×

ภูมิทัศน์การเมือง-ความมั่นคงโลก 2023: ปีแห่งความไร้เสถียรภาพต่อเนื่อง

30.12.2022
  • LOADING...

กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้วสำหรับ THE STANDARD ที่พอถึงช่วงปลายปีจะมีการร่วมพูดคุยถึงประเด็นร้อนด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเมือง ความมั่นคงโลกที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา รวมถึงประเด็นที่น่าจับตามองในปีถัดไป กับ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์พิเศษประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งปีนี้ก็เช่นเดียวกัน

 

โดย ศ.ดร.สุรชาติเริ่มต้นบทสนทนาในครั้งนี้ด้วยการฉายภาพให้เห็นว่า ปี 2023 จะเป็นอีกปีที่มีความท้าทายอย่างมาก เป็นปีที่ประชาคมโลกยังคงไร้เสถียรภาพต่อเนื่อง เนื่องจากยังมีโจทย์ใหญ่ๆ ที่ยังคงค้างคาอยู่ โดยเฉพาะ 3 โจทย์วิกฤตใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโจทย์วิกฤตโควิด โจทย์วิกฤตสงคราม และโจทย์วิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ ยังไม่นับรวมถึงโจทย์อื่นๆ อีกมากมายที่รออยู่ข้างหน้า

 

ศ.ดร.สุรชาติกล่าวว่า พจนานุกรม Collins ได้ยกให้คำว่า ‘Permacrisis’ เป็นคำศัพท์แห่งปี 2022 ถ้าดูจากภาษา เราจะเห็นชัดว่านี่คือการรวมกันของคำว่า Permanent + Crisis โดย ศ.ดร.สุรชาติมองว่า ศัพท์คำนี้จะฉายภาพสิ่งที่เราจะได้เห็นในปี 2023 ด้วย นั่นคือลักษณะของวิกฤตที่ค่อนข้างถาวร ยืดเยื้อ ฟังแล้วค่อนข้างน่าตกใจ องค์ประกอบใหญ่ๆ มี 2 ส่วน คือ ความไร้เสถียรภาพ (Instability) และความไม่มั่นคง (Insecurity) ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ ศ.ดร.สุรชาติเคยพูดบนเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2022 ว่า โลกในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2023 จะมีลักษณะที่เป็น ‘CDC’ คือมีความปั่นป่วน (Chaos) + ความแปรปรวน (Disruption) + ความซับซ้อน (Complexity) 

 

ภาพ: Manoej Paateel / Shutterstock

 

3 วิกฤตใหญ่ โจทย์เก่าที่ค้างคาในปี 2023

สิ่งที่เราจะเห็นในปี 2023 (1) โจทย์วิกฤตโควิด (COVID Crisis) ยังไม่จบ หากเรามองเห็นเงื่อนไขการแพร่ระบาดใหญ่ในจีน รวมถึงการตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายรับมือโควิดระดับชาติจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID) มาเป็นการปรับตัวและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเชื้อไวรัส เราอาจเห็นการแพร่ระบาดครั้งใหญ่เกิดขึ้น โดยหลายสังคมยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มมากขึ้น เพียงแต่ว่าไม่มีการจัดเก็บสถิติและรายงานสถานการณ์ประจำวันแล้ว เนื่องจากหลายรัฐบาล รวมถึงรัฐบาลไทยเองก็น่าจะต้องการส่งเสริมและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา 

 

โดยผู้คนจำนวนไม่น้อยคาดหวังว่าในปี 2023 เมื่อฤดูหนาวผ่านไป ฤดูใบไม้ผลิเข้ามา เป็นไปได้หรือไม่ที่การแพร่ระบาดใหญ่จะเริ่มเบาบางลง และหวังว่ากลางปี 2023 จะเป็นโลกยุคหลังโควิดจริงๆ 

 

ภาพ: Drop of Light / Shutterstock

 

(2) โจทย์วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน (Russian-Ukrainian War Crisis)

ในบริบทของสงคราม เมื่อฤดูหนาวผ่านไป สงครามจะเกิดการรบใหญ่ แปลว่า สิ่งที่เราเห็นวันนี้คือสงครามถูกเหนี่ยวรั้งด้วยเงื่อนไขของสภาพอากาศ อย่างที่ทุกคนทราบดีว่า ไม่ว่าจะเป็นนโปเลียนหรือฮิตเลอร์ก็ต่างเผชิญกับฤดูหนาวในช่วงการทำสงครามกับรัสเซีย โดย ศ.ดร.สุรชาติเรียกความหนาวเย็นนี้ว่า ‘นายพลฤดูหนาว’ (General Winter) ซึ่งเป็นนายพลที่ต่างพาทั้งนโปเลียนและฮิตเลอร์พ่ายแพ้ในสงครามกับรัสเซียมาแล้ว แต่ในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการสู้รบที่มีใครรุกเข้ามา หากแต่เป็นรัสเซียที่รุกเข้าไป สิ่งที่เราต้องจับตามองคือ การรุกกลับ (Counter Offensive) ของรัสเซีย หลังแตกทัพที่เคอร์ซอนและต้องถอยทัพข้ามแม่น้ำนีเปอร์ไปตั้งหลักอยู่อีกฝั่งหนึ่ง และเมื่อยูเครนได้เคอร์ซอนคืน สิ่งนี้ไปกระตุ้นบรรดาความรู้สึกของพี่น้องประชาชนและผู้นำในยูเครนให้มีความหวังว่าพวกเขาอาจจะได้ไครเมียคืนด้วยเช่นกัน 

 

