่งที่กรุงปักกิ่งโฟกัสเป็นพิเศษคือการบังคับใช้มาตรการต่างๆ ในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างเข้มงวด มีทั้งการสั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เหลืออยู่ รวมถึงระงับโครงการก่อสร้างทั้งหมดในช่วงฤดูหนาว และยังออกกฎห้ามการเผาถ่านหินในเขตพื้นที่ต่างๆ รอบกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2017 นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งทีมเจ้าหน้าที่ขจัดควันพิษ หรือ Smog Squad เพื่อตระเวนห้ามชาวเมืองทำกิจกรรมปิ้งย่างบาร์บีคิวกลางแจ้งและเผาขยะด้วย
สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของกรุงปักกิ่งเปิดเผยว่า ตลอดเดือนมกราคม ปี 2018 คุณภาพอากาศอยู่ที่ระดับ ‘ดี’ และ ‘ดีเยี่ยม’ รวม 25 วันจากทั้งหมด 31 วัน และสามารถลดความหนาแน่นของอนุภาคฝุ่นละอองในอากาศถึง 70.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
นอกจากค่า PM2.5 แล้ว ค่าฝุ่นละออง PM10, ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนไดออกไซด์ของกรุงปักกิ่งยังลดลง 51.1%, 55.6% และ 35.4% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมปีที่แล้ว
นอกจากเดือนมกราคมที่เป็นหมุดหมายแห่งความสำเร็จแล้ว ปักกิ่งยังทำได้ตามเป้าคุณภาพอากาศในเดือนสิงหาคมและกันยายนในปีที่แล้วอีกด้วย
สำหรับภาพรวมในปี 2018 ของปักกิ่ง หลังสามารถลดปริมาณฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอนอันเป็นต้นตอของหมอกพิษได้ถึง 12% ในปี 2018 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลงานที่รัฐบาลค่อนข้างพอใจ แม้ตัวเลขเฉลี่ยตลอดทั้งปีจะอยู่ที่ระดับ 51 โมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานคุณภาพอากาศของจีนที่ระดับ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรก็ตาม
การบังคับใช้กฎหมายก็เป็นเรื่องสำคัญเพื่อไปสู่เป้าหมาย ทางการจีนเผยว่าเมื่อปีที่แล้วมีผู้ประกอบการที่ปล่อยมลพิษจำนวน 656 รายถูกสั่งให้ย้ายฐานที่ตั้ง ขณะที่บริษัทและบุคคลถูกปรับเงินรวมกว่า 230 ล้านหยวนฐานฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 22.5%
กรณีศึกษาของจีนถือเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประเทศที่กำลังคิดใช้มาตรการต่างๆ เพื่อกอบกู้วิกฤต ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการลงมือปฏิบัติตั้งแต่วันนี้ เพราะกว่าที่จีนจะเห็นผลลัพธ์ที่เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ นั้น พวกเขาเริ่มตระหนักและแก้ปัญหามลพิษด้วยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบตั้งแต่เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน
เพราะการจะแก้ปัญหาฝุ่นพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและดำเนินมาตรการอย่างเคร่งครัดเท่านั้น จึงจะช่วยขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จได้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- www.scmp.com/news/china/article/2181071/chinas-fight-clean-air-just-got-more-complicated-after-scientists-link
- www.forbes.com/sites/salvatorebabones/2018/03/06/china-could-be-the-worlds-first-all-electric-vehicle-ecosystem/#4fa5f267130f
- www.chinadialogue.net/article/show/single/en/10711-China-releases-2-2-action-plan-for-air-pollution
- www.forbes.com/sites/rrapier/2018/07/01/china-emits-more-carbon-dioxide-than-the-u-s-and-eu-combined/#4b2b0fa6628c