×

สอท. มอง ‘ม็อบดาวกระจาย’ ไม่กระทบเศรษฐกิจ เร่งรัฐเปิดเวทีแก้ปัญหาร่วมกัน

19.10.2020
  • LOADING...
สุพันธุ์ มงคลสุธี

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศโดยเฉพาะการชุมนุมในช่วงนี้ ยังไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างชัดเจน เพราะเมื่อวานนี้ (18 ตุลาคม) มีการชุมนุมในเขตค้าขายและร้านค้าไม่ได้ปิด ขณะที่ผู้ชุมนุมมีการจับจ่ายใช้สอย มองว่ายังไม่เห็นผลกระทบหากไม่มีการทำลายทรัพย์สินและการทำร้ายซึ่งกันและกัน

 

ทั้งนี้ การชุมนุมที่มีการกระจายในหลายจุด โดยวันนี้ยังอยู่ในความเรียบร้อย แต่ในระยะยาวกังวลว่าจะมีมือที่สามเข้ามาทำให้การเรียกร้องไม่เป็นไปอย่างเรียบร้อย อาจกระทบความเชื่อมั่นและการลงทุนได้

ดังนั้นจึงต้องติดตามให้ทุกฝ่ายร่วมมือและแก้ปัญหา รวมถึงจับตาท่าทีรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไรเมื่อหลายฝ่ายทุกภาคส่วนออกมาแสดงความพร้อมที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีความเห็นร่วมกันทั้งผู้ชุมนุมและรัฐบาล ทางรัฐบาลต้องรีบแก้ไขในเรื่องนี้

 

“เราเห็นด้วยกับแนวทางเรื่องการเปิดประชุมสภา โดยรัฐบาลต้องรีบเปิดเวทีให้กับผู้ที่เห็นต่าง หรือเห็นควรว่ามีนโยบายตรงไหน เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการชี้แจง และให้เข้ามาอยู่ในสภาได้ เพื่อให้เกิดการยอมรับมากขึ้น”

 

ทั้งนี้มองว่ารัฐบาลควรรีบเปิดสภาเพื่อหาแนวทางแก้ไข สนับสนุน การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้​ชัดเจน ว่าจะต้องแก้ไขในจุดใดเพื่อสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้น และต้องดูตามความเหมาะสม มองว่ารัฐบาลควรมีโซลูชันออกมาภายในเดือนนี้ เพราะหากยื้อเยื้อต่อไปอาจสร้างความกังวลในด้านอื่นๆ รัฐบาลควรรีบแก้ไขและเปิดเวทีให้พูดคุยได้มากขึ้นโดยเร็ว

 

อย่างไรก็ตาม มุมมองหลักคือไม่ต้องการให้สถานการณ์ลุกลาม เพราะเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว เช่น ส่วนของยานยนต์เห็นแรงฟื้นตัว เพราะบางตัวเลขยังมีการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ระดับ 85.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคมที่อยู่ 84.0 มองว่าเป็นทิศทางที่ดีขึ้นเพราะเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สาเหตุหลักมาจากอุปสงค์ในประเทศขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนสิงหาคม หลังรัฐคลายการล็อกดาวน์ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ แต่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 93.3 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 94.5

 

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,301 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมเดือนกันยายน พบว่า ปัจจัยที่สร้างความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ 

  • สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ 55.3%
  • ราคาน้ำมัน 40.4%
  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 36.8%

 

ขณะที่ปัจจัยซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ 

  • สภาวะเศรษฐกิจโลก 65.7% 
  • อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) 42.4% 

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ​ต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณผ่านโครงการลงทุนภาครัฐทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การออกมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่จะสิ้นสุดมาตรการเดือนนี้ และการสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตจากผู้ประกอบการในประเทศ

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X