เพราะฉะนั้นโต๊ะพนันสงครามใหญ่ปี 2023 อาจอยู่ที่ไครเมีย ยกเว้นรัสเซียอาจจะต้องเปิดการรุกทางเหนือ ตีออกมาจากเบลารุส เพื่อที่จะหน่วงกำลังของกองทัพยูเครนไม่ให้ลงมาเปิดปฏิบัติการในภาคใต้ได้มาก สำหรับใครที่คิดว่าสงครามจะมีแนวโน้มเบาบางลงในปี 2023 ศ.ดร.สุรชาติชี้ว่าอาจจะต้องทำใจเผื่อไว้

 

นอกจากนี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังพ่วงอยู่กับคำถามสำคัญที่ว่า ‘สงครามครั้งนี้จะมีโอกาสเกิดสันติภาพหรือไม่ โอกาสที่จะเกิดโต๊ะเจรจาสันติภาพมีมากน้อยแค่ไหน’ ศ.ดร.สุรชาติอธิบายว่า โจทย์โต๊ะสันติภาพนั้นเป็นโจทย์ความหวังของหลายฝ่าย เนื่องจากตอนนี้ที่บางส่วนมีความหวัง เนื่องจากรัสเซียเป็นฝ่ายถดถอย เป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ยอมรับเงื่อนไขการเจรจา ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสของประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครนที่จะเปิดพื้นที่การเจรจาอีกครั้ง แต่ทั้งนี้ความสำเร็จก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของการต่อรอง เนื่องจากการต่อรองวันนี้ เห็นได้ชัดเจนคือยูเครนขอดินแดนคืนทั้งหมด ซึ่งรวมถึงไครเมียด้วย ในมุมกลับกันรัสเซียเองก็ไม่มีทางปล่อยไครเมียคืนให้กับยูเครนอย่างแน่นอน ในอนาคตรัสเซียอาจจะยอมทิ้งดอนบาส หรือยอมเสียโดเนตสก์หรือลูฮันสก์บางส่วนได้ แต่ถ้ารัสเซียเสียไครเมียไป นั่นอาจจะถือเป็นการตบหน้าประธานาธิบดีปูตินครั้งใหญ่ 

 

เพราะฉะนั้นบรรดานักวิเคราะห์ต่างกังวลว่า ข้อเรียกร้องของทั้งสองฝ่ายไม่สามารถที่จะมาบรรจบกันได้ ไม่ใช่แค่เฉพาะยูเครน แต่รวมถึงบรรดารัฐพันธมิตรที่ให้การสนับสนุนยูเครนอยู่ ไม่เพียงเฉพาะสหรัฐอเมริกา แต่หมายรวมถึงรัฐอย่างโปแลนด์ ฟินแลนด์ เอสโตเนีย ลิทัวเนีย และลัตเวีย ที่ต่างมีประวัติศาสตร์บาดแผลกับรัสเซีย และมองว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นได้หากรัสเซียแพ้สงครามในครั้งนี้ ซึ่งในความเป็นมหาอำนาจใหญ่นั้น รัสเซียอาจไม่ได้เดินทางไปถึงจุดนั้น เหมือนกับที่ประธานาธิบดีปูตินพูดเสมอว่า “เรายังมีอาวุธที่รบได้อีกนาน” และในทางกลับกัน ปูตินเองก็ใช้กระแสสงครามหล่อเลี้ยงกระแสชาตินิยม หล่อเลี้ยงกระแสสนับสนุนตนเองในบ้าน ในภาวะเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าระบอบการปกครองของปูตินนั้นอ่อนแอลงทั้งหมด มาตรการคว่ำบาตรทั้งหลายอาจจะมีผล แต่ไม่มากอย่างที่ฝ่ายตะวันตกคิด ตัวเลขทางเศรษฐกิจของรัสเซียถดถอย แต่ไม่เยอะอย่างที่หลายฝ่ายกังวล เพราะรัสเซียยังคงมีรายได้จากการขายน้ำมันและพลังงานผ่านทางจีนและอินเดีย 

 

ภาพ: Trevor Bexon / Shutterstock

 

(3) โจทย์วิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Climate Crisis)

ศ.ดร.สุรชาติระบุว่า เดิมทีนักความมั่นคงไม่เคยทำเรื่องในประเด็นนี้มากเท่าใดนัก แต่ในระยะหลังผู้คนที่อยู่ในงานด้านความมั่นคงต่างต้องศึกษาเกี่ยวกับประเด็นด้านความมั่นคงใหม่ อย่างประเด็นด้านสภาพภูมิอากาศ ต้องรับรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติที่ไม่ใช่ปัจจัยด้านการทหาร (Non-Military Factors) เพิ่มมากขึ้น 

 

ในความแปรปรวนของอากาศนี้ หลายปีที่ผ่านมา ศ.ดร.สุรชาติเคยให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่าปี 2018 ถือเป็นปีของไฟป่า ปี 2023 ที่ผ่านมา 5 ปีแล้ว ไฟป่าก็ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ เป็นหนึ่งในภาพสะท้อนที่ชัดเจนที่สุดของวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้เรายังเห็นวิกฤตน้ำท่วม พายุโหมกระหน่ำ รวมถึงภาวะดินโคลนหรือหิมะถล่ม ยังไม่นับรวมการละลายของหิมะและธารน้ำแข็งทั่วโลก ก็เป็นภาพสะท้อนของวิกฤตด้านสภาพอากาศในเวทีโลกเช่นเดียวกัน ดังนั้น ปี 2023 คำถามสำคัญคือจะมีความผันผวนทางสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด

 

โดย 3 วิกฤตใหญ่ข้างต้นยังผูกโยงอยู่กับอีกหลายวิกฤตในประชาคมโลก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเชิงโครงสร้าง วิกฤตทับซ้อนต่างๆ รวมถึงวิกฤตทางการเมืองอีกมากมาย จึงทำให้ปี 2023 เป็นอีกปีที่จะมีสภาวะเหมือน ‘วิกฤตยกกำลัง’ ซึ่งแต่ละประเทศจะได้รับผลกระทบมากน้อยแตกต่างกันไป

 

ภาพ: vovidzha / Shutterstock

 

วิกฤตเชิงโครงสร้างกับเกมการเมืองโลก ปี 2023

ศ.ดร.สุรชาติให้สัมภาษณ์ว่า ปี 2023 โจทย์เชิงโครงสร้างที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ (1) การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ (Great Power Competition) ที่สะท้อนภาพของสงครามเย็นในศตวรรษที่ 21 โดยผลพวงที่ตามมาคือ การแข่งขันกันสะสมอาวุธของบรรดารัฐมหาอำนาจ ในบริบทเช่นนี้ เรายังจะเห็นการแข่งขันทางเศรษฐกิจและทำสงครามการค้าระหว่างกัน ตลอดจนการต่อสู้และแข่งขันกันทางเทคโนโลยี ดังนั้น คำถามสำคัญของนักรัฐศาสตร์ก็คือ โครงสร้างของโลกปี 2023 จะตึงมากน้อยแค่ไหน เพราะในปี 2022 เราต่างเห็นสภาวะที่ตึงเครียดในตัวแบบยูเครนตั้งแต่ช่วงต้นปี ก่อนที่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเราจะเห็นความตึงเครียดที่ไต้หวัน รวมถึงความตึงอีกส่วนหนึ่งที่เราอาจไม่คุ้น นั่นคือสงครามบริเวณชายแดนจีน-อินเดียก็เป็นโจทย์สำคัญ

 

ภาพ: Roman_studio / Shutterstock

 

อีกทั้ง (2) ปัญหาการปรับยุทธศาสตร์เพื่อการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ ก็เป็นประเด็นที่น่าจับตามองไม่น้อยว่า ปี 2023 การปรับยุทธศาสตร์เหล่านี้จะเคลื่อนที่ไปในทิศทางไหน ทุกวันนี้เราเห็นยุทธศาสตร์ ‘Indo-Pacific’ ในยุคอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เราเห็นยุทธศาสตร์ ‘AUKUS’ ในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ปี 2023 สหรัฐอเมริกาจะเคลื่อน 2 ยุทธศาสตร์นี้อย่างไร 

 

ในขณะเดียวกันเราก็จะเห็นความพยายามในการเพิ่มศักยภาพทางทหาร การพัฒนาระบบอาวุธ และการขยายบทบาทด้านความมั่นคงของจีน คู่ขนานไปกับสหรัฐฯ มาโดยตลอด โดยจีนได้ใช้ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่เป็นหัวหอกสำคัญอย่าง ‘ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (BRI) เพื่อผลักดันการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานแบบจีน และเพื่อขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคต่างๆ ของโลก

 

ขณะที่รัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีปูตินก็พยายามขยายอิทธิพลอย่างต่อเนื่อง ทั้งในจอร์เจีย แหลมไครเมีย ซีเรีย และยูเครน ยังไม่นับรวมอีกหลายประเทศในแถบแอฟริกา ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าในปี 2023 พื้นที่แถบมอลโดวา โดยเฉพาะทรานส์นิสเตรียที่มีผู้คน ภาษาและวัฒนธรรมเกี่ยวพันกับรัสเซีย รวมถึงรัฐอื่นๆ ที่มีพรมแดนติดกับรัสเซีย จะตกเป็นเป้าในโจทย์การขยายอิทธิพลของรัสเซีย ซึ่งล้วนแล้วแต่ผูกโยงอยู่กับเงื่อนไขเชิงโครงสร้างอย่างการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจ และความพยายามที่จะสร้างความชอบธรรมต่อบทบาทของตนในการที่จะเข้าไปแผ่ขยายอิทธิพลในพื้นที่นั้นๆ

 

ภาพ: Ivan Marc / Shutterstock

 

(3) ปัญหาสงครามและความขัดแย้ง

ศ.ดร.สุรชาติระบุว่า อย่างที่เราพูดกัน ปี 2023 สงครามยังอยู่กับเรา สันติภาพในยูเครนยังคงเป็นความฝันเสมอ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีอีกโจทย์สำคัญที่พ่วงอยู่ด้วยว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนในปี 2023 จะถูกยกระดับขึ้น (Escalation of War) หรือไม่ ถ้าหากสงครามถูกยกระดับขึ้นและขยายตัวออกนอกพื้นที่ของยูเครน จะนำไปสู่เงื่อนไขการทำสงครามระหว่างรัสเซียและ ‘องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ’ (NATO) หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทย์นี้เกี่ยวพันอยู่กับปัญหาของอาวุธนิวเคลียร์ ถ้าเกิดกองทัพรัสเซียถูกกองทัพยูเครนรุกกลับ และกองทัพรัสเซียพ่ายแพ้ในไครเมีย ประธานาธิบดีปูตินจะตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีเพื่อหยุดยั้งชัยชนะของยูเครนในไครเมียหรือไม่

 

ขณะที่โจทย์ในเอเชียในปี 2023 ยังคงอยู่ที่ไต้หวัน ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนจะดำเนินการต่อหรือไม่ อย่างไร ถ้าจีนตัดสินใจใช้กำลังในการบุกยึดไต้หวัน จะนำไปสู่สถานการณ์ของสงครามแค่ไหน อย่างไร ในพื้นที่ของเอเชียตอนบน ส่วนโจทย์ของสงครามในทะเลจีนใต้เป็นโจทย์ที่อยู่กับเรามานานจนหลายฝ่ายรู้สึกว่าเป็นโจทย์ที่คาราคาซังและอาจจะไม่ปะทุ ยกเว้นแต่ว่าถ้าจะปะทุก็อาจเกิดจากปัญหาการขยายอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้

 

ภาพ: Creative Lab / Shutterstock

 

(4) ปัญหาอาวุธนิวเคลียร์

อีกหนึ่งโจทย์ที่น่าจับตามองในปี 2023 คือ โจทย์อาวุธนิวเคลียร์ของบรรดารัฐมหาอำนาจใหญ่ โดยรัฐมหาอำนาจทุกฝ่ายพยายามอย่างยิ่งที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แปลว่าโจทย์อาวุธนิวเคลียร์ในยุคหลังสงครามเย็นที่เราเห็น วันนี้กลับมาเต็มตัวแล้ว คำถามต่อไปคือบทเรียนของการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ในยุคสงครามเย็นช่วงศตวรรษที่ 20 จะยังใช้ได้กับสถานการณ์สงครามเย็นที่มีหัวรบนิวเคลียร์ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่ รวมถึงเราจะมีบทเรียนอย่างไรต่อการควบคุมอาวุธและปลดอาวุธ (Arms Control and Disarmament) โดยเฉพาะในมิติของอาวุธนิวเคลียร์

 

เพราะฉะนั้นในปี 2023 เราอาจจะต้องเรียกว่าเป็นปีของ ‘หายนะนิวเคลียร์’ (Nuclear Disaster) ที่จะเกี่ยวพันอยู่กับประเด็นสำคัญอย่างการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีของรัสเซียในสงครามยูเครน การโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในซาปอริซเซียของยูเครน ไม่ว่าจะโจมตีอย่างตั้งใจหรือเป็นความผิดพลาดจากการยิงปืนใหญ่ก็ตาม แต่ถ้าเกิดผลกระทบต่อโรงไฟฟ้า เราอาจจะได้เห็นภาพเหตุการณ์เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล 

 

อีกส่วนหนึ่งเกี่ยวโยงอยู่กับปัญหาอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี จากปี 2022 ที่เราเห็นการทดลองยิงขีปนาวุธที่ยังไม่ได้ติดหัวรบนิวเคลียร์ เพื่อวัดระยะพิสัยของเกาหลีเหนืออย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาพที่ใหญ่ที่สุดคือ ภาพของคุณพ่ออย่าง คิมจองอึน ที่พาลูกสาววัยเพียง 10 ขวบออกมาเดินชมขีปนาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ เท่ากับเป็นการส่งสัญญาญาณว่า ผู้นำรุ่นใหม่ของเกาหลีเหนืออาจจะต้องมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นเครื่องมือของการต่อรอง หรือเป็นเครื่องมือของอำนาจในเวทีภูมิภาค คำถามสำคัญคือ อาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือจะนำไปสู่อะไรหรือไม่ในปี 2023 เพราะว่าอาวุธนี้ได้สร้างความกังวลให้กับเกาหลีใต้และญี่ปุ่นอย่างมาก ขณะที่การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านก็คงเป็นโจทย์ที่ยังไม่จบ 

 

ภาพ: Bermek / Shutterstock

 

วิกฤตทับซ้อน ความท้าทายที่รอยกกำลัง 

นอกจาก 3 วิกฤตใหญ่ที่เป็นโจทย์เก่าที่ค้างคา และบรรดาปัญหาในวิกฤตเชิงโครงสร้างทั้งหลาย ศ.ดร.สุรชาติยังได้อธิบายว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังพา ‘วิกฤตทับซ้อน’ มาด้วย นั่นคือ (1) วิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นวิกฤตเศรษฐกิจแบบยกกำลัง เพราะนอกจากวิกฤตเศรษฐกิจในยุคโควิดแล้ว เรายังต้องมาเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจในยุคของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดังนั้นวิกฤตเศรษฐกิจในระยะนี้จึงมีลักษณะที่ยกกำลังสอง ไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจในภาวะปกติ 

 

(2) วิกฤตค่าครองชีพ ในปี 2023 จะรุนแรงขึ้นและจะเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญ โดยจะเกี่ยวพันกับราคาอาหาร ราคาพลังงาน อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น และภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในมิติเศรษฐศาสตร์การเมือง รวมถึงในวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยปัญหาค่าครองชีพจะเป็นภาพสะท้อนชุดใหญ่ วันนี้สังคมไทยตอบชัด คำถามสำคัญของปี 2023 คือ ค่าไฟฟ้าจะขึ้นอีกเท่าไร ทางการบอกจะควบคุมค่าไฟฟ้าในภาคครัวเรือน แต่ในกรณีที่เป็นค่าไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมจะมีการขยับสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบกับต้นทุนในการผลิตสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

ภาพ: Riccardo Mayer / Shutterstock

 

(3) วิกฤตอาหาร ศ.ดร.สุรชาติพูดเสมอว่า ความโชคดีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือเราเป็นสังคมข้าวเจ้า ไม่ใช่สังคมข้าวสาลี แต่วันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าราคาอาหารหลายประเภทปรับตัวสูงขึ้น คาดการณ์ว่าราคาอาหารปี 2023 ก็จะปรับสูงขึ้นอีก 

 

นอกจากนี้ ความผันผวนของ (4) วิกฤตพลังงาน ก็จะยังคงอยู่กับเรา โดยเฉพาะพลังงานเชื้อเพลิง อยู่ที่ว่าราคาพลังงานนี้ในปี 2023 จะสูงกว่าหรือต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ถ้าหากวิกฤตและความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไป เรายังจะสามารถควบคุมราคาพลังงานให้อยู่ที่ 80-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลได้หรือไม่ หรือจะต้องปล่อยให้ทะลุ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลขึ้นไป 

 

ศ.ดร.สุรชาติกล่าวว่า ปี 2023 จะเป็นปีที่ตึงเครียดในเรื่องพลังงาน เพราะว่าวันนี้เราเห็นชัด รัสเซียถือไพ่ที่เหนือกว่าหนึ่งใบคือ พยายามใช้พลังงานเป็นเครื่องมือในการรับมือกับมาตรการคว่ำบาตรของโลกตะวันตก โจทย์พลังงานของรัสเซียจะยังเป็นโจทย์ใหญ่ อีกส่วนที่น่าสนใจคือ เราเห็นความมุ่งมั่นของสหภาพยุโรป เราเห็นบทบาทของผู้หญิงอย่าง อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป วันนี้เธอยืนแข็งแกร่งมาก เมื่อเปรียบเทียบกับ อังเกลา แมร์เคิล อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนีที่เคยเป็นเสาหลักของสหภาพยุโรป เพราะถ้าถอยกลับไปดูเยอรมนีมีความรู้สึกผิดกับสงครามที่เกิดขึ้น (Guilt of War) เธอเป็นภาพของตัวแทนผู้นำที่พยายามจะประนีประนอมกับรัสเซียมาโดยตลอด แต่พอมาถึงบทบาทของฟอน แดร์ ไลเอิน วันนี้เธอจำเป็นต้องชนกับรัสเซีย เพราะฉะนั้นในภาวะที่ต้องประจัญหน้านี้ คำถามคือด้วยความมุ่งมั่นของสหภาพยุโรป ยุโรปจะสร้างระบบของการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานให้มากขึ้นได้อย่างไร บทบาทแบบนี้จะเป็นบทเรียนสำหรับสังคมไทยในอนาคตด้วยเช่นกัน เพราะว่าเรามีปัญหาด้านพลังงานอยู่พอสมควร 

 

ทั้งหมดนี้นำไปสู่เรื่องที่ใหญ่ที่สุด นั่นคือ (5) วิกฤตความยากจน ของผู้คนในหลายสังคม โดยสหประชาชาติได้เผยข้อมูลว่า ทุกวันนี้คนไม่ได้จนเฉยๆ แต่คนมีภาวะของ ‘ความจนแสนสาหัส’ (Extreme Poverty) คนกลุ่มนี้ตกต่ำมากจากเส้นฐานความยากจน (Poverty Line) ที่นักเศรษฐศาสตร์กำหนดไว้ วิกฤตนี้เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยได้รับอิทธิพลมาจากวิกฤตโควิด สงครามรัสเซีย-ยูเครน และวิกฤตทับซ้อนอื่นๆ และแน่นอนว่าในยุโรปยังต้องเผชิญกับวิกฤตผู้อพยพจากสงครามยูเครนที่ยังมีผู้คนไหลทะลักออกนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง ปี 2023 จึงเป็นปีที่เราจะเผชิญหน้ากับเมฆหมอกของโรคระบาด สงคราม และปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ แล้วก็ยังพาเมฆหมอกอีกหลายลูกหลายก้อนเข้ามาอีกด้วย 

 

ภาพ: Alexander Nemenov / AFP

 

ปี 2023 กับวิกฤตการเมืองที่น่าจับตามอง

ศ.ดร.สุรชาติชี้ว่า สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิกฤตการเมืองในปี 2023 คือ (1) การประท้วงของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในรัสเซีย โดยปีกที่เป็นประชาธิปไตยหรือเสรีนิยมในรัสเซียจะขับเคลื่อนการต่อต้านระบอบอำนาจนิยมของประธานาธิบดีปูตินได้มากน้อยแค่ไหน ในทางกลับกันปี 2023 (2) ความผันผวนของการเมืองอเมริกัน จะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน หลังจากพรรครัฐบาลอย่างพรรคเดโมแครตสูญเสียอำนาจเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในศึกเลือกตั้งกลางเทอม เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา 

 

ส่วน (3) ปัญหาการเมืองยุโรป ทุกวันนี้ ฝ่ายที่เราเรียกว่า ‘ฝ่ายขวาจัด’ (Far-Right) พยายามที่จะถีบตัวหรือสร้างภาพลักษณ์ของตนเองขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่ของอิตาลีอย่าง จอร์เจีย เมโลนี เป็นภาพตัวอย่างของปีกขวาจัดที่น่าสนใจ ในขณะที่ (4) กระแสประท้วงมาตรการโควิดในจีน ปี 2023 จะเป็นไปในทิศทางไหน หลังจากประกาศผ่อนคลายมาตรการรับมือโควิด หรือระบอบการเมืองการปกครองของสีจิ้นผิงจะคุมสังคมจีนอย่างไร ศ.ดร.สุรชาติมองว่า การตัดสินใจที่จะยอมรับว่านโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID) เป็นความล้มเหลว รัฐบาลจีนจะเผชิญกับโจทย์อีกโจทย์หนึ่งคือ พอยกเลิกทันทีก็จะเกิดการทะลักเพิ่มขึ้นของคนป่วย เพราะไม่มีมาตรการควบคุมรองรับ สิ่งที่น่าสนใจคือ การแพร่ระบาดของโควิดในสังคมจีนจะนำไปสู่การประท้วงทางการเมือง หรือจะกลายเป็นโจทย์ทางการเมืองของสีจิ้นผิงหรือไม่ อย่างไร 

 

ภาพ: Chris McGrath / Getty Images

 

นอกจากนี้ยังมีโจทย์อีก 2-3 ชุดที่ ศ.ดร.สุรชาติติดตามสถานการณ์โดยตลอด นั่นคือ (5) การประท้วงเรื่องสิทธิสตรีในอิหร่าน ซึ่ง ศ.ดร.สุรชาติมองว่า เป็นการปฏิวัติอิสลามครั้งที่ 2 (Second Islamic Revolution) ในอิหร่าน เพราะการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านครั้งแรกเป็นการโค่นล้มระบอบกษัตริย์ของพระเจ้าชาห์ และนำระบอบการปกครองแบบที่เกี่ยวพันกับศาสนาเข้ามาในอิหร่าน (1978-1979) โดยภาพที่เราเห็นในวันนี้ต้องให้เครดิตกับบรรดาผู้หญิง แม้ว่าจุดเริ่มต้นจะเริ่มจากการเสียชีวิตของเธอ (มาห์ซา อามินี) ก็ตาม 

 

โดยการปฏิวัติอิสลามครั้งที่ 2 ในอิหร่านครั้งนี้ไม่เพียงแต่ตอกย้ำบทบาทการเรียกร้องสิทธิของผู้หญิง แต่เราเห็นการต่อสู้อย่างไม่เกรงกลัว และสร้างแรงกระเพื่อมไปยังอีกหลายสังคม เรายังได้เห็นบทบาทของผู้หญิงในรัสเซีย บทบาทของผู้หญิงในอีกหลายประเทศที่ออกมาต่อต้านสงคราม ปี 2023 จึงเป็นปีที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มสิทธิสตรีหรือเฟมินิสต์ (Feminist Movement) น่าสนใจอย่างมาก 

 

อีกเรื่องที่ต้องให้เครดิตเลย คือ (6) การเรียกร้องสิทธิในการศึกษาและสิทธิสตรีในอัฟกานิสถาน แม้รัฐบาลตาลีบันจะโหดร้ายอย่างไรก็ไม่สามารถกดแรงขับเคลื่อนของพวกเธอเอาไว้ได้ ทุกวันนี้ต้องยกย่องนักต่อสู้เหล่านี้ที่นำพาผู้คนหลายส่วนทั้งในอิหร่านและในอัฟกานิสถานลงถนน เพื่อขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมและการเมือง

 

ในอีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ (7) การประท้วงรัฐบาลทหารในเมียนมา จะเข้มข้นขึ้น ศ.ดร.สุรชาติเชื่อว่ารัฐบาลตะวันตกอาจจะผลักดันการรับรองรัฐบาลแห่งชาติของฝ่ายประชาธิปไตย (NUG) เพิ่มมากขึ้น พูดง่ายๆ คือรัฐบาลตะวันตกจะเริ่มทิ้งรัฐบาลทหารจริงๆ ในปี 2023 ถ้าหากมีการจัดการเลือกตั้งจริงก็อาจจะเป็นการเลือกตั้งที่ทั้งไม่เสรีและไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม

 

ภาพ: Chaiwat Subprasom / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

 

ความหวังต่อบทบาทไทยในเวทีโลก หลังการเลือกตั้งปี 2023

ศ.ดร.สุรชาติระบุว่า การเลือกตั้งปี 2023 ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนวันที่ 7 พฤษภาคมหรือไม่ สิ่งที่ตอบชัดคือเมื่อการเลือกตั้งถูกกำหนดขึ้นแล้ว ไม่ว่าอย่างไรการเลือกตั้งก็จะต้องเกิด เพราะการประชุมสภาวันสุดท้ายคือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เหลืออย่างเดียวก็คือการออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาและเตรียมประกาศเลือกตั้ง คำถามในทางเทคนิคนี้คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมหรือยัง กฎหมายลูกได้ออกมาครบเรียบร้อยเพื่อเตรียมที่จะเลือกตั้งแล้วหรือเปล่า หรือว่ามีการเล่นเกม คือ กกต. จะประกาศว่าเขายังไม่พร้อม ต้องรอให้กฎหมายลูกเรียบร้อยเสียก่อน ถ้ากฎหมายลูกยังออกไม่ได้ ถ้าหากสภาจบไปแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น 

 

ในสภาวะเช่นนี้มีคนส่วนหนึ่งคาดการณ์ว่า การเลือกตั้งอาจจะถูกลากโดยรัฐบาลปัจจุบัน คือใช้เกมในสภาลากการเลือกตั้ง แต่ ศ.ดร.สุรชาติมองว่าลากอย่างไรก็ไปได้อีกไม่ไกล แล้วยิ่งลากยิ่งจะเป็นผลเสียต่อตัวผู้นำ ‘ลากแล้วอย่างไรก็ต้องเลือก’ เว้นเสียแต่ว่าพวกเขาจะมีคำตอบว่า ‘ลากแล้วไม่เลือก’ อย่างที่ผมใช้สำนวนล้อคือ ‘พระราชกฤษฎีกายุบสภาออกจากรัฐสภาตรงถนนเกียกกายแล้วก็แว้บเข้า ม.พัน.4 แล้วพระราชกฤษฎีกายุบสภานั้นก็ไม่ได้ออกจาก ม.พัน.4 อีกเลย’ โดย ศ.ดร.สุรชาติเชื่อว่า การทำรัฐประหารในการเมืองไทยปี 2023 ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้นำทหารหรือสายขวาจัดบางส่วนที่กลัวการสูญเสียอำนาจอาจจะรู้สึกว่ารัฐประหารยังเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับทั้งประเทศ เกิดอะไรกับสังคมไทยหลังจากนั้น โจทย์ชุดนี้ใหญ่กว่า ศ.ดร.สุรชาติพูดเสมอว่า ตัวแบบบทเรียนที่ใหญ่ที่สุดคือสังคมเมียนมาในปัจจุบัน ผลของการต่อต้านรัฐประหารนำไปสู่การประท้วงขนาดใหญ่ที่วันนี้เราอาจเรียกได้ว่าเป็นสงครามกลางเมืองในเมียนมา 

 

ถ้าพูดในบริบทของวันนี้ ตกลงพรรคการเมืองใดจะเป็นปีกที่ชนะการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาล ถ้าสมมติปีกรัฐบาลปัจจุบันเป็นผู้ได้จัดตั้งรัฐบาล คำถามต่อไปคือนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจะยังได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัยหรือไม่ หรือถ้าปีกพรรคร่วมรัฐบาลชนะ ใครคือคนที่จะขึ้นมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีต่างประเทศ หรือถ้าสายพรรคฝ่ายค้านชนะ ใครคือรัฐมนตรีต่างประเทศจากสายของพวกเขา

 

ถ้ามองเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ หลังการเลือกตั้ง 2023 ศ.ดร.สุรชาติมองว่าน่าตื่นเต้นและท้าทาย เพราะไม่รู้ว่าใครจะขึ้นมา แต่โจทย์ที่เราเปิดไว้เหล่านี้จะมากองอยู่หน้าประตูบ้านของประเทศไทย และเราต้องการรัฐมนตรีต่างประเทศที่เข้มแข็ง ถ้าสมมตินายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันได้ดำรงตำแหน่งต่อไป ศ.ดร.สุรชาติขอเสนอคำขวัญ ‘เลือกลุงตู่ ได้ปู่ดอน แถมป้าพรและพี่ยุ่ง’ เพราะถ้าคนเหล่านี้กลับมา การต่างประเทศไทยก็จะอยู่ในทิศทางเดิมและไม่ขยับออกไปจากทิศทางที่เราเห็น ตั้งแต่หลังปี 2014 และหลังสงครามยูเครน เรามีทิศทางที่โปรจีนหรือโปรรัสเซียเพิ่มมากขึ้น

 

 

โจทย์การต่างประเทศไทย ปี 2023 ถ้าขมวดปมทั้งหมดมีเพียงโจทย์เดียวคือ การฟื้นฟูงานด้านการต่างประเทศของไทย เพราะสถานะของประเทศตกต่ำตั้งแต่การก่อรัฐประหารปี 2014 ต่อเนื่องทั้งจากหลังการเกิดรัฐประหารในเมียนมา (2021) และหลังการเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน (2022) การโหวตที่ไม่มีทิศทาง การที่ประเทศไทยทำตัวเหมือนเป็นมนุษย์ล่องหน (Invisible Man) ในการต่างประเทศของโลก ยิ่งทำให้ประเทศไทยไม่มีเครดิต แต่เดิมที่เราต้องเป็นมนุษย์ล่องหน เป็นเพราะเรามีภาระจากการก่อรัฐประหาร แต่ถ้าการเมืองเปลี่ยนด้วยการเลือกตั้งจริงๆ นโยบายมนุษย์ล่องหนนี้อาจจะต้องกลับไปคิดใหม่ หรือในมุมกลับกันใครที่ยังอยู่ในวาทกรรมเดิมอย่าง ‘สนลู่ตามลม’ ที่ ศ.ดร.สุรชาติมองว่าเป็นวาทกรรมฟรุ้งฟริ้งและไม่มีสาระ ประเทศไทยในปัจจุบันไม่ได้อยู่ในสถานะที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะเงื่อนไขของสถานการณ์และเงื่อนไขของตัวผู้นำที่ไม่มีทักษะและความสามารถ ตลอด 8 ปีของนโยบายการต่างประเทศไทยไม่ทำให้ประเทศไทยสามารถใช้นโยบายสนลู่ตามลมได้อีกแล้ว ศ.ดร.สุรชาติเน้นย้ำว่า สนที่กรุงเทพฯ หักไปแล้ว และขออย่าเอาสนรัสเซียหรือต้นอ้อที่ปักกิ่งมาปลูกแทน เพราะนั่นจะเป็นปัญหา

 

ศ.ดร.สุรชาติชี้ว่า การประชุม APEC ครั้งที่ผ่านมาที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เป็นภาพสะท้อนที่ชวนให้ต้องคิดว่า ประเทศไทยต้องฟื้นฟูบทบาทตนเองในเวทีโลกให้ได้ เราเห็นชัดว่าการประชุม APEC ที่กรุงเทพฯ และการประชุม G20 ที่บาหลี สะท้อนสถานะของประเทศไทยในเวทีการเมืองโลกพอสมควร โจทย์ที่ APEC สะท้อนออกมา ‘โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’ (BCG) ก็ไม่ได้เป็นสาระหลัก โจทย์แบบนี้ไม่มีประเทศไหนคัดค้าน ถ้าใครมองว่าวาระหลักที่ไทยผลักดันใน APEC 2022 คือ BCG แล้วไม่มีประเทศไหนคัดค้าน แปลว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จทางการทูตแล้วนั้น ศ.ดร.สุรชาติกล่าวว่าต้องคิดใหม่ เวลาเราเสนอให้คนทั่วโลกเห็นชอบกับการมีนโยบายสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมมักไม่มีใครค้านอยู่แล้ว สิ่งที่เห็นชัดอีกประการหนึ่งคือ ประเทศไทยไม่กล้าแตะประเด็นที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสงครามในยูเครน วิกฤตในช่องแคบไต้หวัน รวมถึงปัญหาในทะเลจีนใต้ การประชุม APEC ในมิติความมั่นคงระหว่างประเทศแทบจะเป็นการประชุมที่ไม่มีสาระ

 

เกณฑ์หนึ่งที่สำคัญของการประชุมระหว่างประเทศ เมื่อเกิดการประชุมที่มีหลายประเทศเข้ามาร่วม จำนวนเวทีทวิภาคีระหว่างไทยกับผู้เข้าร่วมประชุมจะเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญ เพราะเป็นโอกาสที่เราจะเจอกับประเทศเหล่านั้น แต่คำถามคือเวทีทวิภาคีที่สร้างประโยชน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงให้แก่ประเทศไทยในการประชุม APEC ครั้งนี้ ศ.ดร.สุรชาติระบุว่ายังมองไม่เห็น

 

ศ.ดร.สุรชาติยังกล่าวอีกว่า เรามัวฟรุ้งฟริ้งอยู่กับการทำอาหารเพื่อโชว์และเชื่อว่าอาหารเป็น Soft Power สิ่งนี้เป็นความเข้าใจที่ถูกๆ ผิดๆ กล่าวคือ ถูกบางส่วนและไม่ถูกอีกหลายส่วน เพราะโดยตัวของอาหารไม่ใช่อะไรที่เราจะสามารถสร้าง Soft Power ได้ด้วยตัวมันเอง โดย Soft Power จะสร้างได้บนเงื่อนไขพื้นฐาน 2 ประการคือ (1) รัฐต้องมีเสน่ห์ (2) รัฐต้องสร้างแรงจูงใจให้รัฐอื่นสนใจเราในเวทีระหว่างประเทศ โดย ศ.ดร.สุรชาติเน้นย้ำว่า นางสาวสยามในศตวรรษที่ 21 อาจจะสวยแต่ไม่มีเสน่ห์ และนางสาวสยามไม่มีแรงจูงใจที่จะชวนให้คนอื่นมองมาที่เราเหมือนนางสาวจาการ์ตาและนางสาวฮานอยในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นโจทย์ของการต่างประเทศปี 2023 ภายในบริบทของการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งใหญ่ เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่อยากชวนพวกเราที่อยู่ในภาคส่วนต่างๆ หันมาสนใจประเด็นนี้กันมากขึ้น

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร / THE STANDARD 

 

ศ.ดร.สุรชาติได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ในภาวะที่เป็น Permacrisis เช่นนี้ การที่ประเทศไทยคิดว่าการงดออกเสียงเป็นการแสดงจุดยืนว่าไทยเป็นกลาง ศ.ดร.สุรชาติมองว่าไม่ใช่ วาทกรรมอย่างนั้นไม่มีประโยชน์ วันนี้สิ่งที่ต้องทำคือต้องพาประเทศไทยกลับสู่กระแสโลก ที่ผ่านมาประเทศไทยพยายามพาตัวเองออกจากกระแสโลกบนเงื่อนไขของการก่อรัฐประหาร 2 ครั้ง คือรัฐประหารปี 2006 และ 2014 ถ้ารัฐประหารไม่ใช่อุปสรรคในอนาคต กองทัพสามารถที่จะลดบทบาทลงได้ แล้วเราก็สามารถพาประเทศไทยกลับเข้าสู่เวทีโลกได้ การต่างประเทศต้องมองว่าการงดออกเสียงไม่ใช่ความเป็นกลาง แต่ไทยจะต้องโหวตในกระแสโลก เพื่อให้ไทยเดินไปกับกระแสโลก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่เราทำทั้งหมดนั้น เป็นเพราะเราเชื่อว่าเราอยู่ในกระแสจีน ดังนั้นอีกหนึ่งเหตุผลที่เราจำเป็นต้องกลับเข้าสู่กระแสโลกคือ ไทยต้องไม่อยู่ในกระแสของรัฐมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนมีสภาวะเป็น ‘รัฐบรรณาการในโลกสมัยใหม่’ วันนี้สยามในศตวรรษที่ 21 ต้องไม่ทำตัวเป็นรัฐบรรณาการ และผู้นำไทยต้องรู้ว่าสยามไม่ใช่เขตปกครองพิเศษของรัฐมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คนยุคผมสู้ให้ทหารอเมริกันถอนฐานทัพ ไม่ได้สู้เพื่อให้สหรัฐฯ หมดอิทธิพลไปแล้วให้ฝ่ายขวารุ่นใหม่นำอิทธิพลจีน (+ รัสเซีย) เข้ามาครอบประเทศไทย วันนี้สิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักคือ อย่าพาประเทศไทยไปสู่การเป็นรัฐบรรณาการสมัยใหม่ 

 

ปี 2023 จึงเป็นอีกปีที่มีโจทย์ใหญ่ๆ มากมาย เป็นโจทย์หลากหลายมิติ ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นนักเรียนรัฐศาสตร์ หรือไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่ศึกษางานด้านความมั่นคง ประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนมีโจทย์ให้พวกเราต้องคิดต่อ ดังนั้นโจทย์ปี 2023 ศ.ดร.สุรชาติมองว่า คำศัพท์แห่งปี 2022 ของพจนานุกรม Collins อย่างคำว่า Permacrisis จึงอาจสะท้อนภาพรวมของปี 2023 ได้เป็นอย่างดี เพราะมีหลายโจทย์ที่ยังค้างคา ยืดเยื้อต่อเนื่อง และยังมีโจทย์ใหม่ๆ อีกหลายโจทย์ที่รออยู่ข้างหน้า (2023 is the year of permacrisis)

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